รีเซต

แพทย์เปิดคำแนะนำภาวะ "หัวใจล้มเหลว" สาเหตุการเสียชีวิต "บีม ปภังกร"

แพทย์เปิดคำแนะนำภาวะ "หัวใจล้มเหลว" สาเหตุการเสียชีวิต "บีม ปภังกร"
TNN ช่อง16
24 มีนาคม 2565 ( 10:28 )
576
แพทย์เปิดคำแนะนำภาวะ "หัวใจล้มเหลว" สาเหตุการเสียชีวิต "บีม ปภังกร"

จากกรณีการเสียชีวิตของนักแสดงหนุ่ม "บีม ปภังกร" เมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา มีรายงานข่าวเปิดเผยว่า เบื้องต้น ณ ที่เกิดเหตุทีมแพทย์ที่ไปให้การช่วยเหลือระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่าเกิดจากหัวใจล้มเหลว อย่างไรก็ตาม ผลชันสูตรศพ ต้องใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์จึงจะทราบ

ล่าสุด วันนี้ (24 มี.ค.65) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้ข้อมูลคำแนะนำ การดูแลสุขภาพหัวใจของตนเองและคนข้างๆ โดยเฉพาะการดูแลหัวใจให้แข็งแรง เพราะหัวใจเป็นอวัยวะในทรวงอก อยู่ระหว่างปอดทั้ง 2 ข้าง ทำหน้าที่คอยสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย หากการทำงานของหัวใจผิดปกติ จะส่งผลให้เกิดปัญหาต่ออวัยวะทั้งหมดของร่างกายได้

สำหรับ "ภาวะหัวใจล้มเหลว" หรือที่เรียกว่า "Heart Failure" คือ ภาวะที่หัวใจอ่อนแรงไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้อย่างปกติ เนื่องจากหัวใจมีการบีบตัวหรือคลายตัวที่ผิดปกติ บางครั้งหัวใจมีขนาดโตหรือหนากว่าปกติ 

สาเหตุที่ทำให้ภาวะหัวใจล้มเหลว เกิดได้จากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคลิ้นหัวใจรั่ว หรือลิ้นหัวใจตีบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการหรือบกพร่อง โรคกล้ามนื้อหัวใจอักเสบและการติดเชื้อของกล้ามเนื้อหัวใจ หรือลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่นๆ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง จากสารพิษต่างๆ เช่น การดื่มสุรา หรือยาเสพติด พันธุกรรม โรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน โรคต่อมไร้ท่อ เป็นต้น 

ทั้งนี้ สำหรับสาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจล้มเหลวกำเริบมากยิ่งขึ้น เกิดได้จากการรับประทานอาหารรสเค็ม หรืออาหารที่มีโซเดียมสูง การดื่มน้ำมากเกินไป (มากกว่าที่ปัสสาวะออกจากร่างกาย) การรับประทานยาที่ไม่สม่ำเสมอ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด การรับประทานยากลุ่ม NSAIDS และภาวะอื่นๆ เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ การติดเชื้อในร่างกาย ภาวะซีดหรือเลือดจาง


ด้าน นพ.เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวมักจะมีอาการเหนื่อยง่าย หรือหอบ นอนราบไม่ได้ ต้องหนุนหมอนเพิ่มหรือนั่งหลับ สะดุ้งตื่นมาตอนกลางคืน เพราะอึดอัดหายใจลำบาก 

บวมที่ข้อเท้าและหน้าแข้ง น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่า 2 กิโลกรัม ใน 2 วัน อ่อนเพลีย ไม่มีแรง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร และท้องอืด 

ดังนั้น ผู้ป่วยควรดูแลและควบคุมปัจจัยเสี่ยงเพื่อป้องกันไม่ให้ภาวะหัวใจล้มเหลวกำเริบมากขึ้น ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง ดังนี้ 

- ชั่งน้ำหนักทุกวัน ก่อนทานอาหารเช้าทุกวัน หรือภายหลังเข้าห้องน้ำขับถ่ายแล้วในช่วงเช้า และจดบันทึกน้ำหนักเพื่อช่วยประเมินตนเอง

- ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม ตามแผนการรักษาของแพทย์

- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม จำกัดปริมาณโซเดียมที่รับประทานต่อวัน

- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างพอดี อาจเริ่มจากการออกกำลังกายเบาๆ เช่น เดินทางราบ หากหอบเหนื่อยควรหยุดพักทันที 

- งดสูบบุหรี่และแอลกอฮอล์ทุกประเภท เพราะสารพิษในบุหรี่จะส่งผลให้เส้นเลือดหัวใจตีบ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้การบีบตัวของหัวใจลดลง

- รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ตามคำแนะนำของแพทย์ มาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง

- ควรได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปีในกรณีไม่มีข้อห้าม

อย่างไรก็ตาม นพ.เอนก กล่าวด้วยว่า ที่สำคัญผู้ป่วยควรสังเกตอาการตนเอง หากพบว่ามีอาการผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีป้องกันความรุนแรงของโรค และนำไปสู่แนวทางการรักษาที่ถูกวิธี เพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย.


ข้อมูลจาก กรมการแพทย์

ภาพจาก อินสตาแกรม บีม ปภังกร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง