รีเซต

เปิดไอเดีย 3 นวัตเกิร์ล พลิกปัญหาให้เป็นนวัตกรรม

เปิดไอเดีย 3 นวัตเกิร์ล พลิกปัญหาให้เป็นนวัตกรรม
มติชน
15 มิถุนายน 2563 ( 11:12 )
103
เปิดไอเดีย 3 นวัตเกิร์ล พลิกปัญหาให้เป็นนวัตกรรม

เปิดไอเดีย 3 นวัตเกิร์ล พลิกปัญหาให้เป็นนวัตกรรม

นวัตเกิร์ล – นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่บนโลกใบนี้ ไม่ได้มีเพียงสุภาพบุรษเท่านั้นที่คิดค้น แต่ยังเกิดจากสุภาพสตรีทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

 

เพื่อให้สังคมได้รู้จักพวกเธอและผลงานว่าเจ๋งแค่ไหน สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือเอ็นไอเอ จึงจัดเสวนา “สตรียุคใหม่กับบทบาทผู้นำด้านสตาร์ตอัพและนวัตกรรม” ณ สำนักงานเอ็นไอเอ พญาไท กรุงเทพฯ

 

เริ่มที่ ผู้หญิงนักคิด “ภรณี วัฒนโชติ” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัท “ฟินแก๊ส” จำกัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มแก๊สดิลิเวอรีรายแรกในไทย เล่าว่า ฟินแก๊ส (FINGAS) เกิดขึ้นจากเสียงบ่นของลูกค้า และผู้ประกอบการร้านอาหาร จากการที่ร้านแก๊สกว่า 3 หมื่นร้านทั่วประเทศ ที่บริหารจัดการไม่เป็นระบบ ไม่มีข้อมูลสต๊อกสินค้า ทำให้เวลามีออเดอร์มากๆ ไม่มีของจัดส่ง เมื่อจัดส่งก็ควบคุมเวลาไม่ได้ ดิฉันจึงคิดนวัตกรรมแก้ปัญหาขึ้นมา

 

เธอพัฒนาเว็บไซต์ “www.fingas.com” และแอพพลิเคชั่น “FINGAS” สามารถสั่งแก๊สออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟน ที่ลูกค้าจะได้เห็นภาพ ทราบรายละเอียด รู้ราคาแก๊ส มีให้เลือกเปรียบเทียบทุกยี่ห้อ เมื่อสั่งแล้วระบบจะค้นหาร้านแก๊สในเครือข่ายที่ใกล้ มีสินค้าที่ต้องการ และพร้อมจัดส่งทันทีตามออเดอร์ นอกจากนี้ ยังเพิ่มความแตกต่างด้วยการทำประกันอัคคีภัยจากถังแก๊สตลอดอายุการใช้งานของเมืองไทยประกันภัยแถมให้ลูกค้าอีกด้วย ล่าสุดเตรียมยกระดับการทำสินเชื่อให้ร้านค้าสตรีทฟู้ด ให้มีโอกาสเข้าถึงเงินกู้ในระบบอีกด้วย

 

ส่วนคุณแม่นักรับฟัง “อัมภาพัตร ฉมารัตน์” ผู้ร่วมก่อตั้งแอพพลิเคชั่น “คิดส์อัพ” (Kids up) ตัวช่วยผู้ปกครองที่ต้องเดินทางไปรับบุตรหลานที่โรงเรียนเอง เล่าว่า ดิฉันเป็นแม่คนหนึ่งที่ต้องไปรับส่งลูกที่โรงเรียน ทุกครั้งจะต้องเจอปัญหารถติดหลายชั่วโมงต่อวัน เป็นความสูญเสียทางโอกาสของผู้ปกครอง เด็ก ครู รปภ. ตำรวจจราจร ตลอดจนสิ่งแวดล้อม

เธอได้รับฟังปัญหาและความต้องการจากบรรดาผู้ปกครองด้วยกันมาเป็นแรงบันดาลใจพัฒนาแอพพ์ Kids up เพื่ออำนวยความสะดวก โดยเวลาจะเดินทางไปรับบุตรหลานที่โรงเรียนเพียงเข้าแอพพ์แล้วกด Calls my Kid ระบบจะคำนวณตำแหน่งปัจจุบันของผู้ปกครองบนจีพีเอส เทียบกับสภาพการจราจรไปยังโรงเรียน ขณะเดียวกันก็จะแจ้งไปยังคอมพิวเตอร์และจอโทรทัศน์ที่โรงเรียน เพื่อบอกครูและเด็กว่าผู้ปกครองคนนี้เริ่มเดินทางแล้ว จะใช้เวลาเท่าไหร่ เพื่อให้ครูเตรียมตัวส่งเด็ก กระทั่งเมื่อผู้ปกครองเข้ามาในบริเวณโรงเรียน ระบบก็จะแจ้งยืนยันอีกครั้ง ทั้งหมดนี้จะทำให้รับส่งในเวลาอันรวดเร็ว

“ที่ผ่านมาได้นำร่องใน 2 โรงเรียนไทยและที่สิงคโปร์ สามารถลดปัญหารถติดและภาระของผู้เกี่ยวข้องไปได้มาก” อัมภาพัตรเล่าด้วยรอยยิ้ม

และผู้หญิงนักประสานงาน ปารีณา ประยุกต์วงศ์ เลขาธิการสมาคมเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน ผู้ออกแบบนวัตกรรมกระบวนการแปลงเศษอาหารเป็นฟาร์มผักกลางเมือง เล่าว่า ดิฉันอาศัยอยู่แถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพฯ พบว่าบริเวณดังกล่าวมีร้านสตรีทฟู้ดเต็มไปหมดถึง 120 ร้าน ด้วยความรักพื้นที่บ้านเกิด ก็มาคิดถึงการจัดการเศษอาหารเขาทำกันอย่างไร หากจะทิ้งขยะให้ กทม.นำไปทิ้งลงบ่อขยะต่อ คงเกิดมลพิษทางอากาศต่อคนกรุงเทพฯ ที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ จึงเริ่มประสานงานและพูดคุยกับคนพื้นที่และผู้ประกอบการย่านนั้น ในการจัดการเศษอาหาร เกิดเป็นความร่วมมือโครงการฟาร์มผักกลางเมือง

โครงการได้นำเศษอาหารของร้านต่างๆ และในห้างเซ็นเตอร์วัน รวมประมาณ 300-400 กิโลกรัมต่อวัน มาเข้าเครื่องผลิตปุ๋ย ปรากฏว่าสามารถทำปุ๋ยได้สำเร็จ แต่ไม่รู้จะนำไปใช้ประโยชน์อะไร จากนั้นได้หารือถึงทางออกจนมาจบที่ “การปลูกผัก” เพื่อให้คนในพื้นที่มีผักที่สะอาดบริโภค จึงขอใช้พื้นที่ดาดฟ้าห้างเซ็นเตอร์วันทดลองปลูกผัก ซึ่งปัจจุบันสามารถทำเงินสูงสุดถึง 6 หมื่นบาทต่อเดือน ทั้งนี้ เธอยังชวนชาวพื้นที่และเจ้าของอาหารย่านพญาไทและพหลโยธินมาทำสวนผักกลางเมืองได้ โดยพร้อมจะสนับสนุนปุ๋ย แนะนำโมเดลธุรกิจ และขายแฟรนไชส์

 

ผู้หญิงสร้างนวัตกรรมเปลี่ยนโลกได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง