รีเซต

เปิดบ้านหลังใหม่ RBSO ฝึกทักษะทางดนตรี

เปิดบ้านหลังใหม่ RBSO ฝึกทักษะทางดนตรี
TNN ช่อง16
19 ตุลาคม 2564 ( 16:53 )
50

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม. ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้า เปิดเผยว่า ได้ทำการปรับปรุงตึกเอยูเอของสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาในพระบรมราชูปถัมภ์  หรือ AUAA บนถนนราชดำริใหม่ เพื่อฉลองครบรอบ 100 ปี  โดยจะนำตึกดังกล่าวใช้เป็นสถานที่ฝึกซ้อมของวงรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนี ออร์เคสตร้า (Royal Bangkok Symphony Orchestra : RBSO) ตลอดจนการจัดกิจ กรรม และการแสดงคอนเสิร์ตต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ มูลนิธิรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้า ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา 


 

“พื้นที่ที่กว้างขวาง และมีความทันสมัย เหมาะอย่างยิ่งสำหรับนักดนตรีที่จะมารวมตัวกันฝึกซ้อม และทำกิจกรรม เปรียบเสมือนบ้านแห่งใหม่ของ RBSO ซึ่งเชื่อว่าจะมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างทักษะและพัฒนาศักยภาพของวง ก้าวสู่ความเป็นเลิศทางดนตรีระดับเวิลด์คลาส และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ตามเป้าหมายที่วางไว้” 


วงรอยัลแบงคอกซิมโฟนีออเคสตรา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2525 ในฐานะ “ชมรมวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ” และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชอิสริยยศในขณะนั้น ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ต่อมาในปี พ.ศ.2528 ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิชื่อ “มูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” และได้รับพระราช ทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อว่า รอยัลแบงคอกซิมโฟนีออ์เคสตร้า เมื่อปี 2559 จวบจนปัจจุบัน


 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ในฐานะองค์อุปถัมภ์ RBSO พระองค์ตั้งพระทัยมุ่งมันที่จะพัฒนาวง RBSO ให้เป็นวงออร์เคสตร้าชั้นนำในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค มีความสามารถเทียบเท่าวงออร์เคสตร้าระดับนำในประเทศยุโรป พระองค์ทรงรับเป็นองค์ประธานคณะกรรมการด้านดนตรี RBSO ทรงวางแผนงานการจัดการแสดงคอนเสิร์ตประจำปี โปรแกรมการแสดง การคัดเลือกนักดนตรีเข้าเป็นสมาชิก RBSO 


นอกจากนี้ทรงมีส่วนสำคัญในการคัดเลือกผู้อำนวยเพลงรับเชิญ ศิลปิน ที่มาแสดงร่วมกับ RBSO โดยมุ่งเน้นให้มีการถ่ายทอดประสบการณ์ให้สมาชิก RBSO นับแต่วันก่อตั้งวง RBSO ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการมีส่วนร่วมกับชุมชน การตอบสนองความต้องการของชุมชน และการให้ความสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ดนตรีคลาสสิก จึงได้ริเริ่มโครงการดนตรีในสวน ในปี พ.ศ. 2536 เป็นคอนเสิร์ตที่เปิดให้ผู้เข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นำเสนอบทเพลงที่ได้รับความนิยมทั้งเพลงไทย เพลงสากล เพลงประกอบภาพยนตร์ และบทเพลงคลาสสิก ในด้านการส่งเสริมการศึกษาดนตรีคลาสสิก 


มูลนิธิฯ ได้ก่อตั้งโรงเรียนดนตรีบางกอกซิมโฟนี ในปี พ.ศ. 2539 สอนวิชาดนตรีสากลคลาสสิกแก่เยาวชนและผู้สนใจ ซึ่งมีผู้เข้าเรียนกับโรงเรียนนับแต่เริ่มก่อตั้งแล้วเป็นจำนวนมากกว่า 1,000 คน และมีเยาวชนหลายรายได้รับความสำเร็จศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในประเทศและต่างประเทศ และเป็นนักดนตรีอาชีพ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง