รีเซต

มาแล้วหุ่นยนต์วาทยกร นำวงดุริยางค์แสดงดนตรีสดในเยอรมนี

มาแล้วหุ่นยนต์วาทยกร นำวงดุริยางค์แสดงดนตรีสดในเยอรมนี
TNN ช่อง16
16 ตุลาคม 2567 ( 10:34 )
11
มาแล้วหุ่นยนต์วาทยกร นำวงดุริยางค์แสดงดนตรีสดในเยอรมนี

หุ่นยนต์ก้าวเข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตของมนุษย์อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดหุ่นยนต์ได้ถูกนำมารับหน้าที่เป็นวาทยกร (Conductor บุคคลที่ทำหน้าที่ควบคุมวงดุริยางค์ หรือ ออร์เคสตรา โดยการใช้รหัสหรือสัญญาณมือ มักจะถือไม้ที่เรียกว่า บาตอง (Baton) ไว้ในมือ) ขึ้นเวทีเพื่อนำกลุ่มนักดนตรีมนุษย์แสดงคอนเสิร์ตสุดพิเศษ


วงที่นำหุ่นยนต์มารับหน้าที่วาทยกร คือ วงดุริยางค์สัญชาติเยอรมันชื่อ เดรสด์เนอร์ ซินโฟนิเกอร์ (Dresdner Sinfoniker) ซึ่งมีชื่อเสียงด้านความคิดสร้างสรรค์ต่อการแสดงดนตรีคลาสสิก และมีการทดลองรูปแบบการแสดงใหม่ ๆ เสมอ 


หุ่นยนต์วาทยกรดังกล่าวนี้ ชื่อว่า ไมร่า (MAiRA) เป็นแขนหุ่นยนต์ที่ผลิตโดยบริษัทผู้พัฒนาหุ่นยนต์สัญชาติเยอรมันอย่าง นิวรา โรโบติกส์ (Neura Robotics) ตัวที่ถูกนำมาใช้นี้เป็นขนาดเล็ก (MAiRA Pro S) มีน้ำหนักประมาณ 51 กิโลกรัม ระยะเอื้อมถึง 1,100 มิลลิเมตร มีข้อต่อที่มีค่าองศาอิสระ (DOF) หรือค่าความอิสระในการเคลื่อนไหวในทิศทางต่าง ๆ อยู่ที่ 7 องศา ทำงานด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ติดตั้งเซ็นเซอร์หลายตัวทำให้สามารถเหมือนมองเห็น ได้ยิน และรู้สึกถึงสภาพแวดล้อมได้ มีราคาอยู่ที่ 37,500 ยูโร หรือประมาณ 1,360,000 บาท


สำหรับแขนหุ่นยนต์ไมร่าที่ถูกนำมาใช้เป็นวาทยกรนี้มีทั้งหมด 3 แขน ด้วยความที่มีค่าองศาอิสระอยู่ที่ 7 องศา ทำให้สามารถเคลื่อนไหวและยืดออกไปได้ทุกทิศทาง หุ่นยนต์นี้ถูกนำมาฝึกฝนด้านวาทยกรเพิ่มเติมโดยมาร์คุส รินดท์ (Markus Rindt) ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของ Dresdner Sinfoniker ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเทคนิคเดรสเดน ประเทศเยอรมนี โดยรินดท์ได้สอนให้ไมร่าเคลื่อนไหวเหมือนมนุษย์ ใช้เวลาประมาณ 2 ปี


แขนหุ่นยนต์วาทยกรแต่ละแขนจะถือไม้บาตองไว้ในมือ และแต่ละแขนจะควบคุมกลุ่มนักดนตรีแขนละกลุ่ม แขนหุ่นยนต์นี้มีการเคลื่อนไหวที่แม่นยำ สามารถเคลื่อนไหวเพื่อรักษาจังหวะและควบคุมการแสดงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหุ่นยนต์วาทยกรนี้ได้นำแสดงรอบปฐมทัศน์ของเพลง ครูซโนเทน (#kreuzknoten) ของวิลันด์ ไรส์มันน์ (Wieland Reissmann) นักดนตรีชาวเยอรมันซึ่งก็แสดงในการแสดงครั้งนี้ด้วย ซึ่งถือว่าการเล่นเพลงครูซโนเทนเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก เนื่องจากมีการทับซ้อนกันของจังหวะอย่างมาก แต่หุ่นยนต์วาทยากรก็สามารถควบคุมจังหวะช้าเร็วที่แตกต่างกันของนักดนตรีแต่ละกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ 


อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการนำหุ่นยนต์มาใช้ควบคุมการแสดงดนตรี ตัวอย่างเช่น ในปี 2008 หุ่นยนต์วาทยกรที่มีความสูง 1.2 เมตร ได้ถูกนำมาเป็นผู้นำการแสดงให้วงดุริยางค์สัญชาติอเมริกาอย่าง ดีทรอยต์ ซิมโฟนี่ (Detroit Symphony) เพื่อแสดงเพลง ดิ อิมพอสซิเบิล ดรีม (The Impossible Dream) หรือในปี 2023 หุ่นยนต์ที่มีใบหน้าคล้ายมนุษย์ชื่อ เอเวอร์-6 (EveR 6) ก็ได้ขึ้นแท่นเป็นวาทยกรที่โรงละครแห่งชาติเกาหลีในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ด้วยเช่นกัน


การนำหุ่นยนต์วาทยกรมาใช้นี้จัดขึ้นในคอนเสิร์ตเมื่อวันที่ 12 และ 13 ตุลาคม 2024 ที่ผ่านมา เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปี ของวง Dresdner Sinfoniker แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าล่าสุดของเทคโนโลยีเครื่องจักรในอุตสาหกรรมดนตรี อย่างไรก็ตามสื่อเดอะการ์เดียน (The Guardian) รายงานว่า หุ่นยนต์วาทยกรนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อแทนที่วาทยากรมนุษย์ แต่เป็นการพิจารณาว่ามนุษย์และเครื่องจักรจะทำงานร่วมกันในอุตสาหกรรมดนตรีได้อย่างไร 


ที่มาข้อมูล InterestingEngineering, Theguardian

ที่มารูปภาพ Dresdner Sinfoniker's Facebook

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง