นายกฯห่วงหน้าร้อน คนท้องเสีย แนะระมัดระวัง บริโภคน้ำแข็ง-น้ำดื่ม
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูร้อนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยพี่น้องประชาชนเนื่องจากสภาพอากาศร้อน เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่สามารถนำไปสู่โรคอาหารเป็นพิษได้หากบริโภคอย่างไม่ระมัดระวัง โดยแนะนำให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมอนามัย บริโภคน้ำแข็งและน้ำดื่มที่สะอาดปลอดภัย ส่วนการรับประทานอาหารให้ยึดหลัก สุก ร้อน สะอาด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอาหารเป็นพิษ
นายธนกร กล่าวว่า จากสถิติการเฝ้าระวังโรคในปี 2564 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยที่มีภาวะอาหารเป็นพิษจำนวนกว่า 53,540 ราย เสียชีวิต 1 ราย ชี้ให้เห็นถึงอัตราการเกิดโรคที่ยังสูง ขอแนะนำให้ประชาชนยึดหลัก สุก ร้อน สะอาด คือ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน เลือกซื้อวัตถุดิบที่สด และล้างให้สะอาดก่อนนำมาปรุงประกอบอาหาร ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนปรุงประกอบและรับประทานอาหาร ซึ่งอาการอาหารเป็นพิษยังเกิดได้กับผู้ที่นิยมบริโภคน้ำดื่มหรือน้ำแข็งที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนอีกด้วย โดยกรมอนามัยแนะนำให้เลือกน้ำแข็งหรือน้ำดื่ม จากแหล่งผลิตที่ถูกสุขลักษณะได้มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) และน้ำแข็งที่มีคุณภาพ เมื่อละลายจะต้องใส ไม่มีตะกอนขาวขุ่น ๆ อยู่ก้นแก้ว สถานที่เก็บรักษาและภาชนะบรรจุภัณฑ์ต้องสะอาด ส่วนน้ำดื่ม ภาชนะบรรจุต้องปิดสนิท สะอาดทั้งภายในและภายนอก พลาสติกปิดรอบฝาปิดต้องอยู่ในสภาพดี ไม่ฉีกขาด มีชื่อผู้ผลิต และสถานที่ผลิตชัดเจน เป็นต้น ซึ่งขอแนะนำประชาชนให้ใส่ใจเรื่องความสะอาด ถูกสุขลักษณะเพื่อลด และควบคุมอัตราการเกิดโรค
นายธนกร กล่าวว่า นอกจากความกังวลด้านโรคติดต่อในคนแล้ว โรคในสัตว์ยังเป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่รัฐบาลให้ความสำคัญวางมาตรการอย่างเข้มงวดรัดกุม โดยนายกฯ ได้รับรายงานการลักลอบนำเข้าสินค้ามีชีวิตประเภทโค ผ่านเรือบรรทุกจากฝั่งประเทศเพื่อนบ้านสู่ประเทศไทยในเขตพื้นที่ชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอนอย่างผิดกฎหมาย รวมถึงการขนย้ายสัตว์ชนิดอื่นเข้า-ออกราชอาณาจักรแบบไม่มีใบอนุญาต ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ควบคุม บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ทั้งเพื่อดูแลพื้นที่ชายแดนให้ปลอดภัย เป็นไปตามกฎหมาย และเพื่อเป็นการปฏิบัติตามมาตรการกักกันสัตว์และโรคระบาดที่ส่งผลโดยตรงต่อผู้ประกอบการและเกษตรกรในภาคอุตสาหกรรมปศุสัตว์
“นายกฯ แสดงความห่วงใยและกำชับหน่วยงานที่ดูแลด้านสาธารณสุขให้เผยแพร่ข้อมูลหรือคำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและลดอัตราการเกิดโรค พร้อมชื่นชมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในด้านสุขภาพของประชาชนและด้านสุขภาพของปศุสัตว์ที่ดำเนินงานด้านการควบคุมโรคระบาดมาอย่างต่อเนื่อง โดยนายกฯ ขอให้ผู้ประกอบการด้านปศุสัตว์เชื่อมั่นว่ารัฐบาลไม่ปล่อยให้การลักลอบขนส่งสัตว์ซ้ำเติมปัญหาโรคระบาดที่ทุกฝ่ายกำลังเผชิญอยู่ รวมทั้ง ให้ความเชื่อมั่นว่าปัญหาโรคระบาดในสัตว์จะลดลงจากความร่วมมือของทุกฝ่าย” นายธนกร กล่าว