พัทยา...ลาก่อน? เมืองท่องเที่ยวจมฝน น้ำท่วมซ้ำซาก นักท่องเที่ยวหาย

ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับเมืองพัทยา...ลาก่อน? เมืองท่องเที่ยวจมฝน น้ำท่วมซ้ำซาก นักท่องเที่ยวหนีหาย
เมื่อค่ำคืนของวันที่ 2 พ.ค.68 เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ต้องเผชิญกับฝนตกหนักต่อเนื่องยาวนานกว่า 3 ชั่วโมง ส่งผลให้ถนนหลายสายจมอยู่ใต้น้ำ รถยนต์ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ไม่สามารถสัญจรผ่านได้ โดยเฉพาะบนถนนพัทยาสาย 3 ที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะ กลายเป็นพื้นที่จมน้ำทั้งเส้น
พัทยา เมืองที่มีชื่อเสียงระดับโลกในฐานะแหล่งท่องเที่ยวริมทะเลของไทย กลับต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมขังบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ปัญหานี้ไม่เพียงแต่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและต่างชาติที่ต้องหลีกเลี่ยงหรือยกเลิกแผนการท่องเที่ยวอย่างกะทันหัน
พื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซากในพัทยามีหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นถนนสุขุมวิทหน้าสถานีตำรวจทางหลวงสาขาพัทยา ถนนพัทยาใต้ พัทยากลาง พัทยาเหนือ ถนนนาเกลือ ซอยบัวขาว ถนนเลียบทางรถไฟ ซอยวัดธรรมสามัคคี ซอยบุญสัมพันธ์ ซอยเขาน้อย และซอยเนินพลับหวาน ซึ่งกลายเป็นภาพคุ้นตาทุกครั้งที่ฝนตกหนัก
สาเหตุของปัญหาน้ำท่วมในเมืองพัทยา
1. ลักษณะภูมิประเทศเป็นปัจจัยสำคัญ
เมืองพัทยามีภูมิประเทศที่เป็นเนินเขาสลับกับที่ราบ บางส่วนเป็นแอ่งกระทะ โดยเฉพาะบริเวณพัทยากลางและนาจอมเทียน ทำให้น้ำฝนไหลบ่ามารวมกันในพื้นที่ต่ำและท่วมขังได้ง่าย
2. ระบบระบายน้ำล้มเหลวจากการบุกรุกคลอง
พัทยามีคลองธรรมชาติ 7 แห่งที่เคยทำหน้าที่ระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ คลองกระทิงลาย คลองนาเกลือ คลองปึกพลับ คลองนกยาง คลองเสือแผ้ว คลองพัทยาใต้ และคลองห้วยใหญ่ แต่ในปัจจุบันคลองเหล่านี้ถูกบุกรุกจากการขยายตัวของเมือง มีการปลูกสิ่งปลูกสร้างใกล้ชิดกับคลอง ทำให้คลองตื้นเขิน แคบลง และบางแห่งมีขยะสะสมจากการทิ้งขยะอย่างผิดกฎหมาย
3. ท่อระบายน้ำขนาดเล็ก และระบบระบายไม่เพียงพอ
แม้พัทยาจะมีโครงการติดตั้งท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ (1.80 เมตร ยาว 2,700 เมตร) บริเวณชายหาดแล้วก็ตาม แต่ระบบที่มีอยู่นั้นไม่สามารถรองรับน้ำฝนที่ไหลลงมาจากฝั่งตะวันออกได้ทัน โดยเฉพาะเมื่อมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับท่อระบายน้ำเดิมที่มีขนาดเล็ก และมีจุดระบายน้ำลงทะเลเพียงจุดเดียวคือที่สถานีสูบน้ำปากทางพัทยาใต้ ยิ่งทำให้ระบายน้ำได้ช้าลง
4. น้ำทะเลหนุนซ้ำเติมวิกฤต
ในบางครั้ง ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้เกิดจากฝนเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดจากปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุนในช่วงเดียวกันกับฝนตกหนัก ทำให้น้ำไม่สามารถระบายลงสู่ทะเลได้ทัน ต้องรอจังหวะที่น้ำทะเลลดก่อนจึงจะสามารถระบายออกได้ ส่งผลให้น้ำท่วมอยู่นานและกินพื้นที่กว้าง
แนวทางแก้ปัญหา: ถึงเวลาฟื้นฟูระบบระบายน้ำอย่างจริงจัง
เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในเมืองพัทยา หน่วยงานท้องถิ่นกำลังเร่งดำเนินโครงการก่อสร้าง “อุโมงค์ดักน้ำ” ขนาด 2 เมตร ตลอดแนวถนนเลียบทางรถไฟฝั่งตะวันออก เพื่อรับมวลน้ำจากฝั่งตะวันออกของเทศบาลหนองใหญ่ หนองปลาไหล ตำบลห้วยใหญ่ ถนนสุขุมวิทช่วงปากทางพัทยาใต้ และพื้นที่บริเวณเขาตาโล
นอกจากนี้ เมืองพัทยาต้องเร่งดำเนินการฟื้นฟูและจัดการคลองที่ถูกบุกรุก เช่น การขุดลอกคลอง การบูรณะฟื้นฟู และการใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับผู้ที่บุกรุกพื้นที่สาธารณะหรือทิ้งขยะลงคลอง เพื่อฟื้นคืนความสามารถในการระบายน้ำของธรรมชาติให้กลับคืนมา