รีเซต

ผอ.ฝ่ายเทคโนฯสพร.ตอบทุกคำถาม ‘หมอชนะ’ ย้ำช่วยแพทย์สกัดโควิดระบาด

ผอ.ฝ่ายเทคโนฯสพร.ตอบทุกคำถาม ‘หมอชนะ’ ย้ำช่วยแพทย์สกัดโควิดระบาด
TNN ช่อง16
8 มกราคม 2564 ( 13:20 )
175

นายจุลพงศ์ ผลเงาะ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) ได้โพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับ แอปพลิเคชั่น หมอชนะ  โดยระบุว่า  "คำถาม-คำตอบ แบบบ้านๆเข้าใจง่ายๆเกี่ยวกับแอปหมอชนะครับ"

 

1.หมอชนะคืออะไร

 A. เป็นแอปที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือให้ กรมควบคุมโรค ใช้ในการสอบสวนโรค

ยกตัวอย่างกรณี พ่อบ้านที่ไปเที่ยวผับบาร์ ทุกวันจนติดโควิดมาจากผับแห่งนี้ ถ้าคุณพ่อบ้านกลัวภรรยาจะรู้ว่าหนีไปเที่ยวทุกวัน ก็อาจจะปกปิดคุณหมอจากกรมควบคุมโรคที่ทำการสอบสวนโรคว่า ผมเลิกงานปุ๊บ กลับบ้านทุกวัน มีแวะกินข้าวที่ร้าน A บ้าง......ทีนี้เกิดอะไรขึ้นครับ ร้าน A ต้องปิด 14 วัน ทำความสะอาดตามมาตรการ แต่ผับที่พ่อบ้านคนนี้ไปกลับเปิดให้บริการต่อไป โดยไม่มีใครเอะใจว่า นี่มันเป็นแหล่งของ Super spreader นี่หน่า....

แอป หมอชนะ จะเข้ามาช่วยคุณหมอ นั่นคือแม้คุณพ่อบ้านจะปกปิดข้อมูล แต่ข้อมูลการเดินทางของคุณพ่อบ้านยังอยู่ในระบบ ซึ่งมีเฉพาะคุณหมอเท่านั้นที่จะใช้ข้อมูลนี้ในการดำเนินการ การสอบสวนโรคก็จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น


กรณีถัดมา ทางการพบว่า บ่อนแห่งนึง มีผู้ติดเชื้อเนื่องจากที่นี่หลายคน และ ในวันเกิดเหตุผู้ติดเชื้อก็ให้การว่ามีนักเล่นเป็นร้อยๆคนเลยในนั้น คำถามคือ กรมควบคุมโรค จะไปตามตัวนักเล่นพวกนั้นให้มาเข้ารับการตรวจได้ยังไง

 

สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือ ประกาศออกตามสื่อต่างๆ ให้มาเข้ารับการตรวจ ซึ่งบางส่วนก็ไม่ได้ยินข่าวการแจ้ง แต่บางส่วนที่ไม่ได้ไปที่บ่อนก็มั่วตั้วจะมาตรวจกับเขาบ้าง....คุณหมอปวดหัวอีก แอป หมอชนะ จะเข้ามาช่วยคุณหมอ นั่นคือคุณหมอแค่ระบุตำแหน่งของบ่อน  และ ช่วงเวลาที่ผู้ติดเชื้อเข้าไปเล่นพนันในบ่อน ระบบหมอชนะ จะแสดงลิสต์ของผู้ที่อยู่ในบ่อนในช่วงเวลานั้น ซึ่งก็จะอนุมานว่า นี่แหละกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ สิ่งที่ระบบแสดงให้คุณหมอเห็น ไม่ใช่ชื่อ ไม่ใช่นามสกุล ไม่ใช่เบอร์โทรศัพท์ นะครับ เพราะระบบไม่ได้เก็บสิ่งเหล่านี้ไว้เลย (ไม่ได้มีที่ให้กรอกบนแอป) แต่ระบบจะแสดง Anonymous ID ซึ่งเป็นตัวอักษรยึกยือ ยกตัวอย่าง A1k_3BnOp5 สิ่งที่คุณหมอจะทำอันดับถัดไปคือ ส่งข้อความแจ้งผ่านแอป ไปยัง A1k_3BnOp5qด้วยข้อความประมาณว่า

 

 "ท่านได้เข้าไปสถานที่ ณ..... วันที่.... เวลา...... โปรดติดต่อเพื่อรับการตรวจเชื้อที่ (สถานที่) หรือสอบถามเพิ่มเติม (เบอร์ท้องที่) หรือ 1422 (สวมหน้ากากอนามัย และงดใช้ขนส่งสาธารณะ)" ซึ่งจะเป็นการส่งข้อความที่ส่งตรงถึงคนๆนั้นเลยให้รีบติดต่อกลับกรมควบคุมโรค เพื่อเข้ารับการตรวจและเข้าสู่การสอบสวนโรคโดยอย่างเร่งด่วน 

 

ทางกรมฯ ไม่จำเป็นต้องมีการเผยแพร่ timeline ของผู้ติดเชื้อ ในที่สาธารณะ ซึ่งอาจจะใช้เวลานานมากกว่าข่าวสารจะเดินทางไปถึงคนๆนั้น และสุ่มเสี่ยงที่ข่าวสารจะสูญหาย ไปไม่ถึงผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ทำให้กลุ่มคนเหล่านั้นยังคงใช้ชีวิตเป็นปรกติอยู่ ทั้งๆที่เขาอาจจะติดเชื้อไปแล้ว กลายเป็น Super spreader ไปอีก นี่แหละครับ แอป หมอชนะ ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยคุณหมอ ช่วยให้กระบวนการสอบสวนโรค มีประสิทธิภาพมากขึ้น การควบคุมการลามระบาดของโรคก็จะสามารถทำได้รวดเร็วและตรงประเด็นมากขึ้น

 

2.หมอชนะทำงานยังไง

 A. หลังจากที่ดาวน์โหลดและติดตั้งจาก Playstore, Appstore หรือ Huawei Gallery แล้ว ก็แค่เปิด GPS และ Bluetooth มันจะทำงานด้วยตัวมันเองครับ


การทำงานก็ไม่มีอะไรซับซ้อนครับ ทุกๆระยะเวลาที่เราเดินทาง มันก็จะบันทึกพิกัด GPS ของเราลงเครื่องและส่งไปเก็บที่ระบบส่วนกลาง อ้างอิงจาก Anonymous ID เท่านั้น ซึ่งไม่มีใครแกะออกว่าคนๆนั้นคือใครข้อมูลการเดินทางของเราจะถูกจัดเก็บไปเรื่อยๆ จนกระทั่งทาง กรมควบคุมโรค ต้องการข้อมูล ตามหลักการธรรมาภิบาลข้อมูล กรมควบคุมโรค จะเป็นผู้ที่รับผิดชอบในข้อมูลดังกล่าว เนื่องด้วยมีฐานกฏหมายที่สามารถใช้ข้อมูลนั้นในการสอบสวนโรคได้ ตาม พรก.ฉุกเฉิน และ พรบ โรคติดต่อครับ

 

3.หมอชนะ vs ไทยชนะ vs CovidAwayvsThailandPlus

 A. หมอชนะ - ติดตั้งเสร็จไม่ต้องทำอะไรกับมันอีกเลย ยกเว้นในกรณีที่มีเจ้าหน้าที่รัฐขอตรวจ ก็แค่โชว์แอปที่มีรูปถ่ายของเราตรงกับหน้าเราจริงๆเท่านั้นนอกจากนั้นยังใช้ หมอชนะ สแกน QR Code ของไทยชนะได้ด้วย แถมยังพิสูจน์ได้ด้วยว่า QR Code นั้นของจริงหรือของปลอม


ไทยชนะ - ใช้ในการสแกน QR Code ของไทยชนะ เพื่อการ Check-in เข้าสถานที่ ซึ่งถ้าประชาชนที่เข้าไปในสถานที่หนึ่งๆไม่ให้ความร่วมมือในการ Check-in กรมควบคุมโรคก็จะไม่มีข้อมูลคนที่เข้าไปใช้บริการในสถานที่นั้นๆ 

 

ไทยชนะ จะต่างจากหมอชนะอีกสองประการตรงที่ไม่ได้ทำงานอยู่บนมือถือตลอดเวลา จะทำงานก็เฉพาะเวลาที่เราต้องการเช็คอิน และ ไทยชนะ จะไม่ได้ติดตามบันทึกการเดินทางของผู้ใช้งานครับ

 

CovidAway - ใช้ในการปักหมุดสถานที่เสี่ยง และ อาศัย GPS ของผู้ใช้งานเปรียบเทียบดูว่า เราอยู่ใกล้สถานที่เสี่ยงหรือไม่ ซึ่งข้อมูลสถานที่เสี่ยงจำเป็นต้องมีการอัพเดตตลอดเวลา มิฉะนั้น แผนที่จะมีแต่สีแดงเต็มพรึ่ดไปหมด

 

ThailandPlus - ทำงานคล้ายกับหมอชนะ แต่จำกัดการใช้เฉพาะกลุ่มคนที่เดินทางเข้าประเทศผ่านช่องทางที่ ศบค กำหนด ในช่วงนี้จำกัดเฉพาะช่องทางอากาศผ่านสนามบินสุวรรณภูมิเท่านั้น โดยต้องใช้ควบคู่กับหมายเลข COE (Certificate of Entry) ที่ออกให้โดยกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ

 

4.ใช้หมอชนะแล้วยังต้องสแกนไทยชนะอีกหรือเปล่า

A. ข้อจำกัดของแอป หมอชนะ คือ เมื่อเข้าไปในอาคารทึบ หรือ อาคารขนาดใหญ่ อาทิ ห้างสรรพสินค้า ขนาดใหญ่ ที่จะส่งผลต่อความแรงของสัญญาณ GPS (อาจจะจับสัญญาณ GPS ไม่ได้เลย) แอป หมอชนะ จะอาศัย Bluetooth เป็นตัวช่วย ในการระบุตำแหน่งครับ (นี่จึงเป็นเหตุผลว่าต้องขออนุญาตเปิด Bluetooth) โดยอาศัยถามจาก คนที่ใช้หมอชนะ ที่อยู่รอบๆตัว ซึ่งการถามต่อไปเรื่อยๆ ก็จะยังพอได้ข้อมูลจากคนที่สัญญาณ GPS ยังพอจับได้ เราก็จะได้ค่า GPS ของคนๆนั้นมาเพื่อระบุตำแหน่งเรา

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าห้างนั้นมีขนาดใหญ่มาก การระบุตำแหน่งแบบนี้ยังค่อนข้างหยาบ เพราะยากที่จะระบุว่าเราอยู่ชั้นไหน โซนไหน ร้านไหน ฯลฯ ฉะนั้นการจะระบุตำแหน่งให้แม่นยำก็ต้องพึ่งพาการ Check-in ก่อนจะเข้าร้านด้วย QR Code ของ ไทยชนะ ครับดังนั้น การใช้ หมอชนะ และ ไทยชนะ คู่กัน จะยิ่งเป็นเครื่องมือที่มีคุณภาพให้กรมควบคุมโรคใช้ในการสอบสวนโรคได้ดีขึ้นครับ

 

5.แบบประเมินในแอปหมอชนะมีไว้ทำไม

A. จริงๆแล้ว แอป หมอชนะ นี่มีอายุอานามเกือบปีแล้วนะครับ เพราะเกิดมาตั้งแต่ช่วงที่ โควิด ระบาดใหม่ๆ และ แม้จะมีการโปรโมทให้ใช้ในช่วงนั้น แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับมากมาย ม ทำให้ แอป แทบจะหยุดการเจริญเติบโตใดๆมานานมาก ผมเองก็อยู่ในฐานะผู้ใช้งานหมอชนะมาตลอด แต่ก็ใช้แค่การสแกน QR Code ของไทยชนะครับ เพราะมันสแกนได้รวดเร็ว และ ตรวจ QR ของปลอมได้ และไม่ได้สนใจฟีเจอร์ดๆของหมอชนะเลย (ไม่เคยอัพเดตใดๆเลยด้วยซ้ำไป)


พอมีการลามระบาดรอบใหม่ รัฐถึงเริ่มมีดำริที่จะโปรโมทให้มีการใช้งานหมอชนะอีกครั้ง  ตัวแอป ก็ถูกปัดฝุ่นขึ้นมาใหม่ แต่การทำงานต้องมีการปรับให้เข้ากับบริบทของสถานการณ์ใหม่ในปัจจุบัน โดยผมยึดตามข้อสรุปร่วมกับ กรมควบคุมโรค ในฐานะของผู้ที่ต้องใช้ หมอชนะ เป็นสำคัญ 

 

นั่นคือ ในช่วงนี้ แอปจะถูกใช้เป็น เครื่องมือของกรมควบคุมโรคในการสอบสวนโรค ดังนั้น ฟีเจอร์ต่างๆที่ยังไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้งานดังกล่าว ที่อาจจะทำให้เกิดความสับสนในการใช้งาน ก็จะถูกตัดออกไปก่อน 

 

อย่างไรก็ตาม แบบประเมินยังไม่สามารถตัดออกไปได้ทันก่อนจะประกาศใช้เป็นทางการ ซึ่งก็ต้องรอใน release ถัดไปซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการีวิวของAppStore, PlayStore และ HuaweiGallery ครับ

 

6.หมอชนะกินแบตกินข้อมูลเครื่องขนาดไหน

 A. อันนี้ยอมรับว่าในเวอร์ชั่นก่อนหน้านี้ มันกินแบตกินข้อมูล เพราะผมก็เป็น (ในฐานะผู้ใช้) และได้รีบแก้ไขโดยด่วนมากเป็นลำดับแรกก่อน จนในเวอร์ชั่นปัจจุบัน การกินแบต กินข้อมูล ได้แก้ไขไปแล้วครับ ต้องขอความกรุณา โหลดและติดตั้งใหม่อีกครั้งครับ (ลองรีสตาร์ทเครื่องด้วยยิ่งดี) แต่ถ้าใครยังมีปัญหาอยู่ต้องรบกวนแจ้งมาที่ DGA Contact center ครับ (+66) 0 2612 6060

 

6QRcodeที่ปรากฏเอาไว้ทำอะไรบ้าง


A. จริงๆแล้วความตั้งใจของทีมพัฒนาแต่เดิมนั้นจะใช้ QR Code ทำหน้าที่หลายๆอย่างมากครับ เช่น เอาไว้ให้สแกนกันเองระหว่างคนใช้หมอชนะว่า สถานะความเสี่ยงของคนที่เราไปสแกนนั้น เสี่ยงต่ำ เสี่ยงปานกลาง หรือ เสี่ยงสูง  นอกจากนั้น ยังเอาไว้ให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองสแกนได้ด้วยว่า เราไปแคปหน้าจอเพื่อนมาหรือเปล่าแล้วมาแจ้งมั่วว่านี่เป็นแอปของผม เพราะ QR Code บนแอป มันจะเปลี่ยนไปตลอดเวลา ถ้า QR Code มันเปลี่ยน ตัว Code อันเดิมมันจะใช้ไม่ได้ ถ้าเราใช้หมอชนะอีกเครื่องลองสแกนดู มันจะฟ้องขึ้นมาเลยครับ

 

นอกจากนั้น ถ้าใครได้ดูคลิปการใช้งานเวอร์ชั่นเก่าๆ จะเห็นได้ว่า QR Code สามารถเปลี่ยนสีได้ด้วย ตั้งแต่ เขียว เหลือง ส้ม แดง โดยการเปลี่ยนสีจะเกิดเมื่อเราไปอยู่ใกล้คนที่เสี่ยงแบบอัตโนมัติ ซึ่งฟีเจอร์นี้แม้จะดูมีประโยชน์ เพื่อเราจะได้รู้ว่า ตอนนี้ คู่สนทนาเรา มีความเสี่ยงระดับใด จะได้เลี่ยงไม่ไปสนทนากับเขา แต่ถ้าระบบไม่ถูกออกแบบให้รัดกุม มันจะกลายเป็นดาบสองคม ในสภาวะเหตุการณ์แบบนี้ครับ ฟีเจอร์นี้เลยยังปิดการใช้งานอยู่ 

 

นอกจากนั้น การจะรีเซ็ตสี จากสีแดง มาเป็น สีเขียว ปรกติ จะต้องถูกกระทำโดยใช้หลักฐานทางการแพทย์เท่านั้นว่า คนๆนั้นปราศจากการติดเชื้อ 100% จริงๆ มิฉะนั้นแล้ว ถ้าเผลอไปเปลี่ยนสีเขากลับมาเป็นปรกติ โดยที่เขายังมีเชื้ออยู่ เขาก็จะออกไปพบปะผู้คนตามปรกติ ซึ่งมันก็จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้อื่นอีกเช่นกัน

 

ดังนั้น การรีเซ็ตสี จึงเป็นขั้นตอนหนึ่งที่ต้องมีการกำหนดชัดเจน ถูกต้อง และผ่านการร่วมมือกับสถาบันทางการแพทย์ครับ ซึ่งในห้วงเวลานี้ ทีมงานเล็งเห็นแล้วว่า ถ้าขั้นตอนยังกำหนดไม่แล้วเสร็จ ก็ยังไม่ควรนำมาใช้ในคราวนี้ครับ

 

นอกจากนั้น ถ้าระบุสถานที่ที่มีความเสี่ยง (แต้มสีให้สถานที่นั้น เช่น ถ้าใครไปพื้นที่เสี่ยงแล้ว QR Code จะเปลี่ยนสี) การจะปักหมุดที่แห่งใดแห่งนึงว่ามีความเสี่ยง จะต้องมีความแม่นยำ และ ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน มิฉะนั้น การไปปักหมุดผิดพลาด จะส่งผลต่อผู้ประกอบการรายนั้นมากมาย

 

ด้วยปัจจัยที่ยังไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในกรอบได้ในระยะเวลาอันสั้น ทางทีมจึงตัดสินใจปิดฟีเจอร์นี้ไปก่อนครับ และเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในระยะแรกคือ ให้แอป เป็นเครื่องมือในการสอบสวนโรค 

 

7.แถบดำๆด้านล่างสุดของแอปคืออะไร

 A. นี่คือตัวบ่งชี้ว่าท่านกำลังใช้แอปเวอร์ชั่นเก่าอยู่ครับ กราบขอความกรุณาอัพเดตด่วนครับ ฟีเจอร์นี้คือ Work From Home ซึ่งเอาจริงๆมันเป็นฟีเจอร์ที่ยอดเยี่ยมนะครับ ถ้าสมมติบริษัทเอาไปใช้เพื่อดูว่า หลังจากประกาศให้พนักงาน WFH แล้ว มีพนักงานคนไหนบ้างที่ฝ่าฝืน ออกไปตะลอนๆภายนอกบ้าน ตัวแอป มันสามารถแสดงให้เห็นว่า พนักงานคนนั้นไม่ยอมอยู่บ้านไปกี่ชั่วโมงต่อวัน


อย่างไรก็ตามหลังจากมีการทดสอบ ยังพบว่ายังมีหลายประเด็นที่ต้องปรับแก้อยู่ อาทิ การจะปักหมุด หมู่บ้าน ที่มีเป็นพันๆหลังคาเรือนให้ถูกว่า หลังไหนคือบ้านเรานี่ค่อนข้างจะยากและตาลายมากครับ ซึ่งถ้าปักผิดไป แม้เราจะอยู่บ้านทั้งวัน แต่ไปปักหมุดผิดหลัง แอปมันก็แสดงว่า เราไม่ได้อยู่บ้าน ข้อมูลคลาดเคลื่อนเต็มๆครับ

 

8.ต้องเปิดInternetไว้ตลอดหรือเปล่า

A. ไม่จำเป็นครับ แต่ GPS จำเป็นนะครับ เพราะมันใช้ในการบันทึกเส้นทางการเดินทางครับในยามที่ไม่มีสัญญาณ Internet ตัวแอปจะทำการเก็บข้อมูลไว้ในเครื่องก่อน พอมีสัญญาณ Internet ถึงจะทำการส่งข้อมูลไปไว้ในระบบครับ

 

9.มือถือเครื่องเก่าๆทำไง

A. จริงๆได้มีการออกแบบฟีเจอร์นึงคือ Static QR ครับ คือทุกท่านสามารถเข้าไปที่เว็บ เพื่อทำการสร้าง QR Code ประจำตัวท่านเองได้ แต่ก็แน่นอนว่า QR Code นี้มันไม่ Dynamic หรือ มันไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้เหมือนกับ QR Code ในเครื่องโทรศัพท์ เพราะฉะนั้นข้อจำกัดในการใช้งานจะมีอยู่พอสมควร แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีใดๆเลยนอกจากนั้น ยังมีความคิดที่จะใช้ Wristband (สายรัดข้อมือ) หรือ Token (เอาไว้หิ้วกับกระเป๋า) คล้ายๆกับที่ทางสิงคโปร์แจก ติดตามกระเป๋า แล้วใช้ในการเช็คอินเข้าสถานที่ต่างๆ (แบบไทยชนะ) โดยไม่ต้องใช้มือถือ ซึ่งทางทีมผมก็ได้มีการทดสอบกับเจ้าของผลิตภัณฑ์ไปแล้วบางเจ้า ได้ผลดีทีเดียวในการเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบหมอชนะ

 

อย่างไรก็ตาม การจัดซื้อจัดจ้างสำหรับประชาชนจำนวนมาก ยังคงต้องอาศัยการจัดทำงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งยังมีขั้นตอนอีกพอสมควรครับ ซึ่งก็คล้ายๆกับเรื่องวัคซีน ที่ภาครัฐเราสั่งเข้ามาได้ช้ากว่าหลายๆประเทศก็ด้วยข้อจำกัดด้านกระบวนการของรัฐ ซึ่งก็ต้องมีขั้นตอน และ ทุกกระบวนต้องตรวจสอบได้ครับ ฉะนั้นทางทีมไม่ได้ละเลยเรื่องความเหลื่อมล้ำในการใช้งานนะครับ พยายามคิดทุกวิถีทางเท่าที่ปัจจัยที่มีจะเอื้ออำนวยแล้วครับ

 

10.รูปถ่ายเอาไปทำไม

A.  หลังจากที่ ศบค.เริ่มมีแนวนโยบายในการกระตุ้นให้มีการใช้แอปมากขึ้น ประกอบกับ อยากจะใช้แอป เป็นเหมือน Passport ในการผ่านด่านคัดกรองตามสถานที่ต่างๆอาทิ บนท้องถนน เพื่อลดเวลาการสแกนอุณหภูมิ ก็มีแนวความคิดว่าจะให้มีการแสดงแอปค่อนหน้า จนท. โดย จนท. ต้องตรวจสอบให้ชัดว่า ใบหน้าบนแอป ตรงกับ ผู้ใช้งาน เพื่อป้องกันการไปหยิบมือถือคนอื่นมาโชว์ครับ ทำให้ต้องเอาฟีเจอร์รูปถ่ายกลับมา แต่ยังคงคอนเซปท์ ไม่เก็บรูปใดๆที่ระบบส่วนกลางครับ แต่เก็บที่โทรศัพท์คนใช้งานแทน จึงเป็นที่มาว่า ต้องขออนุญาตในการเข้าถึงคลังภาพตอนที่ติดตั้งแอป


11.ถ่ายภาพสัตว์เลี้ยงแทนตัวเองได้มั้ย

A. ด้วยความตั้งใจของ ศบค. ก็อยากจะให้ใช้รูปตัวเองนั่นแหละครับ เพื่อความสะดวกของ เจ้าหน้าที่ ในการตรวจสอบความถูกต้อง ถ้ามีการพบเจอว่ารูปถ่ายไม่ตรงตัว ก็อาจจะมีการขอให้เปลี่ยนรูปครับ ซึ่งในเวอร์ชั่นใหม่ จะอนุญาตให้เปลี่ยนได้แค่ 3 ครั้งนะครับ หลังจากนั้นถ้าเกิน 3 ครั้ง ท่านอาจจะต้องสักระยะนึง กว่าจะเปลี่ยนรูปใหม่ได้


เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง