รีเซต

ฟังไม่ขึ้น! นักกม.ซัดตร.ส่อผิดม.157 ไม่จับเป่า"ไฮโซดัง"ซิ่งเก๋งหรูชนไฟท่วม

ฟังไม่ขึ้น! นักกม.ซัดตร.ส่อผิดม.157 ไม่จับเป่า"ไฮโซดัง"ซิ่งเก๋งหรูชนไฟท่วม
ข่าวสด
27 มีนาคม 2565 ( 14:52 )
73

นักกฎหมายซัดตำรวจ ส่อผิด ม.157 เหตุเมินตรวจแอลกอฮอล์ “ไฮโซปลาวาฬ” ซิ่งรถเบนท์ลีย์ราคากว่า 30 ล้านชนไฟท่วม อ้างไร้คนเจ็บฟังไม่ขึ้น ยันหากเมาแล้วขับก่อเหตุซ้ำซากควรถึงขั้นพักหรือเพิกถอนใบขับขี่ ชี้ กม.จราจร-ประกันภัยภาคสมัครใจ เขียนชัดต้องตรวจหาแอลกอฮอล์ก่อนเคลม

 

จากกรณี นายวรสิทธิ อิสสระ หรือ ไฮโซปลาวาฬ อายุ 40 ปี ขับรถหรูเบนท์ลีย์ราคากว่า 30 ล้าน เสียหลักชนรั้วเหล็กกั้นโค้ง ริมถนนเพชรเกษมสายเขาหลัก-ท้ายเหมือง บ้านขนิม หมู่ 7 ต.ทุ่งมะพร้าว อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ก่อนไฟลุกไหม้วอดทั้งคัน ช่วงค่ำวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา ตำรวจแจ้งข้อหาขับรถโดยประมาททำให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย และไม่ได้ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ โดยระบุ ไม่มีคู่กรณีหรือได้รับบาดเจ็บ

โดยเรื่องนี้ วันที่ 27 มี.ค.2565 ว่าที่ร.ต.สมชาย อามีน นายกสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิ์และสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สั่งให้ผู้ขับขี่รถยนต์คันที่เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงไปตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด อาจเข้าข่ายจงใจช่วยเหลือผู้กระทำผิดให้ไม่ต้องรับโทษ เป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผิดตามมาตรา 157

 

เนื่องจากตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2542 มาตรา 43 (2) ห้ามขับขี่รถยนต์ในขณะเมาสุรา ฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 160 ตรี จำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับ 5,000-20,000 บาท และสั่งพักใช้ใบอนุญาตไม่น้อยกว่า 6 เดือน และในกรณีที่เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานสอบสวนเห็นว่า ผู้ขับขี่ฝ่าฝืนมาตรา 43 (2) ให้พนักงานสอบสวนสั่งให้มีการทดสอบว่าผู้ขับขี่เมาสุราขณะขับขี่หรือไม่ ถ้าผู้ขับขี่ขัดขืนมีโทษปรับครั้งละ 1,000 บาท และให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นขับขี่รถขณะเมาสุราแม้ไม่ยอมทดสอบ

 

 

" กรณีที่รถยนต์มีประกันภัยภาคสมัครใจ หากเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ขึ้นและน่าเชื่อว่าจะมีสาเหตุจากการเมาแล้วขับ บริษัทประกันฯจะต้องขอให้มีผลการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์มาประกอบการจ่ายค่าสินไหมทดแทน หากผู้ขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถือเป็นการเมาแล้วขับ บริษัทประกันภัยรถยนต์จะไม่คุ้มครองผู้เอาประกัน

 

การที่พนักงานสอบสวนอ้างว่าไม่มีคู่กรณี จึงไม่สั่งให้มีการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด จึงเป็นการกล่าวอ้างที่ไร้เหตุผล อาจเข้าข่ายเจตนาช่วยเหลือผู้กระทำผิด ที่นอกจะกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหายแล้ว หากตรวจพบว่าขับรถขณะเมาสุรา ต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี แต่ถ้าทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บด้วยโทษจำคุก 1-5 ปี เมาแล้วขับผิดกฎหมายทุกกรณีไม่ว่าจะมีผู้ได้รับความเสียหายหรือไม่"

 

ว่าที่ร.ต.สมชาย กล่าวอีกว่า เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอุบัติเหตุรถยนต์เกิดจากการเมาสุราต้องส่งตรวจวัดแอลกอฮอล์ทุกกรณี อย่างไรก็ตามความผิดฐานเมาแล้วขับ นอกจากศาลมีอำนาจพิพากษาจำคุกและปรับแล้ว ศาลยังมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์หรือสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ก็ได้ ดังนั้นเมื่อมีการกระทำผิดเมาแล้วขับซ้ำซาก หรือก่อเหตุร้ายแรงจากการเมาและขับ อัยการที่ยื่นฟ้องต้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้พักใช้ใบอนุญาตหรือให้เพิกถอนใบอนุญาตเพื่อป้องกันการก่อเหตุซ้ำซากได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง