รีเซต

แพทย์ ย้ำ เนื้อไก่ไม่ใช่สาเหตุของโรคเกาต์

แพทย์ ย้ำ เนื้อไก่ไม่ใช่สาเหตุของโรคเกาต์
TNN ช่อง16
28 มิถุนายน 2565 ( 18:59 )
296
แพทย์ ย้ำ เนื้อไก่ไม่ใช่สาเหตุของโรคเกาต์

หมอศิริราช เผยการรับประทานเนื้อไก่มากๆ ไม่ได้ทำให้เป็นโรคเกาต์ ผู้ที่มีกรดยูริกในเลือดปกติไม่ต้องกังวล ย้ำรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลากหลาย ส่วนผู้ป่วยโรคเกาต์หรือผู้ที่มีภาวะกรดยูริกในเลือดสูง ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีพิวรีนปริมาณมาก เพื่อลดความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคนี้ได้

ผศ.นพ.ต่อพล วัฒนา อาจารย์ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์เเละกายภาพบำบัด คณะเเพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการรับประทานเนื้อไก่ทำให้เป็นโรคเกาต์ ในความเป็นจริงโรคนี้ไม่ได้เกิดจากการรับประทานเนื้อไก่เลย เพียงแค่อาจจะมีผลกับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเกาต์อยู่แล้ว อย่างไรก็ดี เนื้อไก่ เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพสูง มีประโยชน์ต่อร่างกายและสุขภาพมากมาย เข้าถึงได้ง่าย สามารถรับประทานได้ทุกวัย 


โรคเกาต์ เป็นกลุ่มโรคข้ออักเสบที่มีสาเหตุจากร่างกายไม่สามารถควบคุมระดับยูริกในร่างกายให้สมดุล ทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงผิดปกติเป็นระยะเวลานาน จนเกิดการตกผลึกบริเวณข้อ ก่อให้เกิดอาการปวดกำเริบได้ ค่ากรดยูริกในเลือดปกติสำหรับเพศชายไม่ควรเกิน 7 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และเพศหญิงไม่เกิน 6 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือไม่เกิน 6.8 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เมื่ออิงตามคุณสมบัติทางเคมีซึ่งมีการตกผลึกของเกลือยูเรตในเนื้อเยื่อเมื่อมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่า 6.8 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ที่ 37 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ดี คนที่มีภาวะกรดยูริกในเลือดสูงไม่จำเป็นต้องเป็นโรคเกาต์เสมอไป

กรดยูริกในเลือดส่วนใหญ่ ประมาณร้อยละ 80 ร่างกายสร้างขึ้นเอง ส่วนอีกร้อยละ 20 ได้จากอาหารที่รับประทาน ถือว่ามีผลค่อนข้างน้อยต่อระดับกรดยูริกในร่างกาย นอกจากนี้ อาหารมีส่วนเพิ่มระดับกรดยูริกได้เพียง 1-2 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ดังนั้น การงดอาหารประเภทโปรตีนและอาหารที่มีกรดยูริกสูงจึงไม่มีความจำเป็น และอาหารส่วนใหญ่ที่เรารับประทานกันทั่วไปมักมีสารพิวรีนเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย


อาหารที่มีพิวรีนสูง กลุ่มแรกที่พบมากในพืชประเภทถั่วต่างๆ เช่น ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเขียว รวมทั้งปลาดุก เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ปีกต่างๆ กลุ่มที่สองที่มีระดับพิววรีนรองลงมา จะเป็นเนื้อสัตว์ใหญ่ ปลากะพง ปลาหมึก ถั่วลิสง ใบขี้เหล็ก สะตอ ข้าวโอ๊ต ผักโขม เมล็ดถั่วลันเตา ส่วนกลุ่มสุดท้ายคือ มีปริมาณพิววรีนน้อยจะเป็นประเภทนมต่างๆ ไข่ไก่ ไข่เป็ด ธัญพืช ผลไม้เปลือกแข็ง

แม้ว่าอาหารเหล่านี้จะไม่ใช่สาเหตุโดยตรงของโรคเกาต์โดยตรง แต่ในบางรายสามารถกระตุ้นให้เกิดการอักเสบได้ จึงควรลดปริมาณลง โดยเฉพาะรายที่มีประวัติว่าโรคเกาต์มักกำเริบเมื่อบริโภคอาหารดังกล่าว นอกจากนี้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังมีผลทั้งเป็นอาหารที่มีกรดยูริกสูงและกระตุ้นการสร้างกรดยูริก รวมถึงลดการขับยูริกออกทางไตได้ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคเกาต์ทุกรายควรได้รับคำแนะนำให้งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สุราและเบียร์


สุดท้าย สุขภาพที่ดีต้องเริ่มจากตนเอง เริ่มจากการเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ มีความหลากหลาย เหมาะสม ที่สำคัญ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นพื้นฐานสำคัญของการมีสุขภาพที่ดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง