ไทยพาณิชย์ หั่นเศรษฐกิจไทยปี’63 หดตัวเพิ่ม -7.8% ธุรกิจเสี่ยงเจ๊งพุ่ง-หวั่นเกิดหน้าผาการคลัง
ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี’63 หดตัวเพิ่ม -7.8% น่าห่วงความเปราะบางในตลาดแรงงาน และธุรกิจเสี่ยงปิดกิจการพุ่ง
หั่นเศรษฐกิจติดลบ7.8% - นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center หรือ EIC (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า อีไอซีได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 เป็น -7.8% จากก่อนหน้านี้ประมาณการไว้ -7.3% เพราะพบว่าการฟื้นตัวของหลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีสัญญาณช้าลงหรือมีลักษณะทรงตัวในช่วงหลังนี้ สอดคล้องกับที่อีไอซี คาดการณ์ไว้ว่าการฟื้นตัวจะเป็นไปแบบช้าๆ เนื่องจากยังมีหลายอุปสรรคกดดัน โดยเฉพาะผลของแผลเป็นทางเศรษฐกิจ จากไวรัสโควิด-19 ได้สร้างแผลเป็นต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งปัญหาการปิดกิจการของธุรกิจ และความเปราะบางในตลาดแรงงาน ซึ่งจะเป็นอุปสรรคและความเสี่ยงสำคัญต่อการฟื้นตัวในระยะข้างหน้า
โดยแผลเป็นสำคัญประกอบไปด้วย การปิดกิจการที่เพิ่มมากขึ้น ที่จะส่งผลต่อการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มหดตัวในระดับสูงต่อเนื่อง ซึ่งกลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มธุรกิจโรงแรม, สิ่งทอ และยานยนต์ รวมถึงจะเป็นการซ้ำเติมอีกแผลเป็นทางเศรษฐกิจ คือ ความเปราะบางของตลาดแรงงาน โดยจากข้อมูลล่าสุดในช่วงไตรมาส 2 อัตราว่างงานของไทยเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.95% นับเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี
นอกจากนี้ รายได้ของแรงงานที่ยังมีงานทำก็มีแนวโน้มหดตัวลงมาก -11.5% มาจากชั่วโมงการทำงานที่ลดลง ขณะที่มีจำนวนแรงงานที่ต้องหยุดงานชั่วคราวเพิ่มขึ้นสูงถึง 2.5 ล้านคน สะท้อนความอ่อนแอของตลาดแรงงานที่มีในระดับสูง ซึ่งหากระดับการปิดกิจการและการว่างงานเพิ่มขึ้นในระดับสูงและยืดเยื้อย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้ การบริโภค และการลงทุน ซึ่งนับเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ
“หากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 ทำให้ต้องมีมาตรการล็อกดาวน์เข้มอีกครั้ง ไออีซีประมาณการว่าเศรษฐกิจไทยขั้นร้ายแรงสุดจะ -10% ถึง -11% โดยตัวเลขเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2 ที่ -12.2% แต่การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างช้าๆ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีอุปสรรคต่อการฟื้นตัว ทั้ง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2563 ที่ ไออีซีปรับลดคาดการณ์ลงเหลือเพียง 6.7 ล้านคน ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว และการหดตัวที่ลดลงของภาคส่งออกคาดมูลค่าส่งออกหดตัวที่ 10.4%”
ขณะเดียวกันเม็ดเงินช่วยเหลือจากภาครัฐภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่มีแนวโน้มเข้าสู่เศรษฐกิจในปีนี้น้อยกว่าที่คาด ประมาณ 4-5 แสนล้านบาท จากเดิมที่คาดไว้ 6 แสนล้านบาท รวมถึงเม็ดเงินช่วยเหลือที่จะน้อยลงมากในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี ซึ่งทำให้เกิดปัญหาหน้าผาทางการคลัง และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนบางกลุ่มที่ยังต้องการความช่วยเหลือ
ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 จะไม่ทันบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ในภาพรวมมองว่าไม่ส่งผลกระทบมาก โดยงบประมาณรายจ่ายประจำใช้ในกรอบเดิม แต่จะทำให้การลงทุนของภาครัฐอาจจะล่าช้าไปบ้าง แต่ปีนี้การลงทุนภาครัฐยังขยายตัวได้ ด้านนโยบายการเงิน คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.5% ตลอดทั้งปี ควบคู่กับการใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการส่งผ่านนโยบายการเงินไปยังเศรษฐกิจจริง รวมทั้งมาตรการรองรับปัญหาหนี้เสียและสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น