รีเซต

ศก.ไตรมาส2ร่วงแรง! ติดลบหนัก12.2% สภาพัฒน์หั่นจีดีพีทั้งปีคาด -7.8% ถึง -7.3% โดยมีค่ากลางที่ -7.5%

ศก.ไตรมาส2ร่วงแรง! ติดลบหนัก12.2% สภาพัฒน์หั่นจีดีพีทั้งปีคาด -7.8% ถึง -7.3% โดยมีค่ากลางที่ -7.5%
ข่าวสด
17 สิงหาคม 2563 ( 13:02 )
63
ศก.ไตรมาส2ร่วงแรง! ติดลบหนัก12.2% สภาพัฒน์หั่นจีดีพีทั้งปีคาด -7.8% ถึง -7.3% โดยมีค่ากลางที่ -7.5%

สภาพัฒน์กางตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ร่วงแรง -12.2% หั่นจีดีพีทั้งปีคาดติดลบ 7.5% แต่มีเงื่อนไขคุมโควิดรอบ 2 ได้-สหรัฐไม่ขยายสงครามการค้า-ภัยแล้งไม่ลามไปมากกว่านี้

 

ศก.ไตรมาส2ร่วงแรง - นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช. หรือสภาพัฒน์) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 2 ปี 2563 (มี.ค.-มิ.ย.) ว่า เศรษฐกิจในไตรมาสที่ผ่านมาจีดีพีติดลบ 12.2% สาเหตุมาจากปัจจัยลบต่างๆ คือ การที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการถดถอยของเศรษฐกิจที่ซบเซาทั่วโลก ซึ่งเห็นได้จากตัวเลขจีดีพีของแทบทุกประเทศติดลบเฉลี่ย 10% ยกเว้นจีนที่ยังขยายตัว 3.2% และเวียดนามขยายตัว 0.4%. ซึ่งเป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการล็อกดาวน์ ปิดสถานประกอบการต่างๆ ตามมาตรการการเฝ้าระวังโควิด-19 ไม่ให้มีการแพร่ระบาด รวมทั้งการส่งออกที่ติดลบ 10% ทำให้จีดีพีหดตัวลงมาก การลงทุนรวมในไตรมาสก่อนลดลง 8% การบริโภคเอกชนลดลง 6.6%

 

สำหรับเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกติดลบ 6.9% การลงทุนรวมลดลง 7.2% การลงทุนรวมลงลง 10.2% ขณะที่การลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้น 1.2% การส่งออกครึ่งปีแรกลดลง 17.8%

 

นอกจากนี้ สภาพัฒน์ยังปรับประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ของไทยลงโดยคาดว่าจะติดลบ -7.8% ถึง -7.3% โดยมีค่ากลางที่ -7.5% จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ในช่วง -5% ถึง -6% หรือมีค่ากลางที่ -5.5%

 

โดยการปรับประมาณการจีดีพีในปีนี้อยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าหากมีการระบาดของโควิด-19 ในรอบ 2 จะต้องสามารถควบคุมได้ไม่มีการระบาดในวงกว้าง สหรัฐอเมริกาไม่มีขยายการทำสงครามการค้าออกไป จนกระทบต่อการเกิดหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอล หรือกระทบต่อภาคการเงินหรือสถาบันการเงิน ภัยแล้งไม่ขยายตัวไปมากกว่านี้ รวมทั้งการขยายตัวเศรฐกิจโลกอยู่ที่ 4.5% ราคาน้ำมัน 40 เหรียญต่อบาร์เรล ค่าเงินบาทอยู่ที่ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

 

สำหรับแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากนี้นั้น ภาครัฐต้องขับเคลื่อนการส่งออกแก้ปัญหาภัยด้วยการจัดการน้ำ เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐให้ได้ตามเป้าที่กำหนดไว้เพราะเป็นเพียงปัจจัยเดียวที่จะช่วยพยุงสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ และต้องป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดรอบ 2 ของโควิด-19 และต้องดูแลรักษาบรรยากาศทางการเมือง เพราะถ้ามีปัจจัยทางการเมือง เกิดความวุ่นวายขึ้นมาอีกก็จะเกิดปัญหาซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจในช่วงนี้

 

ส่วนการชุมนุมจะมีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยหรือไม่อย่างไรนั้น สศช. ยังไม่ได้การประเมินผลกระทบ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง