รีเซต

โควิด-19 : ทรัมป์ถูกนานาชาติวิจารณ์ หลังประกาศงดให้เงินอุดหนุนองค์การอนามัยโลก

โควิด-19 : ทรัมป์ถูกนานาชาติวิจารณ์ หลังประกาศงดให้เงินอุดหนุนองค์การอนามัยโลก
บีบีซี ไทย
16 เมษายน 2563 ( 04:45 )
108
โควิด-19 : ทรัมป์ถูกนานาชาติวิจารณ์ หลังประกาศงดให้เงินอุดหนุนองค์การอนามัยโลก
Reuters

เลขาธิการสหประชาชาติ และผู้นำชาติต่าง ๆ วิจารณ์การตัดสินใจของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ประกาศระงับการสนับสนุนงบประมาณให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ขณะที่ทั้งโลกกำลังเผชิญกับการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19

บิล เกตส์ มหาเศรษฐีชั้นนำของโลกชาวอเมริกัน และผู้สนับสนุนด้านการเงินรายใหญ่ของ WHO บอกว่าการตัดสินใจของสหรัฐฯ "เป็นอันตรายยิ่ง" ขณะที่ นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) บอกว่า ขณะนี้ "ยังไม่ใช่เวลา" ที่จะมาตัดเงินสนับสนุนแก่ WHO

"ผมเชื่อว่าองค์การอนามัยโลกต้องได้รับการสนับสนุน เพราะถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความพยายามของประชาคมโลกในการชนะศึกสงครามกับโรคโควิด-19" นายกูเตร์เรส กล่าว

ด้าน นายเทดรอส อาดานอม เกเบรเยซัส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก บอกว่า "เราไม่ควรเสียเวลาไปกว่านี้" ความสนใจเดียวที่ WHO มีอยู่ในขณะนี้ คือ การยุติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

"สหรัฐอเมริกาเป็นเพื่อนที่โอบอ้อมอารีต่อ WHO มาอย่างยาวนาน และเราหวัง่าจะยังคงเป็นต่อไป"

https://twitter.com/BillGates/status/1250292126643941376

ทำไม สหรัฐฯ เลิกสมทบทุน WHO

นายทรัมป์ แถลงเมื่อ 14 เม.ย. ว่าจะยุติให้งบประมาณสนับสนุนแก่องค์การอนามัยโลก เนื่องจาก "ล้มเหลวในการปฏิบัติทำหน้าที่หลักของตนเอง" ในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

นายทรัมป์กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก "บริหารงานผิดพลาดอย่างร้ายแรง และปกปิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา" และอธิบายว่า สหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนหลักขององค์การอนามัยโลก ด้วยภาษีของชาวอเมริกันปีละ 400 - 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (1.3-1.6 หมื่นล้านบาท)

"หาก WHO ได้ทำหน้าที่ของตัวเองโดยการส่งผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เข้าไปประเมินสถานการณ์ในจีนอย่างตรงไปตรงมา และเปิดเผยความไม่โปร่งใสของทางการจีนแล้ว การระบาดของโรคก็อาจเกิดในวงจำกัดและไม่มีผู้เสียชีวิตมากมาย"

Getty Images

ทั้งนี้ นายทรัมป์ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องถึงการตัดสินใจที่ล่าช้าในการรับมือกับไวรัสโคโรนาในสหรัฐฯ เช่นกัน

ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกามียอดผู้ติดเชื้อมากกว่า 600,000 คน และจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 26,000 ราย ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม นายทรัมป์กล่าวหา WHO ว่าล้มเหลวในการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดตั้งแต่ช่วงแรกที่ไวรัสเริ่มระบาดในเมืองอู่ฮั่น ประทศจีน

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบขาวชี้ว่า นายทรัมป์เคยยกย่องการรับมือโรคระบาดครั้งนี้ของจีน และยังเคยสบประมาทความร้ายแรงของไวรัสชนิดนี้ด้วย

หลังจากทรัมป์ประกาศระงับการเดินทางเข้าสหรัฐฯ จากจีนเมื่อปลาย ม.ค. องค์การอนามัยโลกไม่ได้ตำหนิการตัดสินใจนี้โดยตรง แต่ยังคงยืนกรานว่า ไม่แนะนำให้ยกเลิกเที่ยวบินหรือการค้าแต่อย่างใด

https://twitter.com/realDonaldTrump/status/1220818115354923009?s=20

WHO คือใคร

องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1948 อยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การสหประชาชาติ (UN) และมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครเจนีวา สวิซเซอร์แลนด์ ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 194 ประเทศ

พันธกิจของ WHO คือ การดูแลการสาธารณสุขของโลก โดยมุ่งหมายว่าจะ "รณรงค์ด้านสุขภาวะ ปกป้องโลกให้ปลอดภัย และรับใช้ผู้เปราะบาง" ด้วยทุนสนับสนุนจากค่าสมาชิกซึ่งคำนวณจากความมั่งคั่ง จำนวนประชากร และความสมัครใจในการสมทบทุน

สหรัฐอเมริกาเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่สุดของ WHO โดยระหว่างปี 2018 - 2019 ได้มอบเงินเป็นจำนวน 400 ล้านเหรีญสหรัฐฯให้องค์การดังกล่าว ซึ่งคิดเป็น 15% ของงบประมาณรวม ส่วนจีนสมทบทุนประมาณ 86 ล้านเหรีญสหรัฐฯ

ผู้มอบเงินสนับสนุนที่สำคัญลำดับสอง คือ มูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ ซึ่งก่อตั้งโดยมหาเศรษฐีชาวอเมริกันเจ้าของบริษัทไมโครซอฟต์ บิล เกตส์ และภรรยาของเขา เมลินดา เกตส์ นั่นเอง เงินจากมูลนิธินี้คิดเป็น 9.76% ในงบประมาณของ WHO

เมื่อเดือน มี.ค. WHO ตั้งเป้าระดมทุน 675 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และล่าสุด ยังมีรายงานข่าวระบุว่า WHO กำลังเตรียมการเปิดระดมทุนเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

AFP
นายเทดรอส อาดานอม เกเบรเยซัส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (คนกลาง) ที่การแถลงข่าว

WHO และคำครหา

องค์การอนามัยโลกถูกหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามเป็นจำนวนมากตั้งแต่เกิดวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ ยกตัวอย่างตามลำดับเวลา เช่น เมื่อก.พ. ที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกเมินคำยืนกรานของ WHO ที่แนะว่าไม่จำเป็นต้องระงับการเดินทางเพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนา

เดือน มี.ค. WHO ถูกกล่าวหาว่าตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีนแผ่นดินใหญ่ เมื่อผู้สื่อข่าวช่อง RTHK จากฮ่องกงถาม บรูซ เอลวาร์ด ผู้ช่วยผู้อำนวยการขององค์การดังกล่าว ว่า WHO จะพิจารณาให้ไต้หวันเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์กรอีกครั้งหรือไม่ เอลวาร์ดตกอยู่ในความเงียบไปชั่วขณะ แล้วจึงบอกว่าไม่ได้ยิน และขอคำถามถัดไป

EPA
ชาวไต้หวันสวมหน้ากากอนามัยขณะเกิดการระบาดในประเทศ

เมื่อผู้สื่อข่าวถามคำถามเดิมซ้ำอีกครั้ง เอลวาร์ดก็ดูเหมือนจะวางสายไป ผู้สื่อข่าวจึงต่อสายหาเขาอีกครั้งแล้วถามประเด็นเดิม เอลวาร์ดจึงตอบกลับมาว่า "เราพูดถึงประเทศจีนกันไปแล้วนี่ครับ" ซึ่งแสดงให้เห็นถึงหลักการของจีนแผ่นดินใหญ่ที่ยึดมั่นว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ แม้ว่าไต้หวันจะมองตัวเองเป็นอีกประเทศก็ตาม

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขบางรายยังกล่าวว่า คำแนะนำว่าไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยของ WHO ยังสร้างความสับสนให้กับประชาคมโลกอีกด้วย

https://twitter.com/nathanlawkc/status/1243889673207832577

บาร์บาร่า เพลช-อัชเชอร์ ผู้สื่อข่าวบีบีซี ประจำกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า ในแง่หนึ่งท่าทีครั้งนี้ของสหรัฐฯ เกี่ยวข้องกับประเด็นไวรัสโคโรนา เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐหลายคนได้วิจารณ์ WHO อย่างหนักว่า ลำเอียงและเข้าข้างคำพูดจากจีนในช่วงแรกของการระบาด และไม่กดดันจีนที่พยายามปกปิดข้อมูลเท็จ

แต่อีกแง่หนึ่ง การที่สหรัฐฯ ระงับการให้ทุนแก่ WHO ครั้งนี้ ก็เป็นการพยายามตัดตอนอิทธิพลของจีนที่กำลังแผ่ขยายไปทั่วโลกด้วยเช่นกัน การที่จีนได้บทบาทเป็นผู้นำในองค์กรระดับนานาชาตินั้นบั่นทอนระบบกติกาสากลที่ต้องพึ่งความโปร่งใส ซึ่งจำเป็นต่อการป้องกันและรับมือโรคระบาดครั้งใหญ่

ปฏิกริยานานาชาติ

- อังกฤษ โฆษกของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน แถลงว่า งสหราชอาณาจักร ไม่มีแผนที่จะระงับเงินอุดหนุนแก่ WHO พร้อมระบุว่า องค์การอนามัยโลก "มีบทบาทสำคัญในขณะนี้ในการนำการต่อสู้กับวิกฤตสาธารณสุขของโลก"

- เยอรมนี นายไฮโค มาส รมว. ต่างประเทศ ทวีตว่า การเพิ่มขีดความเข้มแข็งให้แก่องค์การอนามัยโลกที่กำลัง "ขาดแคลนทุนทรัพย์" เป็นการลงทุนที่เยี่ยมยอดที่สุดวิธีหนึ่ง ที่พึงกระทำในขณะนี้

- จีน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ การตัดสินใจของนายทรัมป์จะเป็นการ "กัดเซาะความร่วมมือในระดับนานาชาติ" ในการสู้กับไวรัส

- สหภาพยุโรป นายโจเซฟ บอร์เรลล์ ประธานด้านนโยบายต่างประเทศของอียู บอกว่า ไม่มีความชอบธรรมใดเลยสำหรับการกระทำเช่นนั้นในภาวะที่ WHO "มีความจำเป็นยิ่งกว่าครั้งใดใด"

- ออสเตรเลีย นายสก็อต มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เขาเข้าใจดีต่อข้อวิจารณ์ของประธานาธิบดีทรัมป์ แต่เขาเห็นว่า WHO กำลัง "ทำงานสำคัญมาก"

- นิวซีแลนด์ นางจาซินดา อาร์เดิร์น กล่าวว่า WHO "ให้คำแนะนที่เราเชื่อได้"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง