"ตู้คีบตุ๊กตา" ใช่การพนันหรือไม่? เมื่อความนิยม กลายเป็นการเสพติด

จริง ๆ แล้ว “ตู้คีบตุ๊กตา” เป็นการพนันไหม?
เสียงกลไกตู้ดัง “แกร๊ก” แล้วแขนเหล็กค่อยๆ ยื่นออกไปคว้าตุ๊กตานุ่มฟู คนยืนลุ้นจนแทบลืมหายใจ จะคีบได้ไหม? และถ้าไม่ได้ ก็พร้อมจะหยอดเหรียญใหม่อีกครั้ง คำถามคือ
นี่คือความบันเทิงทั่วๆไปในห้าง/ตลาดนัด หรือคือรูปแบบหนึ่งของการพนันที่ถูกทำให้ดูน่ารักขึ้น?
นิยามของการพนัน
“การพนัน” ตามหลักจิตวิทยาและกฎหมายคืออะไร?
โดยทั่วไป การพนัน (Gambling) คือ “การวางเงินหรือสิ่งของ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเสีย โดยมีแรงจูงใจจากการเสี่ยงเพื่อให้ได้รางวัล โดยไม่สามารถควบคุมผลลัพธ์ได้ทั้งหมด
นิยามของ "การติดการพนัน"
ในแง่จิตเวช การติดการพนัน (Gambling Disorder) มีนิยามชัดเจนจาก DSM-5 (คู่มือการวินิจฉัยโรคจิตเวชของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน) ว่าบุคคลมีพฤติกรรมการพนันซ้ำๆ จนส่งผลกระทบต่อชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีอาการอย่างน้อย 4 ข้อขึ้นไปใน 12 เดือน เช่น
- หมกมุ่นกับการพนัน
- เพิ่มจำนวนเงินที่ใช้เพื่อให้ได้ความรู้สึกตื่นเต้นเท่าเดิม
- พยายามลดแต่ทำไม่ได้
- หงุดหงิดเวลาพยายามเลิก
- เล่นเพื่อหนีความทุกข์
- โกหกคนรอบข้างเรื่องการพนัน
- เสี่ยงเสียงาน ความสัมพันธ์เพราะการพนัน
แล้วตู้คีบตุ๊กตาเข้าเกณฑ์หรือไม่?
หากมองจากมุมสุขภาพจิต “ตู้คีบตุ๊กตา” อาจไม่ใช่การพนันตาม เกณฑ์ของจิตแพทย์ แต่ก็อาจกลายเป็นพฤติกรรมเสพติดคล้ายการพนันได้ในบางกรณี ดังนี้...
คล้าย/ใกล้เคียงที่จะเรียกว่าการพนัน เพราะ
- มีการ “วางเงิน” เพื่อให้ได้ “รางวัล” ที่ไม่แน่นอน
- มีแรงกระตุ้นจาก Near Miss Effect (เกือบได้แต่ไม่ได้ ทำให้ดึงดูดยิ่งกว่าการแพ้ตรงๆชัดๆ)
- บางคนหยอดซ้ำๆจนเสียเงินหลักร้อยเพื่อ “ตุ๊กตา 1 ตัว”
ยังไม่เหมือนการพนัน เพราะ
- ไม่มีระบบสะสมแต้ม หรือกำไรในรูปของเงิน
-ถูกจัดให้เป็น “เกมเสี่ยงโชคเพื่อความบันเทิง” (amusement device) (ในบางพื้นที่)
สัญญาณที่ควรเริ่มกังวล
- หยอดซ้ำแม้รู้ว่าเสียไปเยอะ
- โกหกคนรอบข้างว่า “แค่เล่นนิดหน่อย”
- เล่นเพื่อหนีความเครียดหรือความเหงา
- ใช้เงินเกินงบเพราะคิดว่า “คราวหน้าต้องได้”
สรุป “ตู้คีบตุ๊กตา” ในมุมทางจิตเวช อาจยังไม่ใช่การพนันอย่งเต็มตัว แต่หากผู้เล่น เล่นจนเกิดผลเสีย ควบคุมตัวเองไม่ได้ สูญเสียเงิน-เวลา-ความสัมพันธ์ ก็อาจเข้าสู่ขอบเขตของพฤติกรรมคล้ายติดการพนันได้ การรู้เท่าทันและสังเกตใจตนเอง คือกุญแจสำคัญ