ญี่ปุ่นเผยนวัตกรรมวัด "แผ่นดินไหว" เตือนสึนามิเร็วขึ้น 20 นาที

รู้หรือไม่ ? ญี่ปุ่นเตรียมการรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิ ด้วยการติดตั้งเครือข่ายเซ็นเซอร์และสายเคเบิลใต้ทะเลที่ทันสมัย ซึ่งมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงระบบเตือนภัยล่วงหน้าได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งก็คือเครือข่าย N-net (Nankai Trough Seafloor Observation Network for Earthquakes and Tsunamis) ที่จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหว และการเคลื่อนของเปลือกโลก ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าของแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้
เทคโนโลยีเครือข่าย N-net
เทคโนโลยีหลักของ N-net มูลค่า 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.89 พันล้านบาทนี้ ครอบคลุมเขตมุดตัวของเปลือกโลกนันไคส่วนที่เหลือ โดยเชื่อมต่อกันด้วย สายเคเบิลยาวกว่า 1,609 กิโลเมตร และหอสังเกตการณ์ 36 แห่งของ N-net ทำให้ระบบตรวจจับแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นสมบูรณ์
โดย N-net คือ เครือข่ายเซ็นเซอร์และสายเคเบิลใต้ทะเล ช่วยให้สามารถตรวจจับแผ่นดินไหวได้ใกล้แหล่งกำเนิดมากขึ้น ทำให้มีเวลาเตือนภัยแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ เพิ่มขึ้น 22 วินาที ที่ประกอบด้วยชุดเครื่องมือวัดความไหวสะเทือน (Seismometers) และเซ็นเซอร์ความดัน (Pressure Sensors) จำนวนมาก ซึ่งติดตั้งอยู่ตามแนวร่องลึกใต้ทะเลที่เป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวสำคัญ รวบรวมข้อมูลจากโหนดเครื่องมือวัดกว่า 200 จุด ซึ่งประกอบด้วยเครื่องวัดแผ่นดินไหวและเซ็นเซอร์ความดัน และข้อมูลจากสถานี GPS ใต้ทะเลอีก 24 จุด
หลังจากนั้นข้อมูลที่รวบรวมได้จากเซ็นเซอร์เหล่านี้จะถูกส่งผ่านสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (Optical Fiber) ไปยังศูนย์วิเคราะห์บนภาคพื้นดินแบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ และระบบจะครอบคลุม เขตมุดตัวของเปลือกโลกทั้งสองแห่ง ซึ่งคือร่องนันไค (Nankai Trough) และร่องลึกญี่ปุ่น (Japan Trench) อย่างสมบูรณ์
ระบบยังบูรณาการเข้ากับระบบเตือนภัยล่วงหน้าแห่งชาติอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งจะช่วยเพิ่มเวลาอันมีค่าให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน คาดการณ์ว่า N-net จะสามารถเพิ่มเวลาเตือนภัยแผ่นดินไหวขนาดใหญ่บริเวณร่องนันไค (Nankai) ได้อีก 22 วินาที และเตือนภัยสึนามิได้ล่วงหน้าถึง 20 นาที
นอกจากประโยชน์ด้านการเตือนภัยแล้ว เครือข่าย N-net ยังเป็นขุมทรัพย์ข้อมูลอันล้ำค่าสำหรับนักวิทยาศาสตร์ในการศึกษาปรากฏการณ์การเลื่อนตัวอย่างช้า ซึ่งเชื่อกันว่ามีความเชื่อมโยงกับการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ การเฝ้าสังเกตการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกอย่างใกล้ชิดด้วยเซ็นเซอร์ที่มีความละเอียดสูง จะช่วยให้นักวิจัยเข้าใจกลไกการเกิดแผ่นดินไหวได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และอาจนำไปสู่การพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์แผ่นดินไหวที่มีความแม่นยำสูงขึ้นในอนาคต
การลงทุนในเทคโนโลยีเฝ้าระวังแผ่นดินไหวใต้ทะเลของญี่ปุ่นในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ และเป็นแบบอย่างให้กับประเทศอื่น ๆ ที่เผชิญกับความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวและสึนามิในการพัฒนาระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
