นายกฯ หารือเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ ย้ำน้ำท่วมน้ำแล้งเป็นวาระแห่งชาติ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อประเมินสถานการณ์เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ และพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมในวันนี้ สืบเนื่องจากเมื่อครั้งที่นายกรัฐมนตรี ได้เคยเชิญประชุมการบริหารจัดการน้ำเมื่อเดือนที่แล้ว เพื่อเป็นการรับมือสถานการณ์น้ำโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลซึ่งการดำเนินการได้รับผลอย่างดี โดยครั้งนี้เป็นครั้งแรก ที่เชิญทุกคนมาประชุมหารือ เพื่อประเมินสถานการณ์เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำทั้งประเทศ วางแนวทางในการแก้ไขปัญหาในเชิงรุกร่วมกัน เพื่อจะได้บรรเทาผลกระทบให้น้อยที่สุดและบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
อย่างไรก็ตาม ปัญหาบางอย่างอาจจะแก้ไขยากหากดำเนินการเพียงหน่วยงานเดียว แต่หากประสานงานกันให้ดีและร่วมมือกันประสิทธิภาพก็จะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้โครงการ และกิจกรรมต่าง ๆ ของรัฐบาล ที่ดำเนินการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 นั้น หลาย ๆ โครงการมีความเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ เช่น โครงการแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ โครงการพัฒนา 72 สายน้ำอย่างยั่งยืน ตลอดจนยังเป็นการน้อมนำแนวพระราชดำริ พระราชปณิธาน และพระบรมราโชบายเกี่ยวกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่ดีกินดี ดังนั้นวันนี้จึงขอติดตาม และรับฟังปัญหาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการบูรณาการแก้ไขเตรียมความพร้อม และแนวทางช่วยเหลือประชาชนในการรับมือกับปัญหาน้ำ โดยอยากให้ทุกภาคส่วนร่วมกันวางแผน มีกรอบเวลาที่ชัดเจน และตัวชี้วัดที่มีคุณภาพซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุนเต็มที่
นายกฯ ได้รับทราบและติดตามสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน และแนวโน้มสถานการณ์น้ำ จาก สนทช. และรับฟังการเตรียมการในด้านต่าง ๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกทม. เช่น การเตรียมความพร้อมรับมือช่วยเหลือประชาชน โดย 10 มาตรการรับมือฤดูฝน (ในช่วงสิงหาคม - ตุลาคม) การบริหารจัดการลุ่มน้ำเจ้าพระยา การบริหารจัดการกลุ่มลุ่มน้ำชี-มูล โดยเฉพาะการเปิด - ปิดประตูระบายน้ำให้มีความสัมพันธ์กับสถานการณ้ำที่เกิดขึ้น การบริหารจัดการน้ำในสภาวะวิกฤต (3 ระดับ) โดยขับเคลื่อนแผนฯ ไปสู่การปฏิบัติ มีกลไกแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ประชาชนให้รับทราบสถานการณ์น้ำเพื่อประชาชนพร้อมรับมือสถานการณ์ได้ทันท่วงที
การจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ภาคใต้ จ.ยะลา ภาคกลาง จ.พระนครศรีอยุธยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุบลราชธานี) การสำรวจความพร้อมระบบระบายน้ำบึงหนองบอน กรุงเทพฯ ซึ่ง สทนช. ร่วมกับกรมชลประทาน กทม. ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการเตรียมความพร้อมมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 67 โดยสำรวจความพร้อมระบบชลประทานและอุโมงค์ระบายน้ำ ณ ศูนย์การเรียนรู้การจัดการบึงหนองบอน พร้อมติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำส่วนต่อขยายจากบึงหนองบอนถึงคลองประเวศบุรีรมย์และคลอง 4 การปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจสำคัญอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ กทม. ได้สำรวจและเตรียมความพร้อมของสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำและอุโมงค์ระบายน้ำต่าง ๆ ให้สามารถใช้งานได้จริง การสำรวจและติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวประจำจุดเสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก การจัดเตรียมพื้นที่แก้มลิงเพื่อรองรับน้ำ รวมทั้งการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง และพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันที อีกทั้งยังรับทราบรายงานเกี่ยวกับการพยากรณ์อากาศและสถานการณ์ฝนเพื่อแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบ รวมถึงการที่ต้องติดตามสถานการณ์ฝนในช่วงระยะใกล้เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบในการเตรียมความพร้อมรับมือและปรับแผนปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำถึงสถานการณ์น้ำท่วมน้ำแล้งถือเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญ โดยทุกหน่วยงานต้องมีการวางแผนกันให้รอบคอบ โดยเฉพาะในช่วงระยะสั้น 3 เดือน ทั้งนี้ ได้เน้นถึงการทำงานของทุกหน่วยงานให้มีการประสานงานกันในการทำงานให้ดีขึ้นและมีความเป็นเอกภาพ มีการมองปัญหาเพื่อวางแผนการทำงานไปถึงอนาคตให้เกิดประสิทธิผลตามเป้าหมาย ซึ่งแม้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมจะยังมีอยู่ แต่ขอให้เกิดขึ้นน้อยที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ รวมไปถึงเรื่องของการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาก็มีส่วนสำคัญ ดังนั้นการประสานงานร่วมกันของทุกหน่วยงานอย่างต่อเนื่องใกล้ชิดถือเป็นเรื่องหลักและสำคัญ การที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มาหารือกันวันนี้ทำให้ได้หลักการทำงานและแนวทางที่จะดำเนินการกันต่อไป
พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ รองรับสถานการณ์น้ำ ดังนี้
1) การเตรียมพร้อมเพื่อรับสถานการณ์น้ำ
(1) เพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพของแหล่งกักเก็บน้ำ และพื้นที่ทุ่งนาน้ำ
(2) พื้นที่ลุ่มต่ำ จุดเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก ต้องระบายให้รวดเร็ว เพราะจะเกิดน้ำเน่าในพื้นที่ท่วมขัง
(3) พื้นที่เศรษฐกิจ ชุมชนเมือง ต้องป้องกันน้ำเข้า หากเกิดน้ำไหลหลาก หรือน้ำท่วมฉับพลัน
(4) ต้องมีแผนเร่งระบายน้ำ หน่วยงานต้องมาร่วมกันดูแลอย่างเป็นเอกภาพ วางแผนและดำเนินการที่ดี
(5) สิ่งกีดขวางทางน้ำ ต้องเร่งเคลียร์ทางน้ำก่อนที่น้ำจะมา เช่น ผักตบชวา วัชพืช ความตื้นเขิน ซึ่งตรงนี้ทางกองทัพมีศักยภาพสูงที่สามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว
(6) ตรวจเช็คความแข็งแรงของอาคารชลประทาน คันกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำ
2) การเตือนภัย กรมอุตุฯ แจ้งพยากรณ์อากาศ และการเตือนภัย ต้องชัดเจน แม่นยำ
3) ประมาณการพื้นที่เกษตรกรรมที่จะได้รับผลกระทบมากน้อยขนาดไหน เพราะส่งผลกระทบมากต่อผลผลิต ราคา และความเดือดร้อนของเกษตรกร
4) แผนการดูแลและช่วยเหลือประชาชนหากมีสถานการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้น เช่น การอพยพ พื้นที่พักอาศัยชั่วคราว เวชภัณฑ์ เรือ เป็นต้น
ทั้งนี้ ขอขอบคุณทุกหน่วยงานรวมทั้งหน่วยงานความมั่นคงที่ช่วยกันแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ผ่านมาซึ่งปัญหาเรื่องน้ำท่วมน้ำแล้งเป็นวาระแห่งชาติซึ่งต้องมีการวางแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาวด้วย โดยขอให้ทุกหน่วยงานทำงานอย่างมีเอกภาพ และมีการประสานงานกันให้ดี
ภาพจาก รัฐบาลไทย