รีเซต

สสว.อัด 80 ลบ. แจกเวาเชอร์เอสเอ็มอีรายเล็ก จ่ายค่าปรึกษาเฉพาะด้าน

สสว.อัด 80 ลบ. แจกเวาเชอร์เอสเอ็มอีรายเล็ก จ่ายค่าปรึกษาเฉพาะด้าน
มติชน
28 กันยายน 2563 ( 11:00 )
45
สสว.อัด 80 ลบ. แจกเวาเชอร์เอสเอ็มอีรายเล็ก จ่ายค่าปรึกษาเฉพาะด้าน

สสว.ดึงงบ 80 ล้านบาท นำร่องโครงการแจกเวาเชอร์เอสเอ็มอีรายเล็ก จ่ายค่าปรึกษาเฉพาะด้าน หวังยกระดับธุรกิจใหม่ช่วงเศรษฐกิจทรุด

 

น.ส.วิมลกานต์ โกสุมาส รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยภายหลังร่วมงานสรุปผลยุทธศาสตร์การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผ่านทางกลไกของหน่วยงานให้บริการเพื่อการพัฒนาธุรกิจ (บีดีเอส) ว่า สสว.ได้เตรียมงบประมาณประมาณ 80 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาโมเดล บีดีเอส ดังกล่าว เพื่อสร้างผู้ให้คำปรึกษาด้านธุรกิจกับเอสเอ็มอี โดยเฉพาะกลุ่มไมโครที่ปัจจุบันได้รับผลกระทบจากโควิด และสถานการณ์เศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งจะเป็นการให้เวาเชอร์(ใบรับรอง)​สำหรับเอสเอ็มอีที่ต้องการจะรับการสนับสนุนในทุกด้าน ทั้งเรื่องฝึกอบรม ปรับโมเดลธุรกิจ การทำมาตรฐานสินค้าหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงการดำเนินกิจกรรมด้านการเงิน

 

“โมเดลดังกล่าวจะคล้ายกับโมเดลของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมถึงสิงคโปร์ที่ใช้วิธีนี้เป็นการสนับสนุนเอสเอ็มอีในประเทศ โดยเราจะรวบรวมผู้ประกอบการ เอกชน สถาบันต่าง ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และพร้อมให้ความรู้กับเอสเอ็มอีเพื่อพัฒนาศักยภาพของธุรกิจเข้ามาร่วมกับโครงการ เบื้องต้นได้ร่วมมือกันประมาณ 10 แห่ง ครอบคลุมทุกด้านทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การวางแผนธุรกิจ ธุรกรรมด้านการเงิน หรือช่องทางการตลาด ให้เอสเอ็มอีที่ต้องการจะเข้าอบรมหรือต้องการคำแนะนำเข้ามาปรึกษาได้ถูกจุด โดยสสว.จะให้เป็นเวาเชอร์สำหรับช่วยเหลือค่าใช้จ่าย โดยเบื้องต้นมองไว้ที่ประมาณ 50% ของค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมทั้งหมด”น.ส.วิมลกานต์กล่าว

 

ทั้งนี้โมเดลดังกล่าวจะต้องมีการศึกษาข้อมูล วางแผนการดำเนินงาน รวมถึงกำหนดราคาหรือแพคเกจให้เหมาะสมกับประเภทกิจการนั้น ๆ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ และในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 จะเริ่มดำเนินการได้ ซึ่งจะเน้นไปที่กลุ่มเอสเอ็มอีที่พอมีศักยภาพและพร้อมที่จะสำรองค่าใช้จ่ายบางส่วนด้วยตัวเองได้ ก่อนที่จะนำไปขยายผลสู่กลุ่มอื่น ๆ โดยมีเป้าหมายทำให้เอสเอ็มอีนั้นเกิดการพัฒนาธุรกิจเฉพาะจุด สามารถลดต้นทุนทางธุรกิจได้จริง และใช้เครื่องมือที่เหมาะสมในการดำเนินงาน ซึ่งปัจจุบันการค้าแบบ O2O หรือ ออนไลน์ ถึง ออนไลน์นั้นมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ตาม กลุ่มไมโครตอนนี้น่าเป็นห่วงเนื่องจากบางรายนั้นไม่มีการวางแผนในการดำเนินธุรกิจ ไม่มีที่ปรึกษา และไม่รู้ว่าจะต้องปรับตัวไปในทิศทางไหน ซึ่งจากการหารือเบื้องต้นกับเอสเอ็มอีนั้น ส่วนใหญ่มีความต้องการที่จะปรับปรุงธุรกิจให้ดีขึ้น แต่ยังเข้าไม่ถึงบริการว่าจะต้องไปหาใคร ที่ไหน หรือบางแห่งก็จะมีค่าใช้จ่ายที่แพงในการให้คำปรึกษา ทำให้กลุ่มเอสเอ็มอีนั้นไม่มีต้นทุนเพียงพอที่จะมาลงทุนด้านนี้ และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้น โดยโครงการนี้จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างดี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง