ลูกจ้างเสี่ยงตกงานเพิ่ม โควิดรอบใหม่แพร่สะพัด
รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยแจ้งว่า ได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์การจ้างงานในองค์กร โดยผลสำรวจระบุว่าสถานการณ์เลิกจ้างในเดือนมี.ค.64 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 3.4% จาก 7.4% ในเดือนม.ค.63 แต่อัตราการลดเวลาการทำงานล่วงเวลายังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงเดิม ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการว่างงานจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ที่ระบุว่าอัตราการว่างงานปรับลดลงอยู่ที่ 1.5% ในเดือนธ.ค. 63 แต่จำนวนผู้เสมือนว่างงาน (ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน) ยังคงปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2,470 คนบ่งชี้ว่า แม้ว่าจะยังมีงานทำแต่แรงงานส่วนมากมีรายได้ที่ลดลง ความเปราะบางของตลาดแรงงานจะยังคงเป็นปัจจัยกดดันกำลังซื้อของครัวเรือนต่อเนื่อง
โดยล่าสุดสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มกลับมาระบาดในช่วงต้นเดือนเม.ย. ที่มีจุดศูนย์กลางระบาดอยู่ในกลางเมืองและแพร่กระจายไปยังจังหวัดอื่น ๆ อาจจะทำให้มีการนำมาตรการควบคุมการระบาดกลับมาใช้อีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาวะการจ้างงาน ดังนั้น มาตรการจากภาครัฐจึงยังมีความจำเป็นที่จะเข้ามาช่วยประคับประคองเศรษฐกิจต่อเนื่อง โดยมาตรการคนละครึ่งเฟส 2 ได้หมดอายุลงแล้วในเดือนมี.ค.64 มียอดใช้จ่ายตลอดโครงการถึง 102,065 ล้านบาท และมีผู้เข้าร่วมโครงการอยู่ที่ 14.8 ล้านคน ขณะที่มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อต่าง ๆ ของภาครัฐ ทั้งโครงการเราชนะ และโครงการเรารักกัน (ม.33) จะเริ่มทยอยหมดโครงการในเดือนพ.ค. 64
ทั้งนี้แม้ว่าความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนที่เริ่มปรับตัวดีในเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา แต่ต้องกลับมาเผชิญความไม่แน่นอนสูงขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะมุมมองต่อรายได้และการมีงานทำ หลังธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวอาจได้รับผลกระทบจากแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีความเป็นไปได้ที่จะล่าช้าออกไปจากแผนเดิม
นอกจากนี้การพึ่งพาอุปสงค์จากนักท่องเที่ยวในประเทศอาจทำได้ยากขึ้น หลังเริ่มมีนโยบายการกักตัวจากจังหวัดต้นทาง ขณะที่แผนการฉีดวัคซีนในประเทศรวมถึงความเพียงพอของวัคซีนยังคงมีความไม่ชัดเจนสูง โดยปัจจุบันอัตราการฉีดวัคซีนเข็มแรกของไทยต่อจำนวนประชากร ณ วันที่ 8 เม.ย. 64 อยู่ที่ 0.6% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิดการระบาดระลอกใหม่จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อความเชื่อมั่นของภาวะการครองชีพของครัวเรือน ซึ่งจะส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และทำให้การสำรวจภาวะการครองชีพของครัวเรือนในเดือนมี.ค. 64 ที่ครัวเรือนมองแนวโน้มภาวะการครองชีพในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวดีขึ้นจะไม่ได้สะท้อนภาพการครองชีพของครัวเรือนที่รวมผลกระทบของการระบาดในเดือนเม.ย.เข้าไว้ด้วย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ภาครัฐควรเร่งออกมาตรการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจ ทั้งในเรื่องของมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด และการเร่งดำเนินการในเรื่องของการจัดหาและกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมจำนวนประชากร เนื่องจากหากสถานการณ์ระบาดมีแนวโน้มยืดยาวอาจทำให้ผลกระทบไม่เกิดแก่เพียงกิจกรรมทางเศรษฐกิจแต่จะต่อเนื่องไปถึงแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวของไทยที่อาจทำให้ได้ล่าช้าส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปีนี้ที่จะเป็นความหวังในการช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยในปีนี้ต่อเนื่องไปยังปีหน้าอีกด้วย ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีโอกาสขยายต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ 2.6%
สำหรับดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในระดับปัจจุบัน (มี.ค.64) และ 3 เดือนข้างหน้าฟื้นตัวขึ้นจากเดือนก่อน แต่ดัชนียังไม่ได้สะท้อนถึง สถานการณ์การระบาดของโควิด ระลอกใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ในระยะข้างหน้าดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยจะถูกกระทบจากการแพร่ระบาดโควิดรอบใหม่ ภาครัฐควรเร่งออกมาตรการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ครัวเรือนและภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ