รีเซต

หอการค้า "ขอนแก่น" เดินหน้าระเบียงเศรษฐกิจพิเศษอีสาน พร้อมขับเคลื่อนพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ

หอการค้า "ขอนแก่น" เดินหน้าระเบียงเศรษฐกิจพิเศษอีสาน พร้อมขับเคลื่อนพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ
มติชน
6 พฤษภาคม 2565 ( 17:46 )
48

ข่าววันนี้ 6 พฤษภาคม นายชาญณรงค์ บุริสตระกุล ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า นโยบายขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลที่มุ่งกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและยกระดับเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าขึ้น เป็นสิ่งที่เรายึดถือตามแผนงานมาโดยตลอด ในภาพของส่วนรวมเราได้เห็นความเปลี่ยนแปลง ความเคลื่อนไหวมากขึ้น ไม่ว่าจะผ่านการสำรวจการสอบถาม และการทุ่มงบวิจัยและพัฒนาในส่วนสถาบันการศึกษาด้วยกัน ส่วนภาคเอกชนมีหลายๆ อุตสาหกรรมที่อยู่ในเรื่องของไบโออีโคโนมี และอุตสาหกรรมสมัยใหม่ โดยด้านการเกษตรหลายๆราย ถ้าเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น ข้าว อ้อย น้ำตาล และมันสำปะหลัง จะอยู่บนพื้นฐานนี้อยู่แล้ว เพราะภาคอีสานเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบทางการเกษตร และอุตสาหกรรมหลายๆ แห่ง มีการแปรรูปในขั้นต้นของผลิตภัณฑ์

 

โดยสิ่งที่ทุกธุรกิจ ทุกอุตสาหกรรมกำลังทำ คือ การยกระดับของคุณภาพ มูลค่า ที่นำไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น ที่ผ่านมามีงานวิจัยงานพัฒนา การทำสัดส่วนที่เหมาะสม การสร้างความปลอดภัย เชื่อว่าภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ได้ทำแล้ว และทำมาต่อเนื่องโดยตลอด ส่วนของภาคธุรกิจเกษตรกรทั่วไปที่อาจจะไม่มีกำลังผลิตขนาดใหญ่เหมือนภาคอุตสาหกรรม ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีการปรับปรุงมาโดยตลอด มีการพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ใช้สารอินทรีชีวภาพเข้ามา ส่วนความมั่นคงทางอาหาร เช่น การนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ โคกหนองนาโมเดล ก็ทำให้เกิดความรู้ที่แพร่หลาย โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ขอนแก่น มีกลุ่มข้าราชการเกษียณ กลุ่มอาจารย์ ทำเป็นตัวอย่างให้ผู้คนได้ศึกษาจำนวนมาก ขณะเดียวกันเกษตรกรยุคใหม่ เช่น สมาร์ทฟาร์มเมอร์ หรือ กลุ่มคนอีสานกลับบ้าน มาพร้อมกับความรู้ เงินทุนและความอยากพัฒนาธุรกิจงานเกษตรกรรมที่บ้านให้ดียิ่งขึ้น ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

 

“เห็นได้ชัดว่าภาคการเกษตรตอนนี้ไม่เหมือนเดิมแล้ว ไม่ได้ทำตามมีตามเกิด ยิ่งช่วงสถานการณ์ โควิด-19 หลายคนกลับมาอยู่บ้าน ทำให้สินค้าด้านอุปกรณ์ เครื่องมือทางการเกษตรเติบโตขึ้น เพิ่มพื้นที่ทางการเกษตรมากขึ้น มีการทำนาสมัยใหม่ ตื่นตัวและคึกคักมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้มีความเปลี่ยนแปลงไปจากวิธีเดิม ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เรากำลังมุ่งพัฒนาในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น คือ จิ้งหรีดเงินล้าน บ้านแสนตอ เพื่อพัฒนาไปเป็นอาหารแห่งอนาคต แหล่งโปรตีนทางเลือก จะทำให้จิ้งหรีดทั่วไปพัฒนาไปเป็นจิ้งหรีดปลอดภัย โดยยกระดับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงให้อยู่ในระดับ GAP มากยิ่งขึ้น รวมทั้งการเลี้ยงโคขุนให้ได้เนื้อคุณภาพสูงมีกลุ่มที่ทำเรื่องนี้อยู่ มีการพัฒนาตั้งแต่สายพันธุ์ อาหาร การเลี้ยงและการเพิ่มจำนวนให้ได้มากขึ้น ซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึงการเกษตรที่เกี่ยวข้อง เช่น การปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ที่มีคุณภาพ และแหล่งอาหารสัตว์ที่จะเติบโตไปด้วยกัน”

 

เรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทุกภาคส่วนมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเรื่องปัญหาฝุ่นควันจากการเผาตอซังอ้อย มีการรณรงค์ให้โรงงานไม่รับซื้ออ้อยจากการเผา นำไปสู่การปรับปรุงเครื่องจักรในการตัดเก็บเกี่ยวอ้อย ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือ ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมกันพัฒนาให้เกิดการเกษตรสมัยใหม่ หากให้ประเมินการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ จังหวัดขอนแก่นมาถึงครึ่งทางแล้ว แต่ยังติดปัญหาบางประการ เช่น ความรู้ทางวิชาการที่เป็นความรู้หลัก เพราะมีนักวิชาการให้ความเห็นและความรู้ค่อนข้างมาก รวมถึงเงินทุนสนับสนุน มองว่าการจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ในระดับจังหวัดให้ประสบความสำเร็จ เชื่อว่าการพัฒนาต่างๆ ต้องเชื่อมโยงกับการค้าการลงทุน และการประกอบธุรกิจให้ได้ เพราะการพัฒนาต่างๆ ต้องมีความรู้ มีการส่งต่อ และทำเป็นธุรกิจได้ ทำมาแล้วต้องขายได้ สิ่งที่คนต้องการหรืออยากได้ เราต้องผลิตได้

 

ตอนนี้มีความพร้อมในภาคความรู้ทางวิชาการแล้ว เพราะแต่ละส่วนจะมีธุรกิจแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยและหลากหลาย เรามีทุนที่ดิน ทรัพยากร สถานที่ เครื่องมือ กำลังคน บุคลากรที่คอยมาเติมเรื่อยๆ สิ่งที่จะทำให้ประสบผลสำเร็จและเห็นได้ชัดเจนออกมาเป็นรูปธรรม คือ ต้องโยงไปสู่ช่องทางการขาย นั่นคือ ภาครัฐต้องเชื่อมการแลกเปลี่ยนการค้าขายกับประเทศอื่น หาตลาดให้ได้ มีการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนการค้า หากเราจะเติบโตด้วยเศรษฐกิจสมัยใหม่ จะใช้ความรู้นวัตกรรมและการสร้างสรรค์ที่สูงขึ้นกว่าเดิม องอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ส่งเสริมการลงทุนให้บริษัทใหญ่ บริษัทข้ามชาติมาลงทุนในพื้นที่ภาคอีสาน โดยมาพร้อมโมเดลธุรกิจที่เอื้อเฟื้อกับเกษตรกร ธุรกิจ SME ที่เกี่ยวข้อง จะเป็นตัวการันตีความสำเร็จ ทั้งหมดนี้เป็นโจทย์ที่ต้องไปทำแพ็คเกจการส่งเสริมการลงทุนและอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจให้ดีที่สุด

 

ใน 4 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เป็นระเบียงเศรษฐกิจ มองว่าแต่ละจังหวัดมีเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ที่แตกต่างกันไป และมีความโดดเด่นแตกต่างกัน อย่างเช่น นครราชสีมาก็จะมีนิคมอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีฯ ส่วนภาคการเกษตรจะเน้นไปที่การปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งจะเป็นจุดเด่นของจังหวัด ซึ่งเชื่อว่าสามารถพัฒนาต่อไปได้อีก เช่น การนำเอาเศษวัตถุดิบไปพัฒนาเป็นก๊าซ ก็จะทำได้อีก ส่วนจังหวัดขอนแก่น ก็มีความโดดเด่นในเรื่องการปลูกข้าว มีศูนย์วิจัยข้าว มีอ้อยที่มีกลุ่มธุรกิจเอกชน อย่างเช่น กลุ่มมิตรผล ซึ่งนอกจากจะส่งเสริมพืชไร่และโรงงานผลิตน้ำตาลธรรมดา ก็ยังมีการผลิตน้ำตาลชั้นสูงที่มีคุณภาพ รวมไปถึงเรื่องพืชพลังงานจากเศษวัสดุ รวมทั้งการบำบัดน้ำเสียที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง”

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง