รีเซต

นักวิจัยเตือนรูปแบบกลายพันธุ์เชื้อ ซี.1.2 น่าวิตก อาจเลี่ยงวัคซีนทั้งหมดได้

นักวิจัยเตือนรูปแบบกลายพันธุ์เชื้อ ซี.1.2 น่าวิตก อาจเลี่ยงวัคซีนทั้งหมดได้
มติชน
31 สิงหาคม 2564 ( 14:38 )
44
นักวิจัยเตือนรูปแบบกลายพันธุ์เชื้อ ซี.1.2 น่าวิตก อาจเลี่ยงวัคซีนทั้งหมดได้

 

สำนักข่าวรอยเตอร์และเอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 30 สิงหาคมนี้ว่า คณะนักวิทยาศาสตร์ในประเทศแอฟริกาใต้ กำลังติดตามและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อก่อโรคโควิด-19 กลายพันธุ์ตัวใหม่ ที่ใช้ชื่อรหัสว่า ซี.1.2 หลังจากค้นพบเมื่อเร็วๆ นี้และผลจากการจำแนกพันธุกรรมพบความเป็นไปได้ที่เชื้อกลายพันธุ์นี้จะมีความสามารถในการแพร่ระบาดเร็วกว่าหรือใกล้เคียงกับเชื้อกลายพันธุ์ เบต้า และ เดลต้า ก่อนหน้านี้ ในขณะที่อาจมีความสามารถในการเลี่ยงหนีการโจมตีของภูมิคุ้มกันในร่างกายที่เกิดจากการกระตุ้นของวัคซีนได้

 

ซี.1.2 ค้นพบครั้งแรกในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่จังหวัด ควาซูลู-นาทัล ของแอฟริกาใต้ โดยหลังจากที่ทีมวิจัยของสถาบันควาซูลู-นาทัลเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมและการจำแนกพันธุกรรม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผลที่ได้ก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะเป็นเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรงกว่าทุกสายพันธุ์ดังกล่าวและได้แจ้งเตือนเรื่องนี้ต่อ องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) อย่างเป็นทางการแล้ว

 

หลังการค้นพบในเดือนพฤษภาคม เชื้อซี.1.2 ระบาดออกไปทั่วทั้ง 9 จังหวัดของแอฟริกาใต้แล้ว แม้จะพบในสัดส่วนที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเชื้อกลายพันธุ์เดลต้าที่เป็นเชื้อระบาดหลักในแอฟริกาใต้อยู่ในเวลานี้ โดยในเดือนมิถุนายน ซี.1.2 มีสัดส่วนเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของยอดการติดเชื้อทั้งหมดในแอฟริกาใต้ ในขณะที่เดลต้าคิดเป็น 67 เปอร์เซ็นต์ ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พบการระบาดเพิ่มขึ้นเป็น 3 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับสัดส่วนการระบาดของเดลต้าที่มากถึง 89 เปอร์เซ็นต์ในเดือนเดียวกัน ทั้งนี้ ซี.1.2 ยังพบระบาดไปใน 7 ประเทศ คือสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ดีอาร์คองโก), มอริเชียส, จีน, อังกฤษ, นิวซีแลนด์, โปรตุเกส และ สวิตเซอร์แลนด์แล้ว

 

สถาบันโรคติดต่อแห่งชาติ (เอ็นไอซีดี) ของแอฟริกาใต้ ระบุว่า ผลจากการศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการกลายพันธุ์ของเชื้อ ซี.1.2 พบว่า มีจำนวนการกลายพันธุ์มากที่สุด มากกว่าเชื้อกลายพันธุ์ทุกตัวที่เป็น แวเรียนท์ ออฟ คอนเซิร์น (วีโอซี) และ แวเรียนท์ ออฟ อินเทอเรสต์ (วีโอไอ) ในเวลานี้ โดยนอกจากจะมีการกลายพันธุ์แบบเดียวกับที่เชื้อเบต้าและเดลต้ามี ซึ่งอาจทำให้แพร่ระบาดได้เร็วมากแล้ว ยังมีจุดกลายพันธุ์เพิ่มอีกหลายตำแหน่ง โดยเฉพาะการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง N440K และ Y449H ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการหลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกัน ก็พบในเชื้อกลายพันธุ์ ซี.1.2 อีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม้อาจจะมีความสามารถในการแพร่เชื้อได้สูง โดยหลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ แต่เชื่อว่า วัคซีนที่ใช้กันอยู่น่าจะมีความสามารถในการป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่นี้มีอาการหนักจนถึงกับต้องโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ในระดับสูงเช่นเดิม

 

ทีมวิจัยยังตั้งข้อสังเกตุไว้ด้วยว่า รูปแบบการแพร่ระบาดของเชื้อซี.1.2 มีรูปแบบคล้ายกันกับเชื้อเดลต้าเมื่อพบแพร่ระบาดครั้งแรกในแอฟริกาใต้อีกด้วย

 

นายริชาร์ด เลสเซลส์ ผู้เขียนงานวิจัยเรื่อง ซี.1.2 ที่เผยแพร่ผ่าน เมดอาร์ซีฟ เว็บไซต์เพื่อเผยแพร่งานวิจัยก่อนหน้าการทบทวนของเพื่อนร่วมวิชาชีพ เตือนเอาไว้ว่า การค้นพบ ซี.1.2 แสดงให้เห็นว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังห่างไกลจากจุดสิ้นสุดอยู่มากและไวรัสก่อโรคโควิด-19 ยังคงหาทางเพิ่มศักยภาพในการทำให้คนติดเชื้อได้ดีกว่าเดิมอยู่ตลอดเวลา

 

ทางด้านนาง มาเรีย ฟาน เคอร์โคฟ ผู้เชี่ยวชาญของดับเบิลยูเอชโอ เปิดเผยว่าทางดับเบิลยูเอชโอได้หารือกรณีนี้กับทีมนักวิจัยของแอฟริกาใต้อยู่ในเวลานี้ แต่ตั้งข้อสังเกตุได้ว่า การแพร่ระบาดของซี.1.2 ยังคงไม่ได้เพิ่มพรวดพราด ในขณะที่ทางดับเบิลยูเอชโอเอง ต้องการให้มีผลการจำแนกพันธุกรรมและศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเชื้อใหม่นี้ต่อเนื่องจากทั่วโลก เพราะในขณะนี้มีผลการจำแนกพันธุกรรมอยู่เพียง 100 ชิ้นเฉพาะจากแอฟริกาใต้เท่านั้น ซึ่งทำให้เดลต้ายังคงจะเป็นเชื้อระบาดหลักของโลกอยู่ต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง