หมอธีระห่วงเปิดประเทศทำเชื้อกลายพันธุ์เล็ดลอดเข้าไทย หากคัดกรองไม่ดีพอ
วันนี้ (24ต.ค.64) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่าเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 314,526 คน ตายเพิ่ม 4,495 คน รวม 244,405,520 คน เสียชีวิตรวม 4,963,326 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ สหราชอาณาจักร รัสเซีย ตุรกี ยูเครน และอเมริกาจำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 94.93 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 94.86
สำหรับสถานการณ์ไทยเรา
เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 9,351 คน สูงเป็นอันดับ 9 ของโลกหากรวม ATK อีก 4,163 คน จะขึ้นเป็นอันดับ 7 ของโลกและไม่ว่าจะเป็นแค่ยอดที่รายงานทางการ หรือจะรวม ATK ก็ยังคงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนอย่างต่อเนื่อง มองไทย อเมริกา สหราชอาณาจักร และเยอรมัน ทั้งอเมริกา สหราชอาณาจักร และเยอรมัน ล้วนอยู่ในรายชื่อ 46 ประเทศที่ไทยประกาศให้สามารถเดินทางมาได้ตั้งแต่ต้นเดือนหน้า ทุกประเทศข้างต้นล้วนมีจำนวนการติดเชื้อใหม่ต่อวันสูง อยู่ในอันดับท็อปเท็นของโลกเช่นเดียวกับไทยจำนวนติดเชื้อแต่ละวันของเค้าสูงกว่าไทย แต่อัตราการตรวจพบว่าติดเชื้อจากการส่งตรวจน้อยกว่าไทย
อัตราการฉีดวัคซีนครบโดสนั้นสูงกว่าไทย แต่หากสังเกตจะพบว่าอเมริกาและสหราชอาณาจักรนั้นฉีดครบไปมากตั้งแต่ 6 เดือนก่อน ในขณะที่เยอรมันก็ใกล้จะครบ 6 เดือน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่อาจมีระดับภูมิคุ้มกันที่ตกลงไป จนจำเป็นต้องได้เข็มกระตุ้น
ส่วนศักยภาพของระบบการตรวจคัดกรองโรคมาตรฐานนั้น ทุกประเทศสามารถทำได้มากกว่าไทยหลายเท่าข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้ทราบว่า การเปิดประเทศของไทยครั้งนี้นั้นเป็นการเดิมพันที่สูงมาก หากระบบคัดกรองโรคของไทยไม่ดีพอ ด้วยจำนวนการติดเชื้อของแต่ละประเทศที่มีสูง ก็ย่อมมีโอกาสหลุดรอดของผู้ติดเชื้อเข้ามาในประเทศได้ โดยที่ต้องระวังคือสายพันธุ์กลายพันธุ์ เช่น เดลตาพลัส AY.4.2 หรืออื่นๆ
ในแง่ของประวัติการฉีดวัคซีน ถ้าจะลดภาระของระบบสาธารณสุขในการดูแลผู้ติดเชื้อที่มีอาการเจ็บป่วย เกณฑ์ที่ดูประวัติการฉีดวัคซีนอาจต้องคำนึงถึงระยะเวลาที่ฉีดครบโดสของแต่ละประเทศด้วย เช่น หากเกิน 6 เดือนก็จำเป็นต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่ใช้วัคซีนเชื้อตาย ก็อาจต้องกำหนดเป็น 3 เดือน เป็นต้น ทั้งนี้การปรับเกณฑ์ดังกล่าวจะได้ประโยชน์ทั้งตัวผู้เดินทางเอง และต่อประเทศปลายทางด้วย
สุดท้าย ไทยคงต้องตระหนักว่า ศักยภาพของระบบตรวจคัดกรองโรคมาตรฐานแบบ RT-PCR นั้นมีจำกัด ดังนั้นจึงควรรีบขยายศักยภาพบริการให้มากและครอบคลุมพื้นที่เพียงพอ มิฉะนั้นเวลาเกิดการระบาดปะทุขึ้นมา จะรับมือปัญหาได้ยาก ไม่ทันท่วงที และเหมือนย้อนกลับไปเห็นภาพในหลายเดือนที่ผ่านมา ทั้งรอคิวตรวจข้ามคืน ป่วยหรือเสียชีวิตโดยไม่ได้ตรวจ
เหนืออื่นใด ด้วยระบบตรวจที่มีข้อจำกัด วัคซีนยังไม่ครอบคลุม และสถานการณ์ระบาดในประเทศของเรายังสูงเป็นทุนเดิม ความเสี่ยงหลังเปิดประเทศย่อมมีสูง ประชาชนอย่างพวกเราทุกคนจึงควรตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันตนเองและครอบครัวอย่างเคร่งครัด ใส่หน้ากากนะครับ สำคัญมาก อยู่ห่างคนอื่นเกิน 1 เมตร ลดอัตราติดเชื้อได้ 5 เท่า
ข้อมูลจาก : รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
ภาพจาก : ช่างภาพ TNN ONLINE