รีเซต

‘สุริยะ’ สั่ง กนอ. ป้องกันโควิดในนิคมฯ เข้ม พร้อมจับมือ ส.อ.ท. ยกพื้นที่นิคมฯ ทั่วปท.ใช้เป็นศูนย์กลางฉีดวัคซีน

‘สุริยะ’ สั่ง กนอ. ป้องกันโควิดในนิคมฯ เข้ม พร้อมจับมือ ส.อ.ท. ยกพื้นที่นิคมฯ ทั่วปท.ใช้เป็นศูนย์กลางฉีดวัคซีน
ข่าวสด
10 พฤษภาคม 2564 ( 16:42 )
102

‘สุริยะ’ สั่ง กนอ. ป้องกันโควิดในนิคมฯ เข้ม พร้อมจับมือ ส.อ.ท. ยกพื้นที่นิคมฯ ทั่วปท.ใช้เป็นศูนย์กลางฉีดวัคซีนให้ ประชาชนในแต่ละพื้นที่

 

 

สุริยะสั่งกนอ.ป้องกันโควิด - นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เร่งวางมาตรการป้องกันผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเพิ่มการเฝ้าระวังและกำกับดูแลให้นิคมอุตสาหกรรมปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของไทย

 

 

ทั้งนี้ เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมถือเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เป็นแหล่งสร้างรายได้อันดับต้นๆ ของประเทศ หากเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อในวงกว้างจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อศรษฐกิจไทย และกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานสินค้าต่างๆ ไปทั่วโลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์

 

 

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า วัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้พ้นจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นมีบุคลากรในโรงงานและเจ้าหน้าที่ของ กนอ. ในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ประมาณ 1 ล้านคน ที่ต้องได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยในจำนวนนี้มีบุคลากรประมาณ 5 แสนคน ที่ยินดีรับภาระค่าใช้จ่ายในการฉีดรายละ 1,000 บาทเอง

 

 

โดย กนอ. จะร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และเร่งหารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย เป็นคนกลางประสานการจัดหาวัคซีนให้กับบุคลากรในทุกช่องทาง เพื่อให้ได้วัคซีนจากภาครัฐมาโดยเร็ว พร้อมเสนอให้ใช้พื้นที่ของ กนอ. ที่มีอยู่ในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นศูนย์กลางฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่ด้วย

 

 

“กนอ. ได้หารือกับ ส.อ.ท. และเห็นตรงกันว่าจะร่วมกันอำนวยความสะดวกในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน โดยเสนอให้ใช้พื้นที่ของ กนอ. เป็นศูนย์กลางฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งศักยภาพของ กนอ.มีความพร้อมทั้งด้านพื้นที่และบุคลากร สามารถจัดสถานที่ฉีดวัคซีนให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข โดยสามารถเตรียมการฉีดวัคซีนได้ทันที”

 

 

อย่างไรก็ตาม การได้รับวัคซีนสำหรับคนที่ทำงานในนิคมฯต่างๆ โดยเร็ว จะเกิดประโยชน์อย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจ ภาคการผลิต ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากอยากได้วัคซีนไปฉีดให้กับแรงงาน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เพราะหากเกิดการแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมแล้วจะเกิดผลกระทบต่อกระบวนการผลิต จนเกิดความเสียหายต่อธุรกิจอย่างรุนแรงได้

 

 

ล่าสุดได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ กนอ. ติดตามสถานการณ์ของโควิด-19 ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ พบว่า มีจำนวนผู้ปฏิบัติงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ติดเชื้อในระลอกเดือนเม.ย. 2564 สะสม 298 ราย หายป่วยแล้ว 12 ราย และยังเหลือผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา ทั้งสิ้น 286 ราย ซึ่งทาง กนอ. ได้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ เพื่อลดการติดเชื้อภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมให้ได้มากที่สุด โดยเป้าหมายสุดท้าย คือ ให้ตัวเลขการติดเชื้อเป็นศูนย์โดยเร็วที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง