รีเซต

เปิดเหตุผล ทำไมภูเขาไฟตองกาจึงระเบิดใหญ่-จะเกิดอะไรขึ้นตามมา?

เปิดเหตุผล ทำไมภูเขาไฟตองกาจึงระเบิดใหญ่-จะเกิดอะไรขึ้นตามมา?
มติชน
19 มกราคม 2565 ( 18:16 )
155

ข่าววันนี้ เวลานี้ทุกสายตาจากทั่วโลกกำลังจับตาไปที่ประเทศตองกา ที่เพิ่งเกิดเหตุภูเขาไฟฮังกา ตองกา ฮังกา ฮาอาปาย ระเบิดโดยเฉพาะภาพถ่ายจากดาวเทียมที่แสดงให้เห็นกลุ่มควันที่พุ่งสูงขึ้นไปในอากาศเป็นดอกเห็น สภาพเกาะที่หายไปทั้งเกาะหลังการระเบิด และเถ้าถ่านจากภูเขาไฟที่ปกคลุมเมืองทั้งเมือง

 

แน่นอนว่าเกิดคำถามตามมาว่าเพราะอะไรการระเบิดดังกล่าวจึงรุนแรงมาก และเหตุระเบิดดังกล่าวทำไมจึงเกิดคลื่นยักษ์สึนามิกินพื้นที่ไปไกล และจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปในอนาคต

 

ล่าสุดสำนักข่าวเอพีได้เปิดเผยความเห็นของเชน โครนิน ศาสตร์จารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูเขาไฟ จากมหาวิทยาลัยอ็อกแลนด์ และ เอมิลี เลน ผู้เชี่ยวชาญด้านสึนามิ จากสถาบันวิจัยแห่งชาติว่าด้วยเรื่องน้ำและชั้นบรรยากาศ

 

ระเบิดใหญ่แต่ช่วงสั้นๆ

 

เหตุระเบิดของภูเขาไฟฮังกา ตองกา ฮังกา ฮาอาปาย ในประเทศตองกา เมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา นับเป็นการระเบิดของภูเขาไฟที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ส่งเถ้าถ่านพุ่งสูงไปในอากาศถึง 30 กิโลเมตร อย่างไรก็ตามแรงระเบิดเกิดขึ้นในเวลาเพียง 10 นาทีเท่านั้น ไม่เหมือนเหตุภูเขาไฟระเบิดใหญ่อื่นๆที่บางครั้งอาจปะทุยาวนานถึง 1 ชั่วโมง

 

ศาสตราจารย์โครนิน ระบุว่า แรงระเบิดของภูเขาไฟฮังกา ตองกา ฮังกา ฮาอาปาย ถูกจัดให้เป็นเหตุภูเขาไฟระเบิดที่รุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี โดยเถ้าถ่าน ไอน้ำและแก๊สที่พ่นไปในอากาศเทียบได้กับการระเบิดของภูเขาไฟ ปินาตุโบ ที่ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อปี 1991 เหตุซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยราย

 

ทำไมจึงระเบิดใหญ่มากขนาดนี้

 

โครนิน ระบุว่า เป็นเพราะแม็กมา และแก๊สภายในเกิดแรงกดดันมหาศาล ก่อนที่หินบริเวณเปลือกโลกที่แตกออกส่งผลให้มีการปลดปล่อยแรงดันออกมาอย่างรุนแรง และปล่อยแม็กม่าออกมาเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ปากปล่องภูเขาไฟนั้นอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลถึง 200 เมตร ซึ่งเป็นความลึกที่เป็นเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดการระเบิดใหญ่ได้เพราะน้ำทะเลจะไหลทะลักเข้าไปสัมผัสกับแม็กม่าและปล่อยไอน้ำออกมาอย่างรุนแรง ซึ่งหากมีความลึกมากกว่านี้แรงกดของน้ำจำนวนมากอาจจะช่วยจำกัดความรุนแรงเอาไว้ได้

 

ทำไมจึงเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ

 

นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากต่างประหลาดใจที่การระเบิดของภูเขาไฟเพียงครั้งเดียวส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิความสูงราว 1 เมตรไปยังชายฝั่งโดยรอบมหาสมุทรแฟซิฟิก โดยเลน ระบุว่า สึนามิที่เกิดขึ้นได้ทั่วมหาสมุทรนั้นมักจะเกิดจากแผ่นดินไหวที่กินพื้นที่กว้างมากกว่าภูเขาไฟระเบิดเพียงจุดเดียว อย่างไรก็ตามเลน ระบุว่า ตัวแปรอื่นๆอาจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเช่นการถล่มของตีนภูเขาไฟมวลมหาศาลที่เข้าไปแทนที่น้ำ และทฤษฎีที่น่าสนใจก็คือ “คลื่นกระแทก” หรือ “โซนิกบูม” ที่เคลื่อนที่รอบโลกถึง 2 รอบอาจส่งผลให้คลื่นสึนามิมีพลังมากขึ้น

 

ความเสียหายในตองกาที่เป็นปริศนา

 

โครนิน คะบุว่า นั่นยังคงเป็นปริศนาว่าทำไมภาพจากดาวเทียมจึงแสดงให้เห็นระดับความเสียหายไม่มากนักทั้งๆที่ตองกา เกือบจะตั้งอยู่บนปากปล่องภูเขาไฟเสียด้วยซ้ำ

 

ขณะที่เลน ระบุว่า ชาวตองกาได้รับสัญญาณเตือนมาก่อนหน้านั้น ตั้งแต่การเกิดปฏิกิริยาของภูเขาไฟ 1 วันก่อนหน้าการระเบิด รวมถึงเสียงระเบิดดังก่อนที่จะมีคลื่นยักษ์สึนามิ ทำให้คนจำนวนมากขึ้นสู่ที่สูงได้ทัน นอกจากนี้ เลน ยังระบุว่า บรรดาแนวปะการัง อ่าว และอุปสรรคทางธรรมชาติอื่นๆอาจช่วยป้องกันความเสียหายให้กับตองกาได้บางส่วน

 

เถ้าถ่านปกคลุมเมือง

 

โครนิน ระบุว่า เถ้าถ่านที่ปกคลุมตองกามีความเป็นกรด แต่ไม่ได้เป็นพิษแต่อย่างใด และได้มีคำแนะนำด้วยว่าชาวตองกา จะยังสามารถดื่มกินน้ำจากแหล่งเก็บน้ำฝนได้แม้จะมีเถ้าถ่านตกลงไปบ้างซึ่งจะทำให้น้ำเพียงแค่มีความเป็นกรดและมีความเค็มเท่านั้น และจะเป็นการดีกว่าที่จะดื่มน้ำที่อาจมีเถ้าถ่านผสมบ้าง แทนที่จะดื่มจากแหล่งน้ำนิ่งที่อาจมีแบคทีเรียปนเปื้อน

 

จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

 

โครนิน มองเอาไว้ 2 สถานการณ์หลักๆ สำหรับภูเขาไฟเวลานี้ได้ปลดปล่อยพลังงานออกมาแล้วและจะสงบเงียบไปในอีก 10 ถึง 20 ปีก่อนที่แม็กม่าจะก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆอีกครั้ง สถานการณ์ที่ 2 ที่อาจเกิดขึ้นก็คือแม็กม่ากลับมาสะสมตัวแทนที่ของเดิมอย่างรวดเร็วซึ่งจะทำให้เกิดกระปะทุต่อเนื่องต่อไป แต่ช่องว่างและรอยแตกที่เกิดขึ้นจากการระเบิดครั้งล่าสุดจะทำให้แก๊สได้รับการปลดปล่อยพลังงานออกมาได้ และหากเกิดการระเบิดอีกครั้งก็จะไม่เป็นการระเบิดครั้งใหญ่ อย่างน้อยก็ในตอนนี้

 

อย่างไรก็ตาม ทั้งโครนิน และ เลน เห็นตรงกันว่าจำเป็นที่จะต้องสังเกตการณ์ภูเขาไฟฮังกา ตองกา ฮังกา ฮาอาปาย อย่างละเอียดมากขึ้น รวมไปถึงภูเขาไฟอื่นๆในตองกาด้วยเพื่อทำนายเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง