รองนายกฯ ไทยชี้ จีนมีคุณูปการโดดเด่น ด้านต้านภัย 'โควิด-19' ในทั่วโลก
กรุงเทพฯ, 11 มี.ค. (ซินหัว) -- ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีไทยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวเมื่อไม่นานนี้ว่า จีนได้สร้างคุณูปการอันโดดเด่นแก่ทั่วโลกในการต่อสู้กับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ด้วยการแบ่งปันประสบการณ์ในการควบคุมการแพร่ระบาดและการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับนานาประเทศ
ทั้งนี้ ไทยได้สั่งซื้อวัคซีน 2 ล้านโดสจากบริษัทซิโนแวค (Sinovac) ของจีน โดยวัคซีนชุดแรก 200,000 โดสถูกส่งมาถึงไทยในวันที่ 24 ก.พ. และเริ่มนำไปฉีดให้แก่เจ้าหน้าที่และประชาชนบางส่วนในวันที่ 28 ก.พ.
ดร.วิษณุได้กล่าวขอบคุณจีนที่จัดสรรวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้ไทยเพื่อสนับสนุนไทยในการต่อสู้กับไวรัสโคโรนา ทั้งยังชื่นชมจีนที่จัดสรรวัคซีนให้แก่ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่ยากจน ขาดแคลน และมีความจำเป็นต้องใช้วัคซีน พร้อมชื่นชมความมีน้ำใจของจีน ที่ดำเนินบทบาทด้านนี้อย่างเป็นมิตรต่อคนทั้งโลก รวมถึงมีความโปร่งใส และมีมนุษยธรรม
เมื่อกล่าวถึงประเด็นเศรษฐกิจ ดร.วิษณุกล่าวยกย่องจีนที่ใช้เวลาเพียง 1 ปีในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 และยินดีกับความสำเร็จของจีนที่เพิ่งประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ ในการขจัดความยากจนขั้นสูงสุดที่เรียกได้ว่าเป็นปาฏิหาริย์
อย่างไรก็ตาม ดร.วิษณุได้อ้างอิงคำกล่าวของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนที่ว่า ความสำเร็จครั้งนี้ไม่ใช่การยุติ แต่เป็นการเริ่มต้นที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า พร้อมแสดงความเห็นว่านี่เป็นเรื่องที่ไทยต้องเรียนรู้จากจีน
ทั้งนี้ ไทยได้เรียนรู้วิธีบรรเทาความยากจนจากประสบการณ์ของจีน โดยได้จัดทำ 'ทีพีแมพ' (Thai People Map and Analytics Platform - TPMAP) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเก็บข้อมูลประชากรยากไร้ที่คล้ายกับจีน ที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของผู้คนในทุกจังหวัด โดยเริ่มจากครัวเรือนที่ยากไร้และจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือก่อน รวมถึงวางแผนจะเรียนรู้จากจีนในการพัฒนาด้านเทคโนโลยี เกษตรกรรม และชนบท
ดร.วิษณุกล่าวว่าจีนได้นำเทคโนโลยีมากมายมาใช้ในการพัฒนาและเชื่อมต่อระบบอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งไทยตั้งใจที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมและระบบดิจิทัลเช่นกัน ขณะที่เกษตรกรรมก็เป็นสิ่งที่ทั้งจีนและไทยไม่สามารถละทิ้งได้
ส่วนการพัฒนาชนบทนั้น จีนได้ให้ข้าราชการและนักศึกษาไปประจำหมู่บ้านต่างๆ เพื่อศึกษาข้อมูลในชนบท แล้วนำมาแนะนำ เสริมจุดแข็งและแก้จุดอ่อนของพื้นที่นั้นๆ ซึ่งไทยเคยได้เตรียมการจะส่งทีมไปเรียนรู้ที่จีน และจัดตั้งทีมนักศึกษาไปลงพื้นที่ตามแบบจีนแล้ว โดยอาจให้หนึ่งมหาวิทยาลัยดูแลหลายชนบท ร่วมหาวิธีแก้จน แต่ด้วยการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้แผนนี้ต้องถูกเลื่อนออกไปก่อน อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงเรียนรู้วิธีแก้จนจากจีนอยู่ในยามเกิดโรคระบาดเช่นนี้ โดยมี สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยคอยให้ความช่วยเหลืออย่างดี และคาดว่าอีกไม่ช้าเมื่อโรคโควิด-19 ซา ก็จะได้สานต่อความร่วมมือกับจีนด้านการแก้จนเชิงลึก
(แฟ้มภาพซินหัว : ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีไทยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัว ณ กรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทย วันที่ 5 มี.ค. 2021)
เมื่อถูกถามเกี่ยวกับโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยที่พึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นสัดส่วนใหญ่ และเผชิญวิกฤติทางเศรษฐกิจจากภาวะโรคระบาดในยามนี้ ดร.วิษณุกล่าวว่าวิกฤติที่ไทยเผชิญ ทำให้ตอนนี้ไทยเห็นว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างดังกล่าว ไปพึ่งพาในด้านอื่นๆ มากขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคภายในประเทศ และการท่องเที่ยวภายในประเทศ
ดร.วิษณุยังกล่าวว่า โชคดีที่ไทยได้วางรากฐานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตั้งแต่หลายปีก่อน ซึ่งไทยจะส่งเสริมด้านนี้ให้มากขึ้น ดึงดูดบรรดานักลงทุนมากขึ้น โดยจีนเองเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่ไทยตั้งใจจะให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ในการเข้ามาลงทุนในโครงการนี้ ทั้งยังกล่าวถึงแผนพัฒนาในอนาคตที่จะเน้นด้านโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายรถไฟฟ้า อันจะส่งผลดีต่อการขนส่ง จนถึงเศรษฐกิจโดยรวม
สุดท้ายนี้ ในประเด็นวัคซีนพาสปอร์ต (Vaccine Passport) ซึ่งเป็นเอกสารที่ออกให้แก่ผู้ที่ได้รับวัคซีน อันจะส่งผลให้ผู้ถือพาสปอร์ตและเอกสารฉบับนี้สามารถเดินทางเข้าประเทศที่ทำสัญญาคู่กับประเทศตนได้ โดยอาจได้รับการยกเว้นการกักตัว 14 วัน หรือการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ
ดร.วิษณุระบุว่าท่านนายกฯ ได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศหารือกับประเทศต่างๆ ในประเด็นนี้แล้ว โดยเบื้องต้นมีการพิจารณาจะใช้วิธีนี้กับจีนก่อน เพราะในบรรดานักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทยนั้นมีสัดส่วนชาวจีนเยอะที่สุด กอปรกับขณะนี้จีนได้ฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้วเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากมีการอนุมัติให้ใช้เอกสารดังกล่าว ก็คาดว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย