รีเซต

เปรียบเทียบกฎหมายอาวุธปืนในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ ญี่ปุ่นและไทย

เปรียบเทียบกฎหมายอาวุธปืนในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ ญี่ปุ่นและไทย
TNN ช่อง16
1 มิถุนายน 2565 ( 18:57 )
483
เปรียบเทียบกฎหมายอาวุธปืนในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ ญี่ปุ่นและไทย

ปัจจุบันอาวุธปืนและกระสุนเป็นสิ่งถูกกฎหมายในหลายประเทศ แม้ว่าจะเป็นอาวุธที่อันตรายหากถูกนำไปใช้งานในวิธีการที่ผิด ความแตกต่างระหว่างรายละเอียดกฎหมายอาวุธปืนในแต่ละประเทศมีความน่าสนใจ เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายอาวุธปืน จำนวนอาวุธปืนโดยเฉลี่ยต่อประชากร อาจมีความเกี่ยวข้องกับอัตราการเกิดขึ้นความรุนแรงอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับผลการศึกษาอัตราการเกิดความรุนแรงจากอาวุธปืนนั้นถูกจัดทำโดยสถาบันเพื่อการวัดและประเมินผลสุขภาพของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (IHME)


กฎหมายอาวุธปืนสหรัฐอเมริกาเปิดโอกาสให้ประชาชนครอบครองอาวุธปืนโดยถูกกฎหมายภายใต้เงื่อนไขต้องมีอายุ 18-21 ปี ขึ้นอยู่กับรายละเอียดกฎหมายของแต่ละรัฐ สหรัฐอเมริกามีอัตราการครอบครองอาวุธปืนและกระสุน 88.8 กระบอกต่อประชากร 100 คน ซึ่งนับว่าสูงมากที่สุด ในขณะเดียวกันมีอัตราโทษการครอบครองปืนผิดกฎหมายเพียง 5-10 ปี และมีอัตราการเกิดความรุนแรงจากอาวุธปืน 4.12


สำหรับสหรัฐอเมริกาในรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมมาตราที่ 2 (Second Amendment) ระบุว่า “พลเรือนติดอาวุธที่ได้รับการควบคุมอย่างดี มีความจำเป็นต่อความมั่นคงของรัฐ สิทธิของประชาชนในการถือครองและพกพาอาวุธจะไม่ถูกละเมิด” ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่คนสหรัฐอเมริกาจำนวนมากมีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง สำหรับกฎหมายอาวุธปืนในประเทศอื่น ๆ ยกตัวอย่างออกมาได้ดังนี้


กฎหมายอาวุธปืนประเทศแคนาดาอนุญาตให้ประชาชนครอบครองอาวุธปืนโดยถูกกฎหมายภายใต้เงื่อนไขต้องมีอายุ 18 ปี ประเทศแคนาดามีอัตราการครอบครองอาวุธปืนและกระสุน 30.8 กระบอก ต่อประชากร 100 คน ในขณะเดียวกันมีอัตราโทษการครอบครองปืนผิดกฎหมายสูงสุด 10 ปี และมีอัตราการเกิดความรุนแรงจากอาวุธปืน 0.5


กฎหมายอาวุธปืนประเทศอังกฤษอนุญาตให้ประชาชนครอบครองอาวุธปืนโดยถูกกฎหมายภายใต้เงื่อนไขต้องมีอายุ 16-18 ปี ประเทศอังกฤษมีอัตราการครอบครองอาวุธปืนและกระสุน 6.2 กระบอก ต่อประชากร 100 คน ในขณะเดียวกันมีอัตราโทษการครอบครองปืนผิดกฎหมายสูงสุด 10 ปี และมีอัตราการเกิดความรุนแรงจากอาวุธปืน 0.04


กฎหมายอาวุธปืนประเทศญี่ปุ่น นับเป็นประเทศที่มีความเข้มงวดมากที่สุดในการอนุญาตให้ประชาชนครอบครองอาวุธปืน ตามกฎหมายญี่ปุ่นนั้นห้ามมิให้ประชาชนครอบครองอาวุธปืน ยกเว้นขออนุญาตกรณีพิเศษซึ่งผู้ที่ขออนุญาตจะต้องผ่านการทดสอบร่างกาย จิตใจ อบรมด้านการใช้อาวุธปืน ใช้เอกสารประกอบที่ต้องผ่านหลักเกณฑ์หลายขั้นตอนและต้องเป็นผู้บรรลุนิติภาวะอายุ 20 ปี ขึ้นไป ด้วยเหตุผลข้างต้นทำให้ประเทศญี่ปุ่นมีอัตราการครอบครองอาวุธปืนและกระสุนเพียง 0.6 กระบอก ต่อประชากร 100 คน ในขณะเดียวกันมีอัตราโทษการครอบครองปืนผิดกฎหมายสูงสุด 10 ปี และมีอัตราการเกิดความรุนแรงจากอาวุธปืน 0.06


สำหรับประเทศไทยนั้นปัจจุบันกฎหมายอนุญาตให้มีการครอบครองอาวุธปืนและกระสุนโดยจะต้องเป็นผู้บรรลุนิติภาวะอายุ 20 ปี ขึ้นไป หรือผู้ที่บรรลุนิติภาวะตามกฎหมายกำหนด โดยจะต้องผ่านขั้นตอนการทดสอบและขออนุญาตเท่านั้น ประเทศไทยมีอัตราการครอบครองอาวุธปืนและกระสุน 10 กระบอก ต่อประชากร 100 คน ในขณะเดียวกันมีอัตราโทษการครอบครองปืนผิดกฎหมายสูงสุด 10 ปี และมีอัตราการเกิดความรุนแรงจากอาวุธปืน 2.0


ที่มาของข้อมูล reuters.com, worldpopulationreview.com, cga.ct.gov, cbc.ca, vox.com


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง