รีเซต

กรมบัญชีกลางเพิ่มค่ารักษาพยาบาล ช่วยกลุ่มฟอกไตติดเฮชไอวีเพิ่มเป็น 4,000 บาท เริ่ม 15 มี.ค.นี้

กรมบัญชีกลางเพิ่มค่ารักษาพยาบาล ช่วยกลุ่มฟอกไตติดเฮชไอวีเพิ่มเป็น 4,000 บาท เริ่ม 15 มี.ค.นี้
ข่าวสด
11 มีนาคม 2564 ( 16:08 )
175

นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังด้วยวิธีการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (ฉบับที่ 2) โดยกำหนดเพิ่มเติมให้ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวข้าราชการ ซึ่งได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้ทำการรักษาว่าเป็นผู้ป่วยโรคไตวายเรื่อรังที่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีและมีความจำเป็นต้องล้างไต ให้มีสิทธิได้รับค่าฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่สถานพยาบาลของทางราชการ และสถานพยาบาลเอกชน ครั้งละไม่เกิน 4,000 บาท

 

ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวที่ติดเชื้อเอชไอวีและป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรัง ให้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งเพื่อให้การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของทั้ง 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง

 

สำหรับหลักเกณฑ์ฉบับดังกล่าว จะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. 2564 เป็นต้นไป โดยผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวที่ต้องการเข้ารับการรักษา สามารถตรวจสอบการให้บริการกับสถานพยาบาลเอกชนได้จากแอพพลิเคชั่น CGD.iHealthCare เลือกเมนูสถานพยาบาลที่เข้าร่วม เลือกกลุ่มเฉพาะโรค (ฟอกไต) และใส่จังหวัดที่ต้องการค้นหาหรือชื่อสถานพยาบาลที่ต้องการค้นหา หรือติดต่อสอบถามที่ Call Center กรมบัญชีกลาง 0-2270-6400 ในวัน เวลาราชการ

 

“เดิมทีโครงการเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังด้วยวิธีการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวสามารถเบิกจ่ายตรงได้ไม่เกินครั้งละ 2,000 บาท โดยปัจจุบันกรมบัญชีกลางได้รับทราบปัญหาข้อร้องเรียนของสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยและเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กรณีผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าไม่ถึงบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีการปรับอัตราการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงได้มากขึ้นด้วย ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมจึงมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว” นายประภาศกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง