อกหักอาจร้ายแรงถึงตาย? ความเครียด-การสูญเสีย อาจทำให้เกิด “ภาวะหัวใจสลาย” ซึ่งอันตรายถึงชีวิต
อาการทางใจที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก
ผลการวิจัย พบว่า “ภาวะหัวใจสลาย” พบในผู้หญิงวัยกลางคนและผู้สูงอายุ บ่อยกว่าผู้หญิงอายุน้อย และผู้ชาย ถึง 10 เท่า
พร้อมกันนี้ ยังชี้ให้เห็นว่า ตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ภาวะที่พบยากเหล่านี้เริ่มมีมากขึ้น และอัตราการเกิดโรคยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ผลวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Heart Association ระบุว่า ความรู้สึกเจ็บปวดนั้น มาพร้อมกับโรคร้ายแรง และแสดงให้เห็นว่า หัวใจและสมองตอบสนองอย่างไร เมื่อมีความวิตกกังวลหรือความเครียด
นั่นคือ ภาวะหัวใจสลาย (Broken Heart Syndrome) หรือรู้จักกันในชื่อ Takotsubo Syndrome โดยเป็นอาการทางหัวใจที่พบได้ยาก หลังจากกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอลง จะเกิดอาการเจ็บหน้าอกและหายใจถี่ ซึ่งสามารถทำให้หัวใจวายได้
มักเกิดจากความเครียดหรือการสูญเสีย ซึ่งอาจนำไปสู่การบาดเจ็บของหัวใจในระยะยาว รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือการทำงานของหัวใจบกพร่อง
ผู้หญิงสูงอายุเสี่ยงมากที่สุด
ดร. ซูซาน เฉิง นักวิจัยจากสถาบัน Smidt Heart รัฐแคลิฟอร์เนียในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้วิจัยหลักในการศึกษาครั้งนี้ ระบุว่า โรคนี้มักเกิดขึ้น หลังเกิดเหตุการณ์ทางอารมณ์หรือร่างกายที่รุนแรง เช่น การเลิกรา อุบัติเหตุทางรถยนต์ หรือแม้แต่งานเลี้ยงเซอร์ไพรส์วันเกิด
ผลการวิจัย เผยว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งชายและหญิงต่างก็ประสบกับอาการหัวใจสลายในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้น โดยผู้หญิงอายุ 50-74 ปี มีอัตราการเพิ่มขึ้นสูงที่สุด
ทั้งนี้ จากจำนวนผู้ป่วยภาวะหัวใจสลาย 135,463 ราย ที่มีรายงานในสหรัฐฯ ระหว่างปี 2006-2017 พบว่า ผู้ป่วย 88.3% คือ ผู้หญิงสูงอายุ
เครียดมากไปก็ไม่ดี
“เราพยายามทำความเข้าใจว่า เกิดอะไรขึ้นกับกลุ่มอาการนี้ โดยเฉพาะวิธีการวินิจฉัยโรค” เฉิง กล่าว
“ผู้ชายและผู้หญิงมีชีววิทยา และความไวต่อโรคที่แตกต่างกัน” เฉิง กล่าวเสริม “ความแตกต่างเหล่านี้เพิ่มขึ้นตามกาลเวลา และดูเหมือนจะใช้กับการศึกษานี้ได้ด้วยเช่นกัน”
เฉิง ชี้ว่า อาจมีจุดเปลี่ยนหลังพ้นวัยกลางคน ซึ่งการตอบสนองต่อความเครียดที่มากเกินไป อาจส่งผลต่อหัวใจได้
“ผู้หญิงจะได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ ทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะดังกล่าว เพิ่มขึ้นตามไปด้วย” เฉิง กล่าว
ภาวะที่อาจนำไปสู่อาการ "หัวใจวาย"
เฉิงกล่าวว่า ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาอย่างใกล้ชิด เป็นเวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ จนกว่าจะฟื้นตัวจากอาการดังกล่าว เนื่องจากภาวะหัวใจสลาย ซึ่งพบได้ยากและรุนแรง อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
“ความเครียดทำให้เกิดโรคนี้ และการที่เราช็อกสุดขีด ก็จะทำให้ระบบในร่างกายรวนไปด้วย” เฉิง กล่าวเสริม
เฉิงยังระบุว่า ภาวะหัวใจสลายยังไม่เป็นที่รู้จักหรือเข้าใจมากนัก ซึ่งข้อมูลที่มีการจัดการและครอบคลุมมากที่สุด อยู่ในฐานข้อมูลผู้ป่วยในแห่งชาติของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ แม้จะเป็นข้อมูลก่อนโควิด-19 ระบาด โดยเป็นข้อมูลหลังปี 2017 แต่ต้องใช้เวลา 2-3 ปี ในการรวบรวมและจัดระบบ ก่อนที่จะวิเคราะห์ได้
โรคที่พบครั้งแรกในญี่ปุ่น
เธอคาดว่า อัตราการวินิจฉัยโรคจะลดลง เนื่องจากในช่วงการระบาดของโควิด-19 คนส่วนใหญ่กำลัง “ทำทุกอย่างที่ทำได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการไปโรงพยาบาล”
ขณะที่ งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Academy of Physician Assistants ในปี 2020 ชี้ว่า การพยากรณ์โรคในภาพรวมสำหรับผู้ที่มีอาการ อยู่ในเกณฑ์ดี โดยผู้ป่วยประมาณ 95% กลับมาฟื้นตัวได้เต็มที่
ภาวะหัวใจสลาย พบครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อปี 1990 โดย ดร. ฮิคารุ ซาโตะ และตั้งชื่อตามกับดักที่ใช้จับปลาหมึกในญี่ปุ่น ซึ่งใช้มานานหลายศตวรรษ, เป็นอุปกรณ์ที่มีคอแคบและฐานค่อนข้างกว้าง ทำให้ปลาหมึกเข้าไปได้ง่ายแต่ออกมาเองไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ จะมีโพรงหัวใจด้านซ้ายบวมผิดปกติ ทำให้หัวใจมีลักษณะคล้ายกับกับดักที่กล่าวไปข้างต้น
—————
เรื่อง: พัชรี จันทร์แรม
ภาพ: KamranAydinov / Freepik