ซอฟต์แวร์ท้องฟ้าจำลองสามมิติฝีมือคนไทย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ National Astronomical Research Institute of Thailand (NARIT) ได้พัฒนาระบบ “ซอฟต์แวร์เพื่อการฉายดาวสำหรับท้องฟ้าจำลอง” ขึ้นเอง
อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จังหวัดเชียงใหม่ มีทั้งส่วนจัดแสดงนิทรรศการซึ่งสามารถเข้าชมได้ฟรีและส่วนของท้องฟ้าจำลองที่ต้องเสียเงินเพื่อเข้าชม ท้องฟ้าจำลองของที่นี่มีขนาดใหญ่พอสมควร สามารถบรรจุผู้เข้าชมได้มากถึง 150 คน แต่ภายหลังจากเปิดให้บริการท้องฟ้าจำ พบว่าระบบควบคุมการฉายภาพจำลองของท้องฟ้าที่ใช้สำหรับบรรยายนั้นยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการใช้งานของเจ้าหน้าที่ผู้บรรยายได้อย่างเต็มที่
ทีมวิศวกรพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรม นักดาราศาสตร์และเจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ จึงร่วมกันออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์ดังกล่าวขึ้นใหม่ทั้งหมด โดยมีการออกแบบให้ใช้งานง่าย มีข้อมูลทางดาราศาสตร์ที่ถูกต้องเชื่อถือได้ แสดงผลได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง และเจ้าหน้าที่ผู้บรรยายสามารถควบคุมการใช้งานได้อย่างตรงตามความต้องการ
ซอฟต์แวร์ฉายดาวดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นด้วย Game Engine (Unity) ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้สำหรับสร้างเกม ทำให้สามารถแสดงภาพความละเอียดสูงแบบสามมิติได้ ทั้งนี้ยังมีความสวยงาม ใช้งานง่าย รองรับกับระบบและอุปกรณ์ที่ใช้ในการฉายท้องฟ้าจำลองได้ ในส่วนของการแสดงผลพิกัดท้องฟ้านั้นใช้ฐานข้อมูล HIP (Hipparcos Catalogue) ของ NASA และ ESA จากดาวเทียม Hipparcos ที่โคจรเก็บข้อมูลบนอวกาศมานานถึง 4 ปี จึงมีความน่าเชื่อถือสูง และได้รับการยอมรับจากนักดาราศาสตร์ในระดับนานาชาติ
นอกจากนี้ ระบบฉายดาวยังสามารถแสดงรายละเอียดของดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ในระบบสุริยะในรูปแบบสามมิติได้อย่างถูกต้องและสมจริง ทั้งในเรื่องของขนาด สี และพื้นผิว ด้วยแบบจำลองระดับสูงเชิงเลข (Digital elevation model : DEM) ของวัตถุท้องฟ้าต่าง ๆ จาก Astrogeology Science Center ภายใต้สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งรวบรวมข้อมูลพื้นผิวจริงจากยานสำรวจดาวเคราะห์ต่าง ๆ ที่มนุษย์เคยส่งไปสำรวจ
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติระบุว่าปัจจุบัน ซอฟต์แวร์ดังกล่าวเริ่มทดลองใช้จริงแล้วที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อันเป็นสำนักงานใหญ่ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเพื่อทดสอบระบบและพัฒนาเพิ่มเติม ซึ่งหากพัฒนาจนเสร็จสมบูรณ์แล้ว ก็จะนำไปใช้งานกับหอดูดาวแห่งอื่นของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติต่อไป
ข้อมูลและภาพจาก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ/Facebook และ