สสจ.นราฯ แจง 2 ปมดราม่าโซเชียล ยันไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนเคสล่าสุดไม่มีการปกปิดข้อมูล
นพ.สสจ.นราธิวาสชี้แจงประเด็นที่เป็นกระแสสังคมในโลกโซเชียล ยืนยันขณะนี้ไม่มีผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 และผู้ป่วยรายล่าสุดไม่ได้มีการปกปิดข้อมูล ส่วนการกักตัวบุคลากรทางการแพทย์เป็นไปตามมาตรการของโรงพยาบาลไม่ได้กักตัวจากการปกปิดข้อมูลของผู้ป่วย
นพ.วิเศษ สิรินทรโสภณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานทางการแพทย์ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จ.นราธิวาส และคณะทำงานศูนย์บริหารราชการในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ (EOC จ.นราธิวาส) ชี้แจงประเด็นที่เป็นกระแสสังคมในโลกโซเชียลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) ในพื้นที่จ.นราธิวาสว่า ตามที่ปรากฏข่าวลือว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เสียชีวิตขณะรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ขอยืนยันว่าขณะนี้ผู้ป่วยรายดังกล่าวยังไม่เสียชีวิต และผู้ป่วยหนักรายนี้ ซึ่งเป็นชาวอ.เมืองนราธิวาสมารักษาตัวด้วยอาการเส้นเลือดในสมองอุดตันและได้พบว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยจึงทำการรักษามาอย่างต่อเนื่องจนรักษาอาการไวรัสโควิด-19 หาย
จากนั้นได้ทำการตรวจหาเชื้อเพิ่มในช่วงระหว่างรักษาอาการจากโรคประจำตัว จำนวน 3 ครั้ง และทุกครั้งมีผลเป็นลบซึ่งหมายถึงขณะนี้ผู้ป่วยรายนี้ไม่พบเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกทั้งไม่มีอาการที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 แต่ที่ยังไม่สามารถจำหน่ายกลับบ้านได้ เนื่องจากผู้ป่วยมีอาการป่วยหนักจากโรคประจำตัว คือเส้นเลือดในสมองอุดตัน ต้องเข้ารับการรักษาในห้องไอซียูของโรงพยาบาล ดังนั้นจึงขอยืนยันว่าข่าวการเสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ของผู้ป่วยรายดังกล่าวไม่เป็นความจริง
ส่วนประเด็นที่มีการต่อว่าผู้ป่วยรายที่ 35 และครอบครัว โดยกล่าวหาว่า ปกปิดข้อมูลการเดินทางกับเจ้าหน้าที่ จนทำให้ต้องกักตัวแพทย์และพยาบาลรวมกว่า60คนนั้น ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ คือ ผู้ป่วยได้เข้ามาตรวจอาการครั้งแรกช่วงเดือนมีนาคม 2563 หลังกลับมาจากการชุมนุมศาสนา ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย แต่ในครั้งนั้นผลการตรวจมีผลเป็นลบไม่พบเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ก็ได้กักตัวตามกระบวนการด้านสาธาณสุขจนครบตามกำหนด ต่อมาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563ได้เข้ามาตรวจรักษาอาการป่วย โดยจากการตรวจสอบบุคคลดังกล่าวมีอาการไข้ และหอบ มีฝ้าเล็กๆในปอด จึงมีการซักประวัติและนำสิ่งส่งตรวจไปตรวจหาไวรัสโควิด-19ซึ่งเมื่อมีผลเป็นบวกจึงส่งไปรักษาอาการที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ พร้อมทั้งตรวจหาเชื้อบุคคลในครอบครัว คือภรรยาและลูกจำนวน 7คนโดยกลุ่มนี้มีผลเป็นลบไม่พบเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่วนบุคคลใกล้ชิดหรือกลุ่มเสี่ยงสัมผัสผู้ป่วยอยู่ระหว่างรอผลตรวจ ทั้งนี้ที่ผ่านมาผู้ป่วยและครอบครัวได้ให้ข้อมูลประวัติการเดินทางและรายละเอียดการร่วมกิจกรรมต่างๆกับเจ้าหน้าที่โดยไม่มีการปกปิดข้อมูลใดๆ ส่วนการกักตัวของแพทย์และพยาบาลประจำโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก ได้มีการกักตัวผู้ที่มีความเสี่ยงจำนวน 62 คนโดยแยกเป็นผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยจำนวน 26คน และบุคลากรที่เสี่ยงน้อยเพราะเป็นบุคลากรที่ปฏิบัติงานภายในอาคารดังกล่าวจำนวน 36 คนซึ่งเป็นไปตามกระบวนการทางการแพทย์ที่จะให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ใกล้ชิดหรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และกลุ่มเสี่ยงกักตัวตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อความปลอดภัยของส่วนรวม โดยดำเนินการตามมาตรการนี้มาตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มิใช่เพิ่งมีการกักตัวเพราะมีผู้ป่วยรายนี้แต่อย่างใด
ด้านนพ.อินทร์ จันแดง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก ยืนยัน การกักตัวบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลสุไหงโก-ลกครั้งนี้ไม่กระทบกับการให้บริการของโรงพยาบาลเนื่องจากมีบุคลากรที่พร้อมในการปฏิบัติงานรวมกว่า 800 คนการกักตัวแพทย์และพยาบาลจำนวน 62 คนตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งโรงพยาบาลสุไหงโก-ลกมีแผนในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลทางการแพทย์ชัดเจนจึงไม่ได้รับผลกระทบใดๆจากการที่ส่วนหนึ่งต้องถูกกักตัวจากเหตุการณ์ครั้งนี้ และในทุกๆครั้งที่มีการตรวจหาเชื้อจากลุ่มเสี่ยงไวรัสโควิด-19