พรุ่งนี้! ส่งไฟเซอร์ลง 13 จว.สีแดง ฉีดกลุ่มเสี่ยงทันที ผู้สูงอายุ-ผู้ป่วย7กลุ่มโรค-เด็ก ยันไม่ให้ VVIP
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์ถึงการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA จากบริษัทไฟเซอร์ ล็อตที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐอเมริกา จำนวน 1.5 ล้านโดส ว่า วัคซีนไฟเซอร์ ที่ได้รับบริจาคมา 1.5 ล้านโดส เดินทางถึงไทยเมื่อช่วงเช้าวันที่ 30 ก.ค.64 ผ่านกระบวนการตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัย วัคซีนล็อตนี้ใหม่และเพิ่งผลิตเมื่อเดือน มิ.ย. ใช้ได้ถึงสิ้นเดือน พ.ย.64 ประมาณ 5 เดือนกว่า เราสามารถส่งออกไปพื้นที่ต่างๆ เร็วกกว่ากำหนดที่ตั้งไว้ จากทุกครั้งที่มีวัคซีนเข้ามาใหม่จะใช้เวลา 1 สัปดาห์ ในการวางแผนแล้วเริ่มฉีด เดิมแผนการส่งวัคซีนไฟเซอร์ จะถึงโรงพยาบาล (รพ.) ต่างๆ ในวันที่ 7-8 ส.ค.2564 และจะเริ่มฉีดในวันที่ 9 ส.ค.นี้ แต่ครั้งนี้มีความเร่งด่วน จึงนำส่งในวันที่ 3-4 ส.ค. และเริ่มฉีดวันที่ 4 ส.ค. ซึ่งเร็วกกว่าแผนประมาณ 5 วัน และเน้นส่งไปที่ รพ.ไกลๆ ก่อนเพื่อให้รับการฉีดวัคซีนพร้อมกัน
นพ.โสภณ กล่าวว่า ข้อมูลความปลอดภัยหลังการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ตั้งแต่วันที่ 4-7 ส.ค.64 ฉีดในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว 57,000 โดส แต่ด้วยวัคซีนนี้เป็นแพลตฟอร์มใหม่ของเรา ที่เป็นชนิด mRNA เรามีประสบการณ์ไม่มากเท่าวัคซีนเชื้อตาย จากซิโนแวค และวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ จากวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่เรารู้จักกันดีเพราะใช้มาตั้งแต่เดือน ก.พ.64 สำหรับบาง รพ.ที่มีบุคลากรจบใหม่และยังไม่ได้รับวัคซีน รวมถึงกลุ่มที่ยังรอวัคซีน ก็จะได้รับเป็นวัคซีนไฟเซอร์ล็อตดังกล่าวเป็นเข็มที่ 1 ห่างจากเข็มที่ 2 ประมาณ 3 สัปดาห์ ทั้งนี้ บุคลากรฯ ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนซิโนแวค ตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค – เม.ย. ก็จะได้รับการฉีดบูสเตอร์ โดส (Booster Dose) บุคลากรฯ บางคนไม่อยากฉีดวัคซีนไฟเซอร์ก็เลือกฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ เป็นเข็มบูสเตอร์ไปแล้วตั้งแต่เดือนก.ค. ดังนั้น เมื่อทำการสำรวจใหม่จึงพบว่า มีบุคลากรฯ ที่รับบูสเตอร์ไปแล้ว 20% เหลืออีก 70% กว่าที่รอวัคซีนไฟเซอร์ แต่บางคนก็ไม่ได้มีความต้องการฉีดบูสเตอร์ เพราะเพิ่งรับวัคซีนแอสตร้าฯ ครบ 2 เข็ม มาไม่นานนี้ ซึ่งคณะผู้เชี่ยวชาญมีคำแนะนำว่าภูมิคุ้มกันก็ยังสูง ยังสู้กับสายพันธุ์เดลต้าได้ เป็นที่มาว่าทำไมเราจึงส่งวัคซีนไปก่อน ร้อยละ 50-70 ก็ตามระบบฐานข้อมูล ทั้งนี้ หากส่งไป 100% บางแห่งอาจจะเกินหรือขาด จึงต้องทยอยส่งไป เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แต่ รพ.บางแห่ง จะมีบุคลากรจบใหม่ หรือเพิ่มบุคลากรด่านหลังเข้ามาช่วยงานด่านหน้า ก็ขอเพิ่มเติมเข้ามาได้
นพ.โสภณ กล่าวว่า วัคซีนไฟเซอร์ที่ส่งออกไปรอบแรก ประมาณ 446,000 กว่าโดส เหลืออยู่ประมาณ 250,000 โดส ซึ่งจะกระจายส่งไปอีก อีกกลุ่ม เป็นการฉีดวัคซีนเริ่มเข็มที่ 1 จำนวน 645,000 โดส ในพื้นที่จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด ซึ่งจะมีการส่งวัคซีนไปในวันพรุ่งนี้ (9 ส.ค.2564) คาดว่าจะได้ฉีดในกลางสัปดาห์ ได้แก่ ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี กลุ่มผู้ป่วย 7 กลุ่มเรื้อรัง และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นในกลุ่มโรคเรื้อรั้ง เช่น โรคไตเรื้อรัง เบาหวานแต่กำเนิด มะเร็งในระหว่างการรักษา มะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคหัวใจ เป็นต้น
นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับบุคลากรฯ ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์แล้วกว่า 57,000 โดส จากระบบติดตามอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน ส่วนใหญ่จะเกิดอาการปวด บวม ร้อน มีไข้เล็กน้อย ไม่รุนแรงมาก แต่มีข้อมูลที่น่าสนใจในต่างประเทศจากการฉีดวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นาในสหรัฐอเมริกา พบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ซึ่งการฉีดในประเทศไทยเรายังไม่พบ แต่ต้องเรียนให้ทราบเพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก อาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นในช่วงทำวิจัยมักจะไม่พบ แต่จะพบเมื่อมีการฉีดจำนวนมากแล้ว คล้ายๆ กับวัคซีนแอสตร้าฯ ที่พบภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ก็ไม่พบในช่วงวิจัยแต่มาพบช่วงที่ฉีดไปจำนวนมาก ดังนั้น จึงเป็นภาวะไม่พึ่งประสงค์ที่เกิดได้น้อยมาก
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ รายงานว่า อาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าว สามารถพบได้ในภาวะปกติแม้ไม่ได้รับวัคซีน แต่สำหรับการฉีดวัคซีนชนิด mRNA กว่า 300 ล้านโดสพบอาการดังกล่าว 1,226 ราย คิดเป็น 4 รายต่อ 1 ล้านการฉีด และไม่มีผู้เสียชีวิต ข้อมูลระบุว่า อาการไม่พึงประสงค์พบมากหลังฉีดในเข็มที่ 2 ไปแล้ว 5 วันในกลุ่มอายุน้อยกว่า 30 ปีและพบมากในช่วงอายุ 16-20 ปี สำหรับเพศหญิงจะพบอาการในคนอายุน้อย แต่เพศชายจะพบในคนที่อายุมากขึ้น และพบอาการหลังออกกำลังกาย ประเทศสิงคโปร์จึงมีข้อแนะนำว่า หลังรับวัคซีนแล้วไม่ควรออกกำลังหนักที่กระตุ้นการทำงานของหัวใจ ดังนั้น หากฉีดในไทยจำนวน 1.5 ล้านการฉีด คาดว่าอาจพบ 6 ราย ส่วนใหญ่มีอาการเจ็บหน้าอก หายใจไม่สะดวก ใจสั่น ทั้งนี้ อาการดังกล่าวสามารถรักษาได้
ผู้สื่อข่าวถามว่าขอความมั่นใจในส่วนของการจัดส่งวัคซีนล็อตผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่ทาง สธ.จะจัดส่งให้วัคซีนให้รพ. ว่าจะมีระบบติดตามวัคซีนอย่างไร เพื่อลดปัญหาฉีดนอกกลุ่ม จนมีกระแสข่าววีวีไอพี นพ.โสภณ กล่าวว่า ทุก รพ.ระวังมาก เพราะต้องใช้เกณฑ์อายุ และต้องฉีดเป็นเข็มที่ 1 ส่วนหญิงตั้งครรภ์ก็ต้องเข็มที่ 1 เช่นเดียวกัน
“การกระจายวัคซีนเราจะส่งไปรพ.จังหวัด เพื่อสามารถจัดบริการอย่างมีคุณภาพ โดยล็อตนี้จะไป 13 จังหวัดก่อน และให้กับกลุ่มเสี่ยง ทั้งสูงอายุ 60 ปี ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อายุ 12 ปี และหญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ที่สำคัญต้องไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน” นพ.โสภณ กล่าว