รีเซต

ไอลอว์ แนะข้อกฎหมาย ต้องทำยังไง หากโดนจับในที่ชุมนุม

ไอลอว์ แนะข้อกฎหมาย ต้องทำยังไง หากโดนจับในที่ชุมนุม
ข่าวสด
19 ตุลาคม 2563 ( 13:44 )
158
ไอลอว์ แนะข้อกฎหมาย ต้องทำยังไง หากโดนจับในที่ชุมนุม

โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ (ilaw) ให้ความรู้ข้อกฎหมาย ถึงประชาชนที่จะเดินทางไปร่วมชุมนุม เพื่อขับไล่รัฐบาล ความว่า ข้อกฎหมายควรรู้ / ข้อควรทำ หากถูกจับในที่ชุมนุม

 

การชุมนุมทางการเมืองที่กำลังเดินหน้าไปภายใต้การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ “สถานการณ์ฉุกเฉิน" ที่มีความร้ายแรงในเดือนตุลาคม 2563 เรียกได้ว่า เป็นการชุมนุมภายใต้ “กฎหมายพิเศษ” และภาวะที่ไม่ปกติ ซึ่งนับถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2563 มีคนที่ถูกจับจากสถานที่ชุมนุมรวมอย่างน้อย 55 คน

 

สรุปข้อกฎหมายเบื้องต้นที่ควรรู้ภายใต้สภาวะไม่ปกติ ดังนี้

1. ระหว่างการประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง” คณะรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดเพื่อสั่ง “ห้ามชุมนุมหรือมั่วสุดตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป” ซึ่งโทษฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือ จำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

2. เนื่องจากมีข้อห้ามชุมนุมแล้ว ดังนั้นการชุมนุมที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อตำรวจพบเห็น ตำรวจจึงอ้างว่าเป็น “ความผิดซึ่งหน้า” คือ ตำรวจพบเห็นการกระทำผิดด้วยตัวเองจึงใช้อำนาจจับกุมได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล

 

3. แม้ว่าจะอยู่ภายใต้ประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง” แต่การจับกุมก็ยังต้องเคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ได้มีกฎหมายใดยกเว้นสิทธินี้ โดยในการจับกุมเจ้าหน้าที่ต้องแจ้ง

 

1) แจ้งว่าถูกจับแล้ว
2) แจ้งว่าถูกจับด้วยข้อหาใด
3) แจ้งสิทธิที่จะไม่ให้การ
4) แจ้งว่าจะถูกนำตัวไปควบคุมที่ใด
5) แจ้งว่ามีสิทธิพบทนายความ และติดต่อญาติให้ทราบว่าถูกจับแล้ว

 

4. แม้ว่าจะอยู่ภายใต้ประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง” แต่ขั้นตอนการตั้งข้อหาดำเนินคดีต่อผู้ถูกจับกุมตัวก็ยังต้องเคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ได้มีกฎหมายใดยกเว้นสิทธินี้ โดยในการตั้งข้อหาเพื่อดำเนินคดี เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ต้อง

 

1) แจ้งข้อกล่าวหา คือ การอธิบายให้ฟังโดยละเอียดว่า ถูกดำเนินคดีจากการกระทำใด และถูกตั้งข้อกล่าวหาตามกฎหมายใด หากผู้ต้องหาฟังแล้วไม่เข้าใจก็สามารถถามจนกว่าจะเข้าใจได้


2) ต้องแจ้งให้ทราบว่า ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ และต้องแจ้งว่า ระหว่างการสอบสวนผู้ต้องหามีสิทธิที่จะมีทนายความที่เลือกเอง หรือมีผู้ที่ไว้วางใจเข้ารับฟังการสอบสวนได้


3) สำหรับผู้ต้องหาที่อายุไม่ถึง 18 ปี ยังถือเป็นเด็ก เจ้าหน้าที่ต้องจัดสถานที่ให้เหมาะสม ต้องมีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ ต้องมีบุคคลที่เด็กร้องขอ และต้องมีพนักงานอัยการ ร่วมการสอบสวนด้วย


กระบวนการตามภาวะปกติ ตำรวจมีอำนาจควบคุมตัวไว้ในห้องขังของสถานีตำรวจได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง หลังจากนั้นถ้าจะควบคุมตัวต่อต้องนำตัวไปศาลเพื่อขออำนาจศาลให้สั่ง “ฝากขัง” และเอาตัวไว้ในเรือนจำ แต่ภายใต้ประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง” ตำรวจอาจจะอ้างอำนาจว่า ควบคุมตัวได้นาน 7 วัน ในสถานที่ที่ไม่ใช่สถานีตำรวจและไม่ใช่เรือนจำ

 

ทางปฏิบัติในช่วง 4 วันแรกของการประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง” ตำรวจจะเอาตัวคนถูกจับไปลงบันทึกประจำวันที่สน.ท้องที่ เป็นเวลาสั้นๆ และนำตัวไปควบคุมที่ ตชด.ภาค1 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งจะพยายามควบคุมตัวผู้ถูกจับไม่เกิน 48 ชั่วโมงก่อนพาไปศาล

 

ต่อมามีการออกข้อกำหนดให้ใช้ค่ายทหาร คือ กองบัญชาการช่วยรบที่ 1 ค่ายพนัสบดีศรีอุทัย อ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี เป็นสถานที่ควบคุมตัวด้วย ซึ่งเท่าที่ทราบยังไม่มีใครถูกส่งไปควบคุมตัวที่ค่ายนี้

 

ข้อควรทำสำหรับผู้ถูกจับกุม

1. ถ้าหากไปคนเดียว ไม่มีใครที่ไปด้วยและคอยอยู่ช่วยดูแล ให้ตะโกนบอกคนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงว่า ตัวเองถูกจับกุมตัวแล้ว บอกชื่อ-นามสกุล และบอกคนใกล้เคียงว่า ให้ติดต่อเพื่อนหรือญาติที่ไว้วางใจ หรืออาจจะเขียนข้อมูลใส่กระดาษติดตัวไว้ แล้วส่งให้กับคนที่อยู่ใกล้เคียงช่วยดำเนินการต่อก็ได้

 

2. เมื่อถูกจับกุมตัว ไม่ต้องต่อสู้ขัดขืนด้วยกำลัง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บโดยไม่จำเป็น แต่ให้ถามหาสิทธิของผู้ถูกจับกุม ให้ถามข้อกล่าวหา เหตุผลในการจับกุม และสถานที่ที่จะถูกพาตัวไป หากตำรวจที่ทำหน้าที่จับกุมไม่ได้ตอบอาจจะเป็นเพราะได้รับคำสั่งห้ามตอบ หรือเพราะไม่รู้คำตอบจริงๆ ก็ไม่ต้องตกใจ แต่ให้ยืนยันถามหาสิทธิของตัวเองไปเรื่อยๆ โดยสุภาพ

 

3. พยายามจดจำ และบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่า ก่อนถูกจับกุมตัวนั้นทำอะไรอยู่ พฤติการณ์การจับกุมตัวทำโดยใคร กี่คน แต่งตัวอย่างไร มีการใช้กำลังรุนแรงทำให้ได้รับบาดเจ็บตรงไหนหรือไม่ การจับกุมต้องใส่กุญแจมือหรือเครื่องพันธนาการใด ถูกพาตัวไปที่ไหนและมีกระบวนการอะไรเกิดขึ้นกับตัวเองบ้าง เพื่อจะได้เล่าให้ทนายความฟังเมื่อมีโอกาส หากยังสามารถใช้โทรศัพท์ได้จะถ่ายทอดสดเหตุการณ์การควบคุมตัวไปด้วยก็ได้

 

4. ในขั้นตอนการสอบสวน คือ การที่ตำรวจจะมานั่งคุยด้วยเพื่อทำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคดี ต้องยืนยันให้ตำรวจแจ้งสิทธิให้ครบถ้วน ถ้าไม่อยากตอบคำถามก็ใช้สิทธิไม่ให้การในชั้นนี้ก็ได้ ถ้าไม่มั่นใจกับคำถามไหนก็ไม่ตอบเฉพาะกับคำถามนั้นๆ ก็ได้ เพราะทุกอย่างที่ให้การไปจะถูกบันทึกและเอาไปใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาล ถ้าหากตอบคำถามผิดไปการขอตอบคำถามใหม่ในชั้นศาลจะไม่น่าเชื่อถือ

 

5. ในขั้นตอนการสอบสวน ต้องยืนยันสิทธิที่จะมีทนายความและมีผู้ที่ไว้วางใจเข้าฟังการสอบสวนด้วย หากมีทนายความที่รู้จักกันพร้อมช่วยเหลือคดีอยู่แล้ว ให้ยืนยันกับตำรวจว่า จะให้สอบสวนต่อเมื่อทนายความคนนั้นๆ มาถึงเท่านั้น และให้ตำรวจติดต่อทนายความคนนั้น

 

ถ้าหากยังไม่มีทนายความ แนะนำให้แจ้งกับตำรวจให้ชัดเจนว่า ต้องการพบกับทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งติดตามและช่วยเหลือคดีที่เกี่ยวกับการเมืองมานานและมีความรู้ประสบการณ์อย่างดี

 

ระวังว่า ตำรวจอาจจะหาทนายความที่เป็นเพื่อนกับตำรวจหรือทนายความที่อื่นมาซึ่งไม่ได้มีประสบการณ์โดยตรงและอาจให้คำแนะนำไม่ครบถ้วน ผู้ต้องหาสามารถปฏิเสธไม่ใช้ทนายความที่ไม่แน่ใจได้หากมีทนายความที่แน่ใจได้แล้ว ยังยืนยันสิทธิที่จะให้ผู้ไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบสวนได้อีกด้วย ซึ่งอาจจะเป็นเพื่อน พ่อ แม่ ญาติ อาจารย์ หรือใครก็ตามที่ต้องการให้มานั่งเป็นเพื่อนระหว่างถูกตำรวจซักถาม

 

เพื่อนๆ ญาติๆ หรือทนายความอาจช่วยเรียกร้องสิทธิให้ผู้ต้องหาได้บ้าง แต่ไม่มีน้ำหนักเท่าการที่ผู้ต้องหายืนยันสิทธิของตัวเอง ถ้าหากผู้ต้องหาใช้บริการทนายความที่ตำรวจจัดหาให้ และให้การรับสารภาพไปโดยไม่ถามหาสิทธิของตัวเอง โดยไม่เข้าใจข้อกล่าวหา คนอื่นก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้
จากทางปฏิบัติที่ผ่านมา หากทนายความหรือญาติต้องการเข้าพบผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวและสอบสวนอยู่ที่ ตชด.ภาค1 ก็อาจจะพบอุปสรรคเจ้าหน้าที่อนุญาตให้เข้าบ้างไม่ให้เข้าบ้าง

 

บางครั้งก็อ้างว่า ผู้ต้องหามีทนายความแล้ว บางครั้งก็อ้างว่า ให้ญาติมาเฉพาะเวลาเยี่ยม แต่ถ้าหากเป็นกรณีที่ผู้ต้องหาร้องขออย่างชัดเจนว่า ต้องการให้ทนายความคนใดและผู้ไว้วางใจคนใดเข้าร่วมการสอบสวน มิเช่นนั้นจะไม่ยินยอมร่วมในกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่ก็จะปฏิบัติตามเพื่อรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหา

 

ดังนั้น จึงสำคัญที่ผู้ถูกจับกุมจะต้องทราบสิทธิของตัวเองและสิ่งที่ควรทำ เพื่อที่จะได้ยืนยันสิทธิของตัวเองได้ถูกต้อง และตกเป็นเหยื่อของการใช้กระบวนการยุติธรรมมาเป็นเครื่องมือขวางกั้นการใช้เสรีภาพในการชุมนุม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง