ถอดปรากฏการณ์ฮิต 'Squid Game' เมื่อเราต่างเป็นผู้เล่น บนเกมทุนนิยมที่โหดร้าย
นับเป็นปรากฏการณ์ที่ซีรีส์ Squid Game ‘สควิดเกม เล่นลุ้นตาย’ จากเกาหลี ไต่ขึ้นเป็นอันดับ 1 ได้รับความนิยมกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ไม่เฉพาะกับในประเทศเกาหลี กระทั่ง เท็ด ซารานดอส ซีอีโอของเน็ตฟลิกซ์ ได้ออกมาบอกว่า นี่เป็นซีรีส์ที่มีผู้ชมมากที่สุดที่มีมา
ซีรีส์ขึ้นเป็นที่ 1 ในสหรัฐเพียง 4 วันหลังออกฉาย นับเป็นซีรีส์ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษที่ขึ้นอันดับเร็วที่สุด และคาดว่าจะมีผู้ชมมากกว่า 82 ล้านซับสไครบ์ ทั่วโลกใน 28 วัน หากเทียบกับเรตติ้งทีวีแบบเดิมๆ อาจจะแตะถึง 40 ด้วยกัน (ที่มา Fortune)
เปิดเรื่องราวของ Squid Game
“กลุ่มคนถังแตกหลายสิบคน รับคำเชิญปริศนาให้ร่วมเล่นเกมที่ออกแบบตามการละเล่นสุดโปรดของเด็กๆ ทว่าเมื่อก้าวเข้ามาแล้ว เดิมพันที่ต้องจ่ายอาจหมายถึงชีวิต”
คำโปรยที่เน็ตฟลิกซ์ บอกไว้เพื่อชักชวนให้คนกดเข้ารับชมซีรีส์ 9 ตอน
หนังดำเนินเรื่องราวโดย กีฮุน หนุ่มผู้ไร้งานที่ต้องการเงินเข้าไปรักษาแม่ ที่ได้เข้าไปร่วมเล่นเกมลุ้นตาย กับผู้เล่นรวมทั้งหมด 456 คน ในที่นั่น เขาได้พบทั้ง โจซังอู หมายเลข 218 หนุ่มม.โซล ความภูมิใจของชาวบ้านในย่านที่เป็นหนี้หนัก ที่กีฮุน รู้จักเป็นอย่างดี, โออิลนัม หมายเลข 001 ชายชราผู้มีก้อนเนื้อในสมอง, สาวเกาหลีเหนือ แซบยอก หมายเลข 067 ที่ต้องเจอกับความยากลำบาก น้องชายอยู่ในสถานสงเคราะห์และต้องแยกจากครอบครัว รวมไปถึงมาเฟีย และชาวปากีสถาน แรงงานต่างด้าว ที่ถูกเจ้านายกดขี่ ซึ่งทั้งหมดต้องมาแข่งขันชิงเงินรางวัล 45,600 ล้านวอน
ทั้งหมดต้องแข่งขันกันด้วยเกมต่างๆ ที่เคยเล่นสมัยเด็ก เช่น เออีไอโอยู หยุด หรือเกมจากทัลโกนา ขนมพื้นบ้านของเกาหลี ที่หากใครพลาดต้องถูกยิง ทุกครั้งที่มีคนตาย เงินรางวัลก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมีกฎว่า ผู้เล่นห้ามหยุดเล่น คนที่หยุดเล่นจะต้องตกรอบ และหากต้องการหยุดเล่น ก็ต้องให้คนส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าจะเลิกเล่นเกมดังกล่าว
ความฮิต ถล่มทลาย
กระแสความนิยมของซีรีส์ดังกล่าว ทำให้เหล่าดาราที่เล่นซีรีส์ในเรื่อง โด่งดังเป็นพลุแตกทันที โดยเฉพาะกับ จองโฮยอน สาวเกาหลีเหนือ ที่ยอดฟอลโลว์เวอร์ในอินสตาแกรม พุ่งจาก 4 แสน ไปถึง 11.7 ล้านคนแล้ว ขณะที่พระเอกของเรื่องอย่าง อีจอนแจ ที่เพิ่งเปิดไอจี ก็มีคนติดตามพุ่งไป 1.1 ล้านคนทันที ทั้งมีคนเปิดแอคเคาท์ตามเขาหลายสิบคน
ขณะที่ งานอีเวนต์ของซีรีส์ ที่นำเอาของเล่นไปตั้งที่สถานีรถไฟฟ้าอีแทวอน ก็มีคนเข้าไปต่อคิวเล่นกันอย่างมาก หรือแม้กระทั่งขนมอย่าง ทัลโกนา ขนมพื้นเมือง ก็มีคนเข้าไปต่อคิวซื้อกระทั่งขายดีกว่าเดิมนับเท่าตัว และมีเครื่องทำขนมขายในเว็บดังๆ ทำให้ชาวเน็ตไทยหลายคนหวนคิดถึงขนมไทยอย่าง น้ำตาลปั้น และหวังว่าจะได้รับการชุบชีวิต ดังที่สื่อเกาหลีได้สร้างปรากฏการณ์นี้ขึ้นอีกครั้ง
ไปจนถึงเบอร์โทรศัพท์ที่ปรากฏในเรื่อง ก็มีคนกระหน่ำโทรเข้าไปหลายพันครั้ง จนแบตโทรศัพท์หมดเกลี้ยง แม้กระทั่ง เอสเค บรอดแบนด์ ผู้ให้บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในเกาหลี ยังยื่นฟ้องเน็ตฟลิกซ์ เนื่องจากผู้เข้าชมคอนเทนต์พุ่ง จนทราฟฟิกบนเครือข่ายของเอสเค หนาแน่นและกระทบกับผู้ใช้บริการอื่นๆ
เบื้องหลัง Squid Game
คังดงฮยอก ผู้เขียนบทและผู้กำกับ Squid Game เปิดเผยว่าความสำเร็จของซีรีส์ในระดับโลก เป็นสิ่งที่เขาไม่เคยคาดหวังมาก่อน เรียกว่าเป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญในชีวิต ที่เขาบอกว่ากุญแจสู่ความสำเร็จนี้ก็คือ “ความเรียบง่าย”
ความเรียบง่ายของเกม ช่วยให้คนดื่มด่ำกับตัวละครและเรื่องราวเสียดสีสังคมที่ต้องแข่งขัน ในขณะที่ผู้คนถูกผลักลงไปอยู่ก้นบึ้งโดยหมดหวังจะฟื้นคืน และยังเป็นเรื่องราวประชดประชันของผู้ใหญ่ที่เสี่ยงชีวิต เพื่อเอาชนะเกมของเด็ก ซึ่งผู้ชมโฟกัสที่ตัวละครแต่ละตัว มากกว่าความซับซ้อนของเกม (ที่มา ยอนฮับ)
เขาเล่าว่า เขาได้เขียนบทขึ้นมา เมื่อปี 2551 ขณะที่เขาประสบปัญหาทางการเงิน และได้นั่งอ่านหนังสืออย่าง “The Hunger Games” และ “Battle Royale” ที่ทำให้เขาคิดว่าหากเขาเป็นเจ้าของเกมจะทำเช่นไร ทำให้เขาเขียนเรื่องเปรียบเทียบเข้ากับสังคมทุนนิยมสมัยใหม่ ที่ดึงผู้คนเข้ามาแข่งขัน บทเรื่องดังกล่าวถูกปฏิเสธ กระทั่งได้ร่วมงานกับเน็ตฟลิกซ์เมื่อ 2 ปีที่แล้ว
“หลังจากผ่านมา 12 ปี โลกเปลี่ยนไปเป็นสถานที่ซึ่งเรื่องราวการเอาชีวิตรอด ในความแปลกประหลาด ความรุนแรง ได้รับการตอบรับ” เขาเผยและว่า ผู้คนแสดงความคิดเห็นว่าซีรีส์เกี่ยวข้องกับชีวิตจริงอย่างไร น่าเศร้าที่โลกเปลี่ยนไปเป็นแนวทางนั้น ผู้คนต้องการเงินรางวัลจากแจ็กพอต ทั้งหุ้น อสังหาริมทรัพย์ และคริปโตเคอเรนซี (ที่มา koreatimes)
เจาะความดังซีรีส์แห่งปี
จากแก่นของเรื่องคือการต่อสู้ในโลกทุนนิยม ที่ทุกคนต้องเอาตัวรอด ทำให้เราได้เห็นเหล่าตัวละครที่เป็นกลุ่มคนชายขอบ ต้องลุกขึ้นมาสู้เพื่อให้ก้าวพ้นสู่ขีดเส้นชีวิตที่ดีขึ้น แต่ก็มีเพียงคนเพียงหยิบมือที่จะขึ้นสู่ยอดพิระมิด ขณะที่คนอื่นล้มตายเป็นจำนวนมาก
ทั้งตัวละครต่างๆ ถ่ายทอดเรื่องราวของบรรดา Loser ทั้งชนชั้นแรงงาน, หนุ่มที่พยายามยกฐานะตัวเอง มีการศึกษาที่ดีแต่ก็ล้มเหลว ไปจนถึง แรงงานต่างด้าว ฉายภาพของสังคมเกาหลีที่ต้องดิ้นรน ที่หลายคนอาจได้เคยเห็นมาก่อนจาก Parasite (ที่มา USA today)
สควิดเกม บอกเล่าเรื่องราวความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง หนังฉายให้เห็นว่าเราถูกควบคุมโดยผู้ชมเกมที่ร่ำรวย ตอนจบของหนังยังเฉลยให้เห็นเบื้องหลังของผู้คุมเกม ที่แสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนสูงวัยที่วางอนาคตประเทศนี้
ขณะที่ ชาวเกาหลีเหนือ ก็ต้องการหลบหนีจากประเทศเผด็จการเพื่อมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ก็ต้องสูญเสียพ่อไป นับเป็นความสิ้นหวังเหมือนกับคนทั่วโลก ที่ต้องเผชิญหลังวิกฤตโควิด ที่เราได้เห็นความไม่เท่าเทียม มองเผินๆอาจเหมือนกับ คนไทยที่เรียกร้องประชาธิปไตย และชีวิตที่ดีกว่า แต่ก็ต้องสูญเสียอะไรจำนวนมาก ไปจนถึงถูกดำเนินคดีไม่น้อย
เพราะทุกคนก็คือตัวละครหนึ่ง
บีบีซี ได้เปิดเผยบทสัมภาษณ์ของ คิม พยองกัง อาจารย์ด้านวัฒนธรรมโลกจากมหาวิทยาลัยซังมยองในเกาหลีใต้ ที่มองว่า ผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ มักรู้สึกโดดเดี่ยวและไม่พอใจกับชีวิตจริง จนรู้สึกเห็นอกเห็นใจตัวละคร
ในสังคมเกาหลีใต้ มีการแข่งขันสูง ทำให้หลายคนผิดหวังในชีวิต ที่แม้จะพยายามแค่ไหน ก็เป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะได้เข้ามหาวิทยาลัยดีๆหรืองานดีๆ ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่คนทั่วโลกต่างรู้สึกเหมือนๆกัน กับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น ชาวอเมริกันเป็นหนี้มากกว่าที่เคยเป็นมา แม้กระทั่งชาวไทย ที่เพิ่งขยายเพดานหนี้สาธารณะไปเป็น 70%
การระบาดของโควิด 19 ยิ่งทำให้คนตกงาน หนี้เพิ่มมากขึ้น ไปจนถึงช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน ที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จนผู้ชมเข้าใจในโอกาสที่เหล่าตัวละครได้รับได้ไม่ยาก (ที่มา Buzzfeed )
แม้ว่าหนังจะมีจุดด้อยบางส่วน ที่ผู้ชมอาจจะรู้สึก ไม่สมเหตุสมผล ในบางฉาก และแอบตั้งข้อสงสัยถึงความคล้ายคลึงของฉากต่างๆ ในซีรีส์ แต่ความที่ทุกคนก็กำลังต่อสู้กับโลกทุนนิยม ก็พาให้เราอินไปในช่วงเวลาได้
ความเหลื่อมล้ำ และความเปลี่ยนแปลง
กันยายน 2563 หลังจากการแพร่ระบาดของโควิดมานับปี สภาพัฒน์ฯ ได้เผยตัวเลขว่า การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้หนี้สาธารณะไทยเพิ่มขึ้น โดยนับแต่ปี 2550-2563 หนี้สินต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนอยู่ที่ 80% ต่อจีดีพี ผู้มีรายได้มากที่สุด แตกต่างจากรายได้น้อยที่สุด 20 เท่า โดยมีกลุ่มคนชนชั้นกลางอยู่ประมาณ 35% สะท้อนถึงการกระจุกตัวของรายได้ในกลุ่มบน และการแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ทั่วถึงไปสู่คนกลุ่มล่าง รวมถึงการกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ คนจนมีโอกาสเพียง 3.8% ที่จะเข้าเรียนปริญญาตรี
ขณะที่หลายประเทศทั่วโลก เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากการได้รับวัคซีนพร้อมเปิดประเทศ ขณะที่หลายชาติยังไม่ได้รับ ยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และ การศึกษา
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเมืองโลก พรรคขวา อนุรักษนิยม ได้มีโอกาสขึ้นมาบริหารประเทศในหลายชาติ แต่การเลือกตั้งเยอรมันครั้งล่าสุด หลังจาก อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรี ประกาศลงจากตำแหน่ง นายโอลาฟ โชลทซ์ ผู้นำพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย โซเชียล เดโมแครต (เอสดีพี) พรรคแนวทางกลางซ้ายของเยอรมนี เฉือนเอาชนะ พรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียนและพรรคสหภาพสังคมคริสเตียน (ซีดียู-ซีเอสยู) แนวทางอนุรักษนิยม ที่มีนายอาร์มิน ลาสเชท วัย 60 ปี ถือธงนำแทนนางแมร์เคิลในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ไปอย่างเฉียดฉิว
ซึ่งโทนี วู้ดซัม หรือทักษิณ ชินวัตร ได้มองว่า การเลือกตั้งที่พรรคกลางทางซ้ายชนะนี้ เป็นความรู้สึกของชาวบ้านที่มีความรู้สึกว่า คนข้างล่าง รายได้ต่ำ ค่าใช้จ่ายสูง เลี้ยงตัวเองยาก และต้องการพรรคที่แคร์ประชาชน และให้จับตาดูแนวโน้มทั่วโลก เพราะโรคระบาด ทำให้คนจนหนัก คนรวย รวยไปอีก
ขณะที่ นิวยอร์ก ไทมส์ มองว่า ยังเร็วเกินไปที่จะกล่าวว่า ชัยชนะครั้งนี้จะทำให้พรรคต่างๆที่ค่อนไปทางซ้าย ขึ้นมาชนะการเลือกตั้งในยุโรปได้หรือไม่ โดยว่าแม้ผลการเลือกตั้งจะยังฝุ่นตลบในการจัดตั้งรัฐบาล แต่การชนะพรรคฝ่ายขวาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็เป็นสัญญาณชี้ว่าลูกตุ้มทางการเมืองกำลังแกว่งกลับมาทางซ้าย
ภาพที่คนอยากเห็นต่อจากตอนจบของหนัง จึงอาจไม่ใช่ฉากที่ตัวละครใดตัวละครหนึ่ง ต้องเข้ามาแข่งขันเพื่อชิงเงินรางวัลก้อนต่อไป แต่คือการที่คนมีรัฐสวัสดิการที่ดี ได้ลืมตาอ้าปากในโลกของทุนนิยมอันโหดร้ายนี้