กัมพูชาปล่อยเต่าหลวง ชนิดใกล้สูญพันธุ์ที่สุดในโลก ลงแม่น้ำสเรอัมเบล
กัมพูชาปล่อยเต่าหลวง - ซินหัว รายงานว่า กัมพูชาปล่อย เต่าหลวง (Royal Turtle) หรือ เต่ากระอานใต้ ชนิดใกล้สูญพันธุ์สู่ถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติในแม่น้ำสเรอัมเบล จังหวัดพระสีหนุทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ จำนวน 10 ตัว
เต่าหลวงหรือเต่ากระอานใต้เป็นหนึ่งใน 25 พันธุ์เต่าน้ำจืดใกล้สูญพันธุ์มากที่สุดในโลก โดยสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) กำหนดให้เต่าหลวงเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤตในบัญชีแดง
แถลงการณ์ร่วมจากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) และกรมประมงของกัมพูชา ระบุว่าการปล่อยเต่าหลวง เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2021 เป็นผลจากการปกป้องแหล่งที่อยู่อาศัยของเต่ามาเกือบ 2 ทศวรรษ การเลี้ยงดูลูกเต่าในศูนย์อนุรักษ์สัตว์เลื้อยคลานเกาะกง (KKRCC) และการคุ้มครองเต่าตามแม่น้ำสเรอัมเบล
การปล่อยเต่าครั้งนี้นับเป็นการปล่อยเต่าหลวงกัมพูชาลงแม่น้ำสเรอัมเบล ครั้งที่ 5 หลังจากมีการปล่อยในปี 2015 2017 2019 และ 2020 ซึ่งยอดรวมเต่าที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติอยู่ที่ 96 ตัว
“เราขอขอบคุณความร่วมมือจากหน่วยงานท้องถิ่น ชุมชน และสมาคมฯ ที่ร่วมกันอนุรักษ์เต่าหลวงใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติเหล่านี้ให้คงอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติสืบไป” โอ๊ค วิบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำกล่าว
“ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดควรเดินหน้าความพยายามอนุรักษ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ชนิดต่างๆ ต่อไป และผู้ที่ยังคงทำการค้าขายสัตว์คุ้มครองจะต้องถูกดำเนินการทางกฎหมาย”
สม สิทธา ผู้จัดการโครงการภูมิทัศน์ของสมาคมฯ กล่าวว่าเต่าหลวงทั้งสิบตัวถูกนำมาเลี้ยงดูที่ศูนย์อนุรักษ์สัตว์เลื้อยคลานเกาะกงทันทีที่ออกจากรังในแม่น้ำสเรอัมเบลและแม่น้ำกัมปงเลอในจังหวัดเกาะกงและจังหวัดพระสีหนุระหว่างปี 2006-2015
แถลงการณ์ระบุว่าพระราชกฤษฎีกาของกัมพูชาในปี 2015 กำหนดให้เต่าหลวงเป็นสัตว์เลื้อยคลานประจำชาติ พร้อมเสริมว่าการขุดลอกทราย การทำประมงผิดกฎหมาย การใช้ประโยชน์จากธรรมชาติมากเกินควร และการสูญเสียที่อยู่อาศัยเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อความอยู่รอดของเต่าหลวงใกล้สูญพันธุ์เหล่านี้
ก่อนหน้านี้เชื่อกันว่าเต่าหลวงสูญพันธุ์จากกัมพูชาแล้วจนกระทั่งปี 2000 กรมประมงฯ และสมาคมฯ ค้นพบเต่าหลวงจำนวนหนึ่งในแม่น้ำสเรอัมเบล จึงทำงานร่วมกันเพื่อปกป้องพวกมันจากการสูญพันธุ์
แถลงการณ์ระบุว่ามีการจัดกิจกรรมอนุรักษ์มากมาย อาทิ โครงการปกป้องรัง การเลี้ยงดูและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ การบังคับใช้กฎหมาย การวิจัยและเฝ้าติดตาม การป้องกันการค้าผิดกฎหมาย การประชาสัมพันธ์ และการช่วยเหลือการดำรงชีวิต
“โครงการปกป้องรังมีบทบาทสำคัญในการปกป้องเต่าหลวง โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการคุ้มครองรังธรรมชาติและช่วยให้แม่เต่าได้ฟักไข่ รวมถึงช่วยเลี้ยงดูลูกเต่าแรกเกิดและปล่อยคืนสู่ป่าธรรมชาติได้สำเร็จ” ผู้อำนวยการโครงการของสมาคมฯ กล่าว
////
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
น่ารัก! ชมภาพเต่าตนุ "เผือกครึ่งตัว" ครึ่งบนดำ ครึ่งล่างขาว นักอนุรักษ์ชี้หาได้ยาก