รีเซต

โควิดก็ต้องสู้ สิทธิก็ต้องรักษา เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช 'รัฐต้องรับผิดชอบค่าตรวจคัดกรอง'

โควิดก็ต้องสู้ สิทธิก็ต้องรักษา เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช 'รัฐต้องรับผิดชอบค่าตรวจคัดกรอง'
มติชน
12 เมษายน 2563 ( 16:15 )
101
1
โควิดก็ต้องสู้ สิทธิก็ต้องรักษา เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช 'รัฐต้องรับผิดชอบค่าตรวจคัดกรอง'

ไม่แปลกใจเลยว่าเหตุใดคนจำนวนไม่น้อยถึงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งตรวจคัดกรอง “โควิด-19” แก่ประชาชน

นั่นเพราะรัฐธรรมนูญไทยระบุไว้ชัดเจนว่า บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ก่อนหน้านี้ เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกมาแสดงความเป็นห่วงกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่ในระดับล่างของสังคม อีกทั้งให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์และคนทำงานด้านบริการในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มข้น

วันนี้เขายังยึดมั่นแนวทางดังกล่าว พร้อมเร่งรัดให้รัฐบาลรับผิดชอบดูแลค่าใช้จ่ายการตรวจคัดกรองโรค เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางสาธารณสุข

บทสนทนาต่อไปนี้จึงหวังให้ภาครัฐพึงตระหนักว่า หากจะร่วมกันฝ่าฟันวิกฤตการณ์นี้ไปได้ ก็ไม่ควรทิ้งใครแม้แต่คนเดียวไว้ข้างหลัง

 

 

ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไทยแล้ว ประชาชนย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐถูกต้องหรือไม่?

ใช่ครับ เพราะในมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

นี่เป็นพันธกิจของรัฐบาลโดยตรงที่จะต้องทำให้ประชาชนปลอดภัยจากโรคติดต่อทั้งปวง รวมทั้งสามารถเข้ารับบริการสาธารณสุขได้ ซึ่งจริงๆ แล้วสิทธิประกันสังคม รวมทั้งสิทธิ 30 บาท หรือบัตรทอง ก็คุ้มครองครอบคลุมในส่วนของการรักษาพยาบาล และเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของประชาชนที่มีในปัจจุบัน

แต่บังเอิญว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือกระบวนการในการตรวจคัดกรอง หากดูจำนวนผู้คัดกรองของประเทศไทยเทียบกับต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา จะเห็นว่าปริมาณผู้ตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่างกัน เหตุผลหนึ่งอาจด้วยความจำกัดของสถานพยาบาลที่ไม่สามารถให้บริการการตรวจได้อย่างครอบคลุม อีกทั้งนโยบายของรัฐเองก็ไม่มีความชัดเจน กล่าวคือตอนนี้ยังไม่คุ้มครองการตรวจ สมมุติถ้าตรวจเจอก็ได้รับการรักษาพยาบาล แต่ถ้าตรวจแล้วไม่เจอ ผู้ไปตรวจก็ต้องรับผิดชอบค่าตรวจเอง นี่เองที่แตกต่างกับประเทศอื่นๆ ที่ได้กล่าวไป

ดังนั้น กระบวนการหนึ่งที่ทำให้การคัดกรองขยายวงมากขึ้น ครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร เสริมสร้างความเท่าเทียมกันทางสาธารณสุขจริงๆ คือรัฐควรต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจคัดกรองด้วย

นอกเหนือจากผู้มีรายได้น้อยแล้ว กลุ่มคนที่เป็นน่าห่วงที่สุดยังรวมถึง ‘คนไร้บ้าน’ ด้วย ในกรณีแบบนี้คนเหล่านี้ควรจัดการชีวิตอย่างไร?

ในสภาวะนี้คนไร้บ้านจะหนักสุด ด้วยความที่ลำบากกว่าเพื่อนอยู่แล้ว แม้แต่บ้านก็ไม่มี โดยเฉพาะปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตปกติทั่วไปก็แย่ไม่รู้จะแย่ยังไงอยู่แล้ว ดังนั้น ยิ่งเจอสถานการณ์แบบนี้ ศักยภาพและความยืดหยุ่นในการรองรับปัญหาที่เกิดขึ้นก็ยิ่งเป็นไปได้น้อย

สังเกตได้ว่า คนที่มีรายได้น้อยหรือมีภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและสังคมน้อย โอกาสที่จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อก็มากขึ้นไปด้วย โอกาสในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลก็น้อยลง แม้จะมีสิทธิอยู่ แต่หนทางที่จะไปใช้สิทธิก็ค่อนข้างมืดมน แม้คนไร้บ้านจะได้รับการปกป้องในทางกฎหมาย แต่ถามว่าหนทางที่เขาจะใช้กฎหมายนั้นได้ กล่าวคือได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายก็แทบไม่มีเลย

กลุ่มคนเปราะบางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคนไร้บ้าน ผู้ทุพพลภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหาในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขอยู่แล้ว ตอนนี้อาจมีปัญหาในการเข้าถึงมากขึ้นไปอีก ตลอดจนลูกจ้างรายวันที่อยู่นอกระบบซึ่งตกงานอยู่ในปัจจุบัน หรือลูกจ้างในระบบที่เพิ่งตกงานมาหมาดๆ แม้จะมีมาตรการคุ้มครอง แต่กลุ่มคนทั้งหมดที่ได้กล่าวมาก็อยู่ในสภาวะล่อแหลมทั้งหมด นี่ยังไม่รวมถึงกลุ่มคนที่อยู่ในภาคการเกษตรซึ่งอยู่นอกระบบการจ้างงานเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งได้รับผลกระทบกันทุกกลุ่ม รวมทั้งพ่อค้าแม่ค้ารายวันเองก็ได้รับผลกระทบภายหลังจากประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

บัดนี้เรายังไม่มีภาพชัดเจนว่าคนเหล่านี้จะเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างไร โอเคว่ารัฐธรรมนูญระบุไว้ แต่เขาจะเข้าถึงได้อย่างไรมากกว่า ซึ่งในสภาวะปกติคนเหล่านี้ก็เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพได้ยากระดับหนึ่งอยู่แล้ว เมื่อสถานการณ์เลวร้ายลงแบบนี้ อัตราการติดเชื้อของคนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คิดว่านี่ก็เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมาก

ย้อนอ่าน : ‘คนไร้บ้าน’ อยู่ตรงไหน? ในสมรภูมิ ‘โควิด’ วันที่ใครๆ ได้ #stayathome

แง่หนึ่ง บุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด้านการเฝ้าระวังการติดเชื้อไวรัสก็น่าเป็นห่วง และควรได้รับการปกป้อง คุ้มครอง ตลอดจนเยียวยากรณีที่ติดเชื้อจากการปฏิบัติงานที่เข้มข้นกว่านี้?

ก่อนอื่นต้องขอบพระคุณผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งแพทย์ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ รวมถึงผู้ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลทุกแผนก แม้กระทั่งแม่บ้านที่ขณะนี้ทำงานหนักมาก บุคลากรเหล่านี้ควรได้รับการปกป้อง ซึ่งจริงๆ แล้วในกฎหมายก็ระบุว่าควรได้รับการปกป้องในเรื่องสิทธิด้านการปฏิบัติหน้าที่ที่เรียกว่าหัตถการโดยไม่ถูกคุกคาม รุกล้ำ ซึ่งประชาชนควรให้ความสำคัญในส่วนนี้ว่า แม้ในบางครั้งการบริการหรือต้องเจอผู้คนจำนวนมาก การเข้าถึงไม่เพียงพอ ก็ไม่ใช่ความผิดของบุคลากรเหล่านี้ แต่เป็นความผิดของระบบสาธารณสุขที่มีอยู่ในประเทศเรา ต้องแยกให้เห็นว่าบุคลากรเหล่านี้ได้ทำงานเต็มที่อย่างสุดความสามารถ และทุ่มเทที่จะช่วยสังคมเราอยู่แล้ว ดังนั้น การทำให้เป็นประเด็น ก่ออุปสรรค ตลอดจนคุกคามบุคคลเหล่านี้ก็ถือเป็นการละเมิดสิทธิในการทำงานของเขาด้วย ผมคิดว่านอกจากจะควรให้ความเคารพแล้ว ยังควรเห็นใจคนที่ทำงานด้านนี้

ขณะเดียวกันยังเห็นว่านโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการซื้ออุปกรณ์ หรือความพร้อมในการเตรียมอุปกรณ์ให้กับบุคลากรด้านสาธารณสุขที่มีในปัจจุบันไม่สมดุลกับภาระที่เขาต้องรับผิดชอบ เขาต้องรับทั้งความเสี่ยง ความลำบากในระดับหนึ่ง แต่รัฐบาลให้การสนับสนุนน้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องป้องกันความเสี่ยง แม้กระทั่งการสนับสนุนงบประมาณ นี่ยังไม่นับรวมถึงค่าตอบแทนพิเศษให้กับคนที่ทำงานหนักเหล่านี้ด้วย

นอกเหนือจากอาชีพแพทย์แล้ว ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องทำงานอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานกับความเสี่ยง อาทิ คนทำงานบริการ พนักงานทำความสะอาดตามอาคาร แม่บ้าน คนขับรถ พนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานเก็บขยะ คนเหล่านี้หยุดงานไม่ได้ ถ้าเขาหยุด สังคมก็มีปัญหา คนเหล่านี้ควรได้รับความคุ้มครอง เอาใจใส่ กล่าวคือต้องมีนโยบายบางอย่างที่ทำให้เห็นว่าเราใส่ใจกับคนที่ทำให้สังคมขับเคลื่อนต่อไปข้างหน้าได้ โดยเฉพาะพยายามทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ในปัจจุบันดีขึ้นได้

ภาคการศึกษา รวมทั้งตัวอาจารย์เอง ถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยหรือไม่?

เชื่อว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กระทบกับทุกคนอยู่แล้ว แต่พวกอาจารย์น่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดกลุ่มหนึ่งในการดำเนินชีวิต ทั้งนี้ ในระบบการศึกษานั้น ส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือนักศึกษาที่สถานะทางบ้านไม่ค่อยดี เมื่อผู้ปกครองได้รับผลกระทบ นักศึกษาก็อาจได้รับผลกระทบตามไปด้วย ซึ่งคนกลุ่มนี้ควรให้การดูแลเป็นพิเศษ อย่าลืมว่าสถานศึกษาเหมือนเมืองใหญ่ๆ เมืองหนึ่ง มีตึก มีบริเวณ มีร้านค้าต่างๆ ดังนั้น ส่วนตัวจึงคิดว่าควรให้ความสำคัญกับทุกองคาพยพของหน่วยงานด้านการศึกษามากกว่า

ขณะเดียวกัน คนทำงานอื่นๆ เช่น แม่บ้าน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ต่างๆ ก็ควรได้รับการดูแลในระดับนี้ด้วย ไม่ใช่ปิดกันหมดแล้วปล่อยให้เจ้าหน้าที่มาทำงาน ซึ่งก็ไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น เพราะบุคคลเหล่านี้ก็มีความเสี่ยง อย่างน้อยควรให้มีวันหยุดบ้าง

จะเห็นว่าในสถานศึกษามีร้านค้าต่างๆ อยู่ ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่สถานศึกษาจะพิจารณางดเว้นการเก็บค่าเช่า หรือลดอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเวลาไม่มีนักศึกษา ไม่มีคนอื่นเข้ามาแล้ว เขาเองก็ขาดรายได้ ขณะที่ขาดรายได้ ทว่า ค่าเช่าต่างๆ ก็กลายเป็นภาระที่เพิ่มขึ้น ในเวลาแบบนี้สถานศึกษาควรใส่ใจคนเหล่านี้ จะเอาเฉพาะอาจารย์ก็ไม่ได้ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้เองที่ทำให้สิ่งที่เรียกว่าสถานศึกษาไปข้างหน้าได้ ดังนั้น นโยบายต่างๆ ควรครอบคลุม เห็นอกเห็นใจ เห็นคุณค่าของทุกคนที่อยู่ในสังคมและองค์กรที่ทำงานอยู่

นอกเหนือจากการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลแล้ว มองว่ารัฐควรมีมาตรการอื่นๆ ที่ช่วยคุ้มครองหรือรับผิดชอบชีวิตประชาชนมากกว่านี้หรือไม่?

ในเกือบทุกสถานการณ์ เรื่องการรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลคือส่วนหนึ่ง แต่เรื่องสำคัญมากคือเรื่องการสื่อสาร การให้ข้อมูลข่าวสารที่มีความน่าชื่อถือ เราอาจไม่ต้องพูดถึงบางประเทศหรือบางสังคมที่มีการกล่าวหาว่ามีการปิดข่าว และการไม่บอกข้อมูลที่มีข้อเท็จจริงทั้งหมด

ภายหลังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การดำรงชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป ดังนั้น ข้อมูลทั่วไปที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิต การทำมาหากิน การดูแลรักษาสุขภาพ หรือการเดินทาง ล้วนเป็นข้อมูลสำคัญต่อประชาชนทั้งสิ้น ทั้งนี้ วิธีการที่ประชาชนเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และเชื่อถือได้อย่างไรมากกว่าที่สำคัญ

ส่วนการเยียวยาเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากแรงงานนอกระบบแล้ว แรงงานในระบบที่มีประกันสังคมเองก็มีช่องว่างอยู่หลายส่วน เช่น กรณีที่ถูกเลิกจ้างแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร การลดชั่วโมงทำงาน หรืออื่นๆ ที่มีรายละเอียดมากมาย ผมคิดว่าควรมีความชัดเจนในการเยียวยาคนกลุ่มนี้ด้วย ขณะเดียวกันเว็บไซต์ที่เปิดให้แรงงานนอกระบบลงทะเบียนก็ได้ข่าวว่ามีคนจำนวนมากเข้าไม่ถึง ตลอดจนกลุ่มเกษตรกรที่ไม่ได้เข้าข่ายการเป็นแรงงานนอกระบบ เราจะทำอย่างไรกับกลุ่มคนเหล่านี้

แม้หลายธนาคารจะออกมาตรการผ่อนชำระเงินกู้ หรือการผ่อนปรนต่างๆ แต่อย่างน้อยที่สุดรัฐบาลต้องมีข้อกำหนดที่ชัดเจนว่าสิทธิที่รัฐจะปกป้องนั้นอยู่ตรงไหน เนื่องจากมาตรการของบริษัทเอกชนและธนาคารต่างๆ จำเป็นต้องสอดคล้องกัน นอกจากนี้ ก่อนจะเผชิญวิกฤตการณ์โควิด-19 เราเจอกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างหนักเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว เรามีจำนวนผู้ตกงานอยู่ก่อนหน้านั้นปริมาณหนึ่งแล้ว ถามว่ารัฐจะทำอย่างไร มีมาตรการใดหรือไม่ สิ่งนี้จำเป็นต้องมีความชัดเจน

นอกจากเรื่องการรักษาพยาบาลและนโยบายเกี่ยวกับผู้ใช้แรงงานต่างๆ แล้ว สถานศึกษาเองก็ให้นักศึกษาเรียนออนไลน์ หลายมหาวิทยาลัยซื้อชั่วโมงอินเตอร์เน็ตให้นักศึกษาแล้ว แต่หลายๆ ที่ยังไม่มี เข้าใจว่าด้วยศักยภาพของแต่ละที่แตกต่างกัน เพราะเมื่อรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไป ตรงนั้นทำอย่าง ตรงนี้ทำอย่าง ดังนั้น รัฐควรมีข้อกำหนดที่ชัดเจนว่ามีมาตรการปกป้องคุ้มครองสิทธิในการใช้ชีวิตอยู่อย่างไร

อีกส่วนหนึ่งคือในสถานการณ์ฉุกเฉินแบบนี้ มีโอกาสที่เจ้าหน้าที่ หรือรัฐบาล หรือผู้ที่ดำเนินการตาม พ.ร.ก.อาจไปมีคำสั่ง หรือมีการปฏิบัติที่ไปล่วงสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ต้องไม่ลืมว่าการจำกัดสิทธิเหล่านั้นต้องมีระยะเวลาและเหตุผลที่ชัดเจน อีกทั้งมีมาตรการรองรับว่าการจำกัดสิทธิเหล่านั้นจะไม่เกินขอบเขตของประโยชน์เพื่อการดูแลสุขภาพของประชาชน เช่น บอกว่าให้อยู่ในเคหสถาน แต่ถ้ามีคนที่รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจไม่ชอบเดินออกมานอกบ้าน จะถูกจับว่าละเมิดคำสั่งหรือไม่

ดังนั้น ในเรื่องเหล่านี้ควรมีบรรทัดฐานในการจำกัดสิทธิว่าต้องเป็นไปเพื่อทำให้เกิดประโยชน์ต่อการรักษาสุขภาพ และการสาธารณสุข


 

 ไม่มีประเทศไหนดีและแย่ที่สุด

ในวันที่หลายประเทศทั่วโลกออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 ประเทศไทยก็ใช่ว่าจะนิ่งเฉย

โดยเฉพาะห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ, พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ หรือซอฟต์โลน เพื่อดูแลภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี และ พ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อดูแลและเยียวยาเศรษฐกิจในระยะที่ 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท

อีกทั้งยืดเวลาจ่ายเงินเยียวยากลุ่มแรงงาน ผู้ประกอบอาชีพอิสระนอกระบบประกันสังคม ที่รัฐบาลเปิดให้ลงทะเบียนผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com รับเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาท จากเดิม 3 เดือน เป็น 6 เดือน โดยจะจ่ายไปถึงเดือนกันยายน

เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล คือหนึ่งในผู้สังเกตการณ์นานาประเทศสร้างสรรค์มาตรการเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิประชาชน ทว่า ด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่นี้ ไม่แปลกที่เขาจะมองว่า ไม่มีที่ไหนที่ดีที่สุด และไม่มีที่ไหนที่แย่ที่สุดเช่นกัน

ถามว่า มีประเทศไหนในใจที่คิดว่าเป็นต้นแบบการจัดการปัญหาด้านการรักษา หรือช่วยเหลือ ปกป้อง คุ้มครองประชาชนได้เป็นอย่างดี เหมาะที่จะปรับใช้กับบริบทประเทศไทยบ้างหรือไม่? เอกพันธุ์อธิบายว่า ต้องยอมรับว่าในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น สิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้ไม่มีใครวางแผนไว้อย่างเหมาะเจาะทุกขั้นตอน อาจมีกรอบนโยบายอยู่บ้าง เพราะสิ่งที่เราเจออยู่เป็นสิ่งใหม่ เกือบทุกคนในโลกใบนี้กำลังเจอสิ่งใหม่ๆ เหมือนกัน ดังนั้น แต่ละประเทศจึงดูกันที่ศักยภาพและสภาวะแวดล้อมว่าจะทำอย่างไร

“สิ่งที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน รวมถึงหลายๆ ประเทศในยุโรป และอเมริกาทำได้ดีมากคือการตรวจคัดกรองผู้ป่วย เขาตรวจได้เป็นแสนคน บางอย่างเราทำช้ากว่าเขา บางอย่างทำเร็วกว่าเขา แต่อะไรที่ทำช้ากว่า และเห็นว่าเขาทำแล้วสำเร็จก็ไปเลียนแบบเขาได้ เช่น เรื่องการตรวจคัดกรองผู้ป่วยได้จำนวนมาก หากเราทำได้อย่างเขาก็น่าจะดี

“เรื่องมาตรการเข้า-ออกประเทศของ สิงคโปร์ ก็ดูดี เขาไม่ได้ห้ามเสียทีเดียว แต่มีข้อจำกัดบางอย่างที่สามารถควบคุมได้ ทั้งนี้ อย่าลืมว่าพื้นที่ประเทศสิงคโปร์กับไทยต่างกัน หากเราพยายามจะเลียนแบบเขาก็มาวิเคราะห์ดูว่าขนาดของประเทศเรามีเท่านี้ มีสิ่งไหนที่พอทำได้บ้าง หากทำบ้างแล้วจะดีหรือไม่

“นโยบายในการอุดหนุนบริษัทห้างร้านให้มีชีวติอยู่ได้ คิดว่าควรไปดู เนเธอร์แลนด์ เพราะแทนที่เขาจะเอาเงินมาจ่ายคนตกงาน ก็เอาเงินไปพยุงบริษัทให้เขาสามารถผลิตสินค้า ประกอบธุรกิจอยู่ได้ โดยบริษัทเหล่านั้นยังสามารถจ่ายเงินเดือนให้พนักงานได้ กล่าวคือมีการประหยัดส่วนหนึ่ง เพื่อไปใช้จ่ายกับอีกส่วนหนึ่ง เขาสามารถแก้ไขปัญหาทั้ง 2 อย่างในเวลาเดียวกันได้ อย่าง รัฐบาลเดนมาร์ก ก็ช่วยจ่ายเงินเดือนให้พนักงานบริษัท

“บริบทอย่างนี้เราไม่จำเป็นต้องไปดูโรลโมเดลที่ไหน เพราะข้อแรกอาจต้องดูว่าตอนนี้เรามีความจำเป็นด้านไหนบ้าง ซึ่งมีอยู่เยอะมาก และความจำเป็นนั้นๆ มีที่ไหนทำแล้วประสบความสำเร็จบ้าง สำเร็จด้วยเงื่อนไขอะไร เราสามารถเลียนแบบเขาได้ ไม่มีปัญหา”

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เอกพันธุ์เน้นย้ำคือ สุขภาวะของคนในสังคมซึ่งไม่มีใครทุกข์มากหรือน้อยกว่ากันแบบเฉพาะเจาะจง หากแต่เป็นความทุกข์ของเกือบทุกๆ คนในสังคม

และคนทำหน้าที่บริหารประเทศต้องเห็นภาพนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง