รีเซต

ดีเดย์ 11 ส.ค. ลดคุ้มครองเงินฝาก 1 ล้านต่อบัญชี

ดีเดย์ 11 ส.ค. ลดคุ้มครองเงินฝาก 1 ล้านต่อบัญชี
มติชน
11 สิงหาคม 2564 ( 06:57 )
53
ดีเดย์ 11 ส.ค. ลดคุ้มครองเงินฝาก 1 ล้านต่อบัญชี

 

ดีเดย์วันที่ 11 สิงหาคม 2564 ที่สถาบันการคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก จาก 5 ล้านบาท เหลือ 1 ล้านบาทต่อบัญชี ต่อรายสถาบันการเงิน เป็นไปตามพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ.2551 โดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ 2 เรื่องหลัก คือ การรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน และการคุ้มครองผู้ฝากเงินรายย่อย ซึ่งสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะทำหน้าที่คุ้มครองเงินฝากให้แก่ผู้ฝากเงิน

 

 

โดยใช้เงินกองทุนคุ้มครองผู้ฝาก ที่สถาบันการเงินส่งเงินสมทบเป็นประจำ 0.01% ของยอดเงินฝากตาม มาตรา 53 กำหนดให้คุ้มครองเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท ตามจำนวนเงินฝากที่ปรากฏในบัญชี ของผู้ฝากทุกบัญชีรวมกันในแต่ละสถาบันการเงิน หากมีหนี้สินค้างชำระให้หักเงินออกมาก่อน แล้วจ่ายคืนส่วนที่เหลือ และมาตรา 54 ระบุหากกำหนดวงเงินที่คุ้มครองเกินกว่า 1 ล้านบาท ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

 

 

ที่ผ่านมารัฐบาลตั้งแต่ปี 2555 ได้กำหนดวงเงินคุ้มครองไม่เกิน 50 ล้านบาท และลดหลั่นกันมาเรื่อยๆ จนในปี 2563 ก็กำหนดให้คุ้มครองเงินฝาก ไม่เกิน 1 ล้านบาท เริ่มในวันที่ 11 สิงหาคมเป็นวันแรก!

 

 

สำหรับผู้ที่ได้รับการคุ้มครองเงินฝากนั้น จะเป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลทั้งคนไทยและต่างประเทศที่ฝากเงินเป็นสกุลเงินบาทกับสถาบันการเงินของไทยภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝากรวมทั้งสิ้น 35 แห่ง คุ้มครองบัญชีเงินฝาก 5 ประเภท ได้แก่ 1.เงินฝากกระแสรายวัน 2.เงินฝากออมทรัพย์ 3.เงินฝากประจำ 4.บัตรเงินฝาก และ 5.ใบรับฝากเงิน ผู้ฝากเงินจะได้รับเงินฝากคืนภายใน 30 วัน ตามวงเงินที่กฎหมายกำหนด หากสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝากถูกเพิกถอนใบอนุญาต

 

 

ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือเงินฝากบางประเภทไม่ได้รับการคุ้มครอง ประกอบไปด้วย เงินฝากประเภทที่เป็นเงินตราต่างประเทศ, เงินลงทุนในตราสารต่างๆ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้, เงินฝากในสหกรณ์, แคชเชียร์เช็ค ตั๋วแลกเงิน, เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money), ผลิตภัณฑ์ประกันประเภทออมทรัพย์ ที่ออกโดยบริษัทประกัน และสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency)

 

 

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การปรับลดวงเงินคุ้มครองดังกล่าว เป็นไปตามกรอบการดำเนินการที่กำหนดไว้ โดยยังคุ้มครองผู้ฝากเงินได้ถึง 98% โดยครอบคลุมผู้ฝากเงิน 82.1 ล้านบัญชี ของผู้ฝากเงินทั้งระบบ ขณะที่สถาบันการเงินในปัจจุบันมีความเข้มแข็ง จึงไม่มีความจำเป็นต้องเลื่อนเวลาการปรับลดวงเงินดังกล่าวออกไปอีก ที่ผ่านมา ธปท. มีการกำกับดูแลสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิด สถาบันการเงินไทยมีความเข้มแข็ง สะท้อนจากระดับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ระดับ 20.12% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำอยู่ที่ 11-12% และมีสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง ซึ่งรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจในช่วงที่ได้รับผล กระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ได้

 

 

น.ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า นอกจาก BIS ratio ที่สูงแล้ว การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง (LCR) อยู่ที่ 195.14% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ปัจจุบันของทางการที่ 100% แม้จะอยู่ภายใต้สถานการณ์โควิดที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่ด้วยสถานะทางการเงินที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตปี 2540 อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นจึงทำให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนได้ โดยยังทำหน้าที่เกื้อกูลช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ และทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้ที่ยังมีธุรกิจอยู่ ประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

 

 

“การกำหนดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก เป็นการส่งเสริมเสถียรภาพของระบบการเงิน ในทางทฤษฎีการคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน ทำให้คนที่ถูกคุ้มครองทั้งสถาบันการเงินและผู้ฝากเงิน เพิกเฉยต่อนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ถ้าเป็นสถาบันการเงินจะไม่สนใจเรื่องการจัดการความเสี่ยง เพราะสุดท้ายภาครัฐก็ต้องมาอุ้มอยู่ดี เหมือนตอนวิกฤตปี 2540”

 

 

หากมองในมิติเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ ความคุ้มครองจะครอบคลุมประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 1 ใน 5 ของเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์รวมทั้งหมด เนื่องจากประกอบด้วยบัญชีบุคคลรายย่อยที่มีฐานะ บัญชีเงินฝากกลุ่มสถาบัน หรือธุรกิจ ที่มีมูลค่าเงินฝากต่อบัญชีจำนวนมากกว่า 1 ล้านบาทในสัดส่วนอีก 4 ใน 5 ที่เหลือ ซึ่งมองว่ากลุ่มผู้ฝากเหล่านี้มีความรู้เพียงพอที่จะดูแลความมั่งคั่งของตนให้ปลอดภัยได้ รับความเสี่ยงจากการออมการลงทุนได้มากกว่า

 

 

รวมถึงใช้บัญชีเงินฝากเพื่อเป็นทางผ่านของธุรกรรมการเงินเพื่อธุรกิจมากกว่าการออมเพื่อได้รับความคุ้มครองเงินต้นและดอกเบี้ย คาดว่าธนาคารพาณิชย์คงเน้นการนำเสนอบริการที่ปรึกษาทางการเงินและการลงทุน ทั้งที่ผ่านผู้ดูแลความสัมพันธ์ลูกค้าและระบบอัตโนมัติในลักษณะแอพพลิเคชั่น หรือ Robo Advisors เพื่อเปิดทางเลือกของการลงทุนที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงทางเลือกที่ดูแลเงินต้นและสร้างผลตอบแทนที่แข่งขันได้กับเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์มากขึ้น เพื่อรักษาฐานลูกค้าเงินฝากส่วนที่เกินจากความคุ้มครองขั้นต่ำด้วย ในขณะที่ฝั่งสถาบันการเงินของรัฐ

 

 

อย่างธนาคารออมสิน โดย นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคาร เปิดเผยว่า ลูกค้าจะได้รับการคุ้มครองเงินฝากทุกบาททุกสตางค์เหมือนเดิม โดยไม่มีการลดการคุ้มครองเงินฝากเหมือนกับสถาบันการเงินแห่งอื่น เนื่องจากธนาคารออมสินมี พ.ร.บ.จัดตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อส่งเสริมการออมให้กับคนไทยในประเทศ และมีรัฐบาลเป็นประกัน ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงให้ความคุ้มครองเงินฝากทุกบัญชี ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ฝากเงินรายย่อยอย่าตื่นตระหนก เนื่องจากการคุ้มครองวงเงินจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสถาบันการเงินปิดกิจการ หรือโดนเพิกถอนใบอนุญาต หากดูสถานะของสถาบันการเงินในปัจจุบันยังมีความเข้มแข็งเมื่อเทียบกับสมัยวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540

ข่าวที่เกี่ยวข้อง