สหรัฐ-จีน : เราเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวเวลาใช้แอปฯ ติ๊กต็อก (TikTok) ได้แค่ไหนหลัง ปธน.ทรัมป์ ประกาศเตรียมแบน
สหรัฐ-จีน : เราเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวเวลาใช้แอปฯ ติ๊กต็อก (TikTok) ได้แค่ไหนหลัง ปธน.ทรัมป์ ประกาศเตรียมแบน - BBCไทย
หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเตรียมแบนแอปพลิเคชันติ๊กต็อก(TikTok) ของจีน คำถามที่ว่าเราสามารถเชื่อมั่นในแอปพลิเคชันยอดนิยมนี้ได้แค่ไหนก็กลายเป็นประเด็นถกเถียงอีกครั้ง
นายทรัมป์ระบุกับนักข่าวบน แอร์ฟอร์ซวัน เครื่องบินโดยสารประจำตำแหน่ง ว่าจะระงับไม่ให้คนใช้ติ๊กต็อกในสหรัฐฯ และอาจจะลงนามคำสั่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาหรือ Executive Order ภายในที่ 1 ส.ค.
อย่างไรก็ดี ยังไม่แน่ชัดว่านายทรัมป์จะใช้อำนาจอะไรสั่งระงับ จะบังคับใช้อำนาจนั้นอย่างไร และจะทำให้มีผลกระทบในเชิงกฎหมายอย่างไรบ้าง
เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงสหรัฐฯ กังวลว่าแอปพลิเคชันนี้ ซึ่งเป็นของบริษัท ByteDance ของจีน อาจถูกใช้สำหรับเก็บข้อมูลส่วนตัวของชาวอเมริกัน
ในสหรัฐฯ มีผู้ใช้งานแอปพลิเคชันนี้เป็นประจำถึง 80 ล้านคนต่อเดือน ขณะทั่วโลกมีคนใช้ราว 800 ล้านคนต่อเดือน
โฆษกของติ๊กต็อกปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นถึงคำกล่าวของนายทรัมป์ แต่บอกสื่อสหรัฐฯ ว่าพวกเขาเชื่อมั่นในความสำเร็จระยะยาวของติ๊กต็อกในสหรัฐฯ
ติ๊กต็อกเกี่ยวพันกับจีนอย่างไร
ติ๊กต็อกเริ่มต้นจาก 3 แอปพลิเคชันแยกกัน
อันแรกคือแอปพลิเคชันของสหรัฐฯ ชื่อ Musical.ly ซึ่งก่อตั้งในปี 2014
ในปี 2016 Bytedance บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน ก่อตั้งแอปพลิเคชันคล้ายกันกับ Musical.ly ในชื่อ Douyin
จากนั้น ByteDance ก็ขยายกิจการของ Douyin ไปทั่วโลกภายใต้ชื่อ TikTok ก่อนที่ในปี 2018 ByteDance จะซื้อกิจการของ Musical.ly และรวมทุกแอปพลิเคชันภายใต้ชื่อ TikTok
- รมว. ต่างประเทศสหรัฐฯ เผย แอปฯ ติ๊กต็อก ของจีนอาจถูกห้ามใช้
- คำสั่งพิเศษของประธานาธิบดีคืออะไร?
- สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน : เกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
- สหรัฐฯ สั่งปิดสถานกงสุลจีนในฮิวสตัน อ้างสายลับทหารซ่อนตัวที่สถานกงสุลในซานฟรานซิสโก
ติ๊กต็อกเก็บข้อมูลแค่ไหน
ติ๊กต็อกเก็บข้อมูลจำนวนมากของผู้ใช้แอปพลิเคชัน ได้แก่ :
- วิดีโออะไรที่คุณดู และคุณไปแสดงความคิดเห็นไว้
- ข้อมูลเรื่องตำแหน่งที่อยู่ของคุณ
- รุ่นโทรศัพท์และระบบการใช้งานที่คุณใช้
- จังหวะการพิมพ์ข้อความของผู้ใช้
การเก็บข้อมูลต่าง ๆ ของแอปพลิเคชันนี้ถูกตั้งคำถามเป็นอย่างมาก รวมถึงการเปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้ว่าติ๊กต็อกอ่านดูด้วยว่าผู้ใช้ไป "คัดลอกและแปะ"(copy and paste) ข้อความอะไรบ้าง
แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเท่าไรเพราะแอปพลิเคชันอื่น ๆ อีกหลายแอปพลิเคชันอาทิ เรดดิท(Reddit), นิวยอร์กไทมส์ และบีบีซีนิวส์ ก็ทำ และก็ไม่ได้ดูเหมือนจะเป็นการกระทำอะไรที่เลวร้าย และก็เปรียบเทียบได้กับแอปพลิเคชันที่ "หิวข้อมูล" อื่น ๆ อย่างเช่นเฟซบุ๊ก
จีนสามารถใช้แอปฯ สอดส่องคนได้ไหม
เมื่อนักข่าวถามนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ว่า เขาจะแนะนำให้ดาวน์โหลดติ๊กต็อกไหมเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา
เขาตอบว่า "ถ้าคุณอยากให้ข้อมูลส่วนตัวของคุณตกอยู่ในมือของพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็เอาสิ"
ถึงตอนนี้ อินเดีย ตลาดที่ใหญ่ที่สุดของติ๊กต็อก ได้ห้ามการใช้ติ๊กต็อกและแอปฯ อื่น ๆ ของจีนอีก 58 แอปฯ จากเหตุผลเกี่ยวกับความกังวลด้านความมั่นคงของทางการ
อย่างไรก็ดี ติ๊กต็อกยืนยันหลายรอบแล้วว่าข้อมูลของผู้ใช้ถูกเก็บไว้นอกประเทศจีน
"การเสนอว่าพวกเราอยู่ภายใต้กำมือของจีน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เป็นเรื่องเท็จทั้งสิ้น" ธีโอ เบอร์แทรม หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะในยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ของติ๊กต็อก บอกกับบีบีซี
อย่างไรก็ดี ผู้วิพากษ์วิจารณ์บอกว่ามีความเป็นไปได้ในเชิงทฤษฎีเพราะกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติจีนปี 2017 บังคับให้พลเมืองหรือองค์กรใดก็ตาม "สนับสนุน ช่วยเหลือ ให้ความร่วมมือกับงานด้านข่าวกรองของประเทศ"
แต่นายเบอร์แทรมบอกว่า หากรัฐบาลจีนติดต่อขอข้อมูลมา บริษัทจะปฏิเสธอย่างแน่นอน
ติ๊กต็อกอาจถูกใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อของจีนได้ไหม
นอกจากนี้ บางฝ่ายยังกังวลเรื่องการเซ็นเซอร์ข้อมูลด้วย
จีนเป็นประเทศที่จำกัดเสรีภาพในโลกอินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง เมื่อปีที่แล้ว นสพ.เดอะการ์เดียน รายงานว่า พนักงานของติ๊กต็อกและระบบอัตโนมัติของแอปพลิเคชันเซ็นเซอร์ข้อมูลที่ถือว่าเป็นเรื่องอ่อนไหวทางการเมือง โดยมีรายงานว่ามีการบล็อกวิดีโอเหตุการณ์การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน และวิดีโอที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียกร้องเอกราชของทิเบต
นสพ.วอชิงตันโพสต์ ได้พูดคุยกับอดีตพนักงานติ๊กต็อก 6 คน ซึ่งบอกว่าพนักงานผู้ตรวจตราข้อมูลในจีนมีอำนาจตัดสินใจว่าจะอนุมัติให้เผยแพร่วิดีโอหรือไม่
บริษัท ByteDance บอกว่านับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มีการค่อย ๆ ยกเลิกการยึดถือตามแนวทางปฏิบัตินั้นแล้ว แต่บางฝ่ายก็ยังเชื่อว่าเกณฑ์การตรวจสอบเนื้อหายังโอนเอนเข้าข้างรัฐจีนอยู่