รีเซต

นิคเคอิ ชี้ เวียดนาม หนึ่งในอาเซียน 'เศรษฐกิจผงาด' ท่ามกลางวิกฤต โควิด-19

นิคเคอิ ชี้ เวียดนาม หนึ่งในอาเซียน 'เศรษฐกิจผงาด' ท่ามกลางวิกฤต โควิด-19
มติชน
20 พฤศจิกายน 2563 ( 14:28 )
174

นิคเคอิ ชี้ เวียดนาม หนึ่งในอาเซียน ‘เศรษฐกิจผงาด’ ท่ามกลางวิกฤต โควิด-19

 

เว็บไซต์ นิคเคอิ ของญี่ปุ่น เผยแพร่รายงานพิเศษเกี่ยวกับเศรษฐกิจเวียดนาม ในหัวข้อเรื่อง “เวียดนามผงาดขึ้นมาเป็นผู้คว้าชัยชนะทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” โดยระบุว่า เวียดนามเป็นชาติเดียวในอาเซียนที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจท่ามกลางวิกฤตโคโรนาไวรัส ด้วยการเติบโตในแดนบวกอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ชาติอื่นๆยังคงต้องดิ้นรนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

 

รายงานระบุว่า เวียดนาม มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ที่ขยายตัวในไตรมาสที่ 3 เทียบกับปีก่อนหน้า ขยายตัว 2.6 เปอร์เซ็นต์  นับเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก็พบว่า เวียดนามมีผลผลิตมวลรวมในประเทศเบื้องต้น (nominal GDP) ในปีนี้ขยับแซงขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 4 ในบรรดาชาติสมาชิกอาเซียนด้วยกัน แซงหน้าสิงคโปร์ และมาเลเซีย และไล่จี้ฟิลิปปินส์มาติดๆ

รายงานระบุว่าเวียดนามสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้ ต่างจากชาติอื่นๆในอาเซียน นอกจากนี้การส่งออกที่เพิ่มขึ้นก็ช่วยให้การเติบโตสูงขึ้น ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่หลายๆบริษัทย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังเวียดนาม

 

ยอดการส่งออกของเวียดนามในเดือนตุลาคม ขยับตัวสูงขึ้น 9.9 เปอร์เซ็นต์ ไปเป็น 26,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม คาดการณ์ว่าการส่งออกจะเติบโตขึ้น 3-4 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้

 

รายงานระบุว่า ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เรือขนสินค้าขนาดยักษ์ของบริษัท Maersk เข้าเทียบท่าที่ท่าเรือก๋ายแม็บ ท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดตอนใต้ของเวียดนามเป็นครั้งแรกด้วย ซึ่งปกติแล้วเรือใหญ่ระดับนี้จะเลือกจะเทียบท่าเรืออื่นๆในภูมิภาค เช่นในสิงคโปร์ เป็นต้น นั่นแสดงให้เห็นว่า การส่งออกของเวียดนามที่กำลังเติบโตกระตุ้นให้ความต้องการการขนส่งทางเรือมีเพิ่มมาขึ้น และทำให้เรือที่มุ่งหน้าไปยุโรปคุ้มค่าที่จะเลือกหยุดเทียบท่าที่ท่าเรือเวียดนาม

 

และนั่นจะทำให้เกิดการขนส่งทางตรงจากผู้ขายในเวียดนามไปยังผู้ซื้อ นั่นหมายถึงการลดต้นทุนการขนส่ง ลดระยะเวลาขนส่งและทำให้เวียดนามเป็นผู้ส่งออกที่มีความสามารถในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น

 

รายงานระบุว่า ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา และจีน ยังส่งผลดีกับการค้าเวียดนาม เนื่องจากมีบริษัทหลายแห่งที่เลือกย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังเวียดนามเพื่อหลีกเลี่ยงการตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐ

 

บริษัทนานาชาติ รวมถึงบริษัทของจีนเองได้ย้ายฐานการผลิตมายังเวียดนาม เพื่อใช้ข้อได้เปรียบในเรื่องแรงงานมีฝีมือที่มีราคาถูก ล่าสุด บริษัทซัมซุง อิเลกทรอนิก ซึ่งมีโรงงานผลิตโทรศัพท์มือถืออยู่ในเวียดนามมานานกว่า 10 ปี ก็วางแผนที่จะย้ายฐานการผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์มายังเวียดนามเช่นกัน หลังจากซัมซุง ปิดโรงงานในจีนไปก่อนหน้านี้

 

เวียดนามมีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในประเทศเพียง 1,300 รายนับจนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจเพียงเล็กน้อย เวียดนามล็อกดาวน์ประเทศเพียง 3 สัปดาห์เท่านั้นเมื่อเดือนเมษายน การผลิตในโรงงานกลับมาอยู่ในระดับปกติเร็วกว่าทุกประเทศในภูมิภาค อัตราการว่างงานอยู่ในวงจำกัด ยอดการใช้จ่ายซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ยังคงแข็งแกร่ง

 

ขณะที่ ชาติอาเซียนอื่นๆยังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นคืนหลังการแพร่ระบาดได้ ไอเอ็มเอฟ ได้คาดการณ์การเติบโตของจีดีพีตลอดปีนี้ของเวียดนามเอาไว้ที่1.6 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ คาดการณ์จีดีพี สิงคโปร์ และมาเลเซีย หดตัว 6 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ไทย หดตัว 7.1 เปอร์เซ็นต์

 

สำหรับมาเลเซีย เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 หดตัว 2.7 เปอร์เซ็นต์ ผลจากภาคบริการซึ่งคิดเป็นเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ที่หดตัวลง 4 เปอร์เซ็นต์

 

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยสมาคมธุรกิจการโรงแรมมาเลเซียระบุว่า ยอดจองโรงแรมในมาเลเซีย ตกลงเหลือเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม ช่วงเวลาที่ยอดผู้ติดเชื้อในมาเลเซียพุ่งสูงขึ้น

 

สมาคมธุรกิจการโรงแรมเตือนว่าหากไม่มีการช่วยเหลือจากรัฐบาล ธุรกิจการท่องเที่ยวจะต้องถูกบังคับให้ตัดสินใจในสิ่งที่ยากลำบากและดำเนินการขั้นเด็ดขาดเพื่ออยู่รอด อย่างเช่นการนำเรื่องตัดลดพนักงานมาพิจารณา

 

ด้านรัฐบาลไทยเปิดเผยข้อมูลทางเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมาพบว่า จีดีพี หดตัวลง 6.4 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นการหดตัวต่อเนื่องกันเป็นไตรมาสที่ 3

 

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (GDP per capita) อยู่ที่ 3,500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 106,000 บาท แม้จะต่ำกว่า สิงคโปร์ ที่ 58,500 ดอลลาร์สหรัฐ และมาเลเซีย 10,200 ดอลลาร์สหรัฐ แต่การแพร่ระบาดได้เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในลำดับขั้นทางเศรษฐกิจในภูมิภาคขึ้น

 

ในอินโดนีเซีย ประเทศที่มีเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทำสถิติใหม่ ด้านมาเลเซียต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 นับตั้งแต่เดือนก่อน กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะยังคงซบเซาต่อไปตราบใดก็ตามที่ระดับการติดเชื้อยังคงสูง เนื่องจากผู้บริโภคก็จะหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน ทำให้การฟื้นคืนเศรษฐกิจยังคงอยู่ไกลเกินเอื้อม

 

 

อย่างไรก็ตาม ชาติในอาเซียนหลายชาติได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะกลับมากระเตื้องขึ้นในปี 2564 และเวียดนามยังคงเป็นเศรษฐกิจเดียวที่จะได้เห็นการเติบโตอย่างแท้จริงในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดด้วย

 

รายงานระบุว่า เวียดนามยังคงมีปัจจัยที่อาจส่งผลแง่ลบกับคาดการณ์เศรษฐกิจ นั่นคือหากโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่แม้ว่าจะถูกคาดการณ์ว่าจะยังคงมีมาตรการแข็งกร้าวทางเศรษฐกิจกับจีน แต่หาก ไบเดน ยกเลิกการตั้งกำแพงภาษีตามนโยบายรัฐบาลปัจจบัน การย้ายฐานการผลิตมายังเวียดนามก็จะมีแนวโน้มลดลง

 

นอกจากนี้ในปีหน้า การลงทุนในโครงการก่อสร้างสาธารณะจะลดลง เนื่องจากโครงการดังกล่าวรัฐบาลเร่งเครื่องดำเนินการก่อนหน้าการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ในปี 2564 นี้ ซึ่งในการประชุมดังกล่าวจะมีการเลือกผู้นำใหม่สำหรับอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันของเวียดนามในระยะยาว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง