สธ.ย้ำ "ซิโนแวค+แอสตร้าฯ" ภูมิขึ้นสูงใกล้เคียงฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม
วันนี้ (18 ก.ค.64) นพ.โอภาส การย์กวินพงษ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า แผนการกระจายวัคซีนในแต่ละช่วงเวลา แต่ละเดือนก็จะมีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ส่วนการนำเข้าวัคซีนซิโนแวค เป็นการนำเข้ามาตามกรอบที่ทางคณะรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นชอบและอนุมัติงบประมาณ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เรื่องของวัคซีน มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ที่ผ่านมาถือว่า วัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพ
"ประสิทธิภาพของวัคซีนมีอยู่ 3 ประการ คือ ความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อ ความสามารถในการลดการป่วยหนัก และความสามารถในการลดการเสียชีวิต โดยวัคซีนทุกชนิดในโลกที่ทางองค์การอนามัยโลกให้การรับรอง รวมถึงที่ อย.ไทยให้การรับรองด้วยมีประสิทธิภาพทั้ง 3 อย่างที่กล่าวไป ทุกชนิดสามารถลดการติดเชื้อได้เพียงแต่จะมากน้อย แตกต่างกันไปผลการวิจัย อย่างไรก็ตามไม่มีวัคซีนใดสมบูรณ์แบบ 100% ไม่มีวัคซีนใดป้องกันการติดเชื้อได้ 100% และป้องกันการป่วยหนัก เสียชีวิตได้ 100%" อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
ส่วนการปรับสูตรฉีดวัคซีนโควิด นพ.โอภาส ระบุว่า การสลับสูตรฉีดวัคซีน วัตถุประสงค์ คือ หลายประเทศมีการปรับสลับฉีดวัคซีน พบว่า สามารถเพิ่มภูมิคุ้มกัน ต่อต้านเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้ดียิ่งขึ้น จากข้อมูลที่มีการศึกษาในไทย พบว่า ถ้าใช้เข็มแรกวัคซีนซิโนแวค และเข็มสองเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จะทำให้ภูมิคุ้มกันขึ้นใกล้เคียงกับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันสูงกว่าการติดเชื้อโดยธรรมชาติ
ทั้งนี้ การสลับฉีดวัคซีน จากเดิมที่ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ต้องใช้เวลาประมาณ 12 สัปดาห์ และต้องรอไปอีก 2 สัปดาห์ กว่าวัคซีนจะสร้างภูมิได้เต็มที่ เท่ากับว่า ต้องใช้ระยะเวลาอีก 4 เดือน กว่าที่ผู้ได้รับวัคซีนจะได้รับภูมิคุ้มกันได้เต็มที่
แต่ถ้าสลับมาฉีดวัคซีนต่างชนิด จะฉีดห่างกัน 3-4 สัปดาห์ และจะใช้เวลาอีก 2 สัปดาห์ภูมิคุ้มกันจะขึ้น แปลว่า จะใช้ระยะเวลาแค่ 5-6สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันก็จะขึ้นในระดับที่ใกล้เคียงแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ทำให้มีภูมิต้านทานต่อเชื้อได้มากขึ้น
และในระยะต่อไปจะพยายามให้ใช้สูตร เข็ม 1 ซิโนแวค เข็ม 2 แอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนหลักที่จะฉีดให้คนในประเทศไทย แต่มีการยกเว้นในบางกรณี บางเหตุการณ์ที่อาจจะต้องใช้สูตรแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มเหมือนเดิม โดยจะใช้ในกลุ่มผู้สูงอายุในพื้นที่ที่มีการระบาดสูง
“จากทฎษฎีเดิมของไทยที่บอกว่า ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม ภูมิคุ้มกันหลังจากนั้น 2 สัปดาห์จะเพิ่มขึ้น ทำให้สามารถลดการเสียชีวิตได้ ขณะนี้ในพื้นที่ กทม.ในสัปดาห์ที่ผ่านมาทาง กรมควบคุมโรค ได้ส่งวัคซีนลงไปในพื้นที่แล้วประมาณ 1 ล้านโดส โดยมีการระบุอย่างชัดเจน ว่า 500,000 โดส ให้ฉีดสำหรับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งทางกทม.กำลังดำเนินการให้ผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปจองวัคซีนและจะเร่งฉีด ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.เป็นต้นไป ซึ่งเป็นการใช้แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม เนื่องจาก กทม.เป็นพื้นที่ที่มีการระบาดสูง ส่วนกลุ่มอื่นๆ ก็จะใช้สูตรซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า” อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุ
ขณะที่สัดส่วนจำนวนวัคซีน จากการที่คำนวณไว้แต่ละเดือนจะใช้ซิโนแวค ประมาณ 4-5 ล้านโดสต่อเดือน และใช้แอสตร้าเซนเนก้า ประมาณ 5-6 ล้านโดส ซึ่งจะสอดคล้องกับจำนวนวัคซีนที่ไทยน่าจะหาได้
ส่วนกรณีการแลกเปลี่ยนวัคซีน โดยการนำวัคซีนที่อาจจะไม่ใช้ในบางประเทศที่ได้จองไว้เกินมาใช้ในประเทศไทยก่อน รวมถึงการนำวัคซีนที่บริจาคมาใช้ให้เกิดประโยชน์ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า ไทยมีการเจรจาในหลายประเทศ อย่างประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่บริจาควัคซีนมาให้ประมาณ 1.5 ล้านโดส โดยในปลายเดือนก.ค ก็จะมีอีกประเทศที่บริจาคให้ ในตอนแรกไทยขอติดต่อเป็นการแลกเปลี่ยนวัคซีน แต่ทางประเทศนั้น มีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเหลือที่ใช้ในประชากรของเขาได้เปอร์เซนต์ที่สูงแล้ว แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนมาเป็นบริจาค ยืนยัน แนวทางนี้ไทยมีการดำเนินการอยู่ และก็ยังมีอีก 2 ประเทศที่ไทยกำลังเจรจาอยู่ เพียงแต่ว่าพออยู่ในขั้นตอนเจรจา มีโอกาสทั้งสำเร็จและไม่สำเร็จ จึงยังไม่ได้เปิดเผยให้ทางสาธารณะทราบ
ขณะที่ นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า หากมีสายพันธุ์ใหม่ๆ เทคโนโลยีการผลิตสามารถเอาชิ้นส่วนของสายพันธุ์มาผลิตใหม่ได้ ซึ่งมีการดำเนินการอยู่ หากมีวัคซีนรุ่นใหม่ไทยก็จะพยายามจัดหามาใช้อย่างแน่นอน ส่วนคนที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคไปแล้ว 2 เข็ม จะต้องใช้เข็ม 3 หรือไม่ นั้น ขณะนี้ทางคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องทางด้านวิชาการ ด้านวัคซีน และเรื่องโรคติดต่อ ให้คำแนะนำการฉีดเข็ม 3 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ด่านหน้าก่อน ส่วนประชาชนทั่วไปในการฉีดเข็ม 3 ทางคณะกรรมการกำลังพิจารณาอยู่ ว่าจะมีการดำเนินการในการฉีดวัคซีนกระตุ้นอย่างไร โดยภาพรวมการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ทั่วโลกเห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะต้องมีการฉีดกระตุ้น ส่วนจะกระตุ้นด้วยวัคซีนอะไรในเข็มถัดไป ตอนนี้ข้อมูลทางวิชาการยังไม่สามารถบอกได้แน่ชัด 100%
ส่วนการฉีดวัคซีนโควิดในเด็กเล็ก ยังไม่มีการวิจัยว่าจะมีวัคซีนตัวใดนำมาใช้ ซึ่งกำลังรอผลการศึกษาอยู่ ส่วนในเด็กโต หากมีวัคซีนฉีดได้ ก็จะจัดหาวัคซีนมาฉีดเช่นกัน
สำหรับเป้าหมายการจัดหาวัคซีน ยังคงเป็น 100 ล้านโดสแล้วก็ฉีดให้ครบภายในธันวาคม2564 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ได้มากที่สุด แต่เนื่องจากพอมีผลกระทบเรื่องการฉีดวัคซีนเข็ม 1 เข็ม 2 อาจจะต้องบูสเตอร์ อาจจะทำให้จำนวนคนที่ได้รับวัคซีนต้องมีการปรับเปลี่ยนสถานการณ์
ส่วนกรณีที่บางโรงพยาบาลเลื่อนฉีดวัคซีน ว่า กรณีดังกล่าวได้ให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ ตรวจสอบไปยังทุกแห่งถึงการเลื่อนฉีด โดยพบว่า สาเหตุที่เลื่อนเนื่องมาจากยังไม่ค่อยแน่ใจว่าการเปลี่ยนสูตรการฉีดต้องเป็นสูตรไหน ทั้งที่ความจริงแล้วมีวัคซีนอยู่แล้วที่พร้อมจะฉีด โดยการประชุมของกระทรวงฯเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ย้ำว่าสูตรวัคซีนหลักที่จะฉีด คือ ซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งบางรายอาจจะฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มได้ รวมถึงการเร่งรัดการฉีดวัคซีนในกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ขึ้นไป
นอกจากนี้ ยังย้ำว่า วัคซีนที่จะมาในไทย จะบอกเวลาที่แน่ชัดไม่ได้ จะมีการทยอยส่งเป็นรายสัปดาห์ ซึ่งก็จะส่งให้แต่ละจังหวัดเป็นรายสัปดาห์ ขอให้แต่ละจังหวัดวางแผนการฉีดให้ดีรวมถึงการนัดหมายด้วย กรณีที่วัคซีนมีพอก็ขอให้เลื่อนคนที่จะฉีดในเดือนสิงหาคมมาฉีดในเดือนกรกฎาคมได้ แต่ขอให้ตรงกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ วิธีการจัดสรรวัคซีนเวลาส่วนกลาง หรือ ทางกรมควบคุมโรคที่ได้รับการเห็นชอบการกระจายวัคซีนจาก ศบค.เสร็จแล้ว จะส่งวัคซีนไปยังที่จังหวัดเป็นยอดรวม เช่น 1 แสนโดส แต่ละจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด จะมีหน้าที่ดำเนินการฉีดวัคซีในจังหวัดของตนเอง แต่ให้ขึ้นอยู่กับแนวนโยบายหลัก เช่น บางเดือนจะฉีดกลุ่มบุคลากรเป็นหลัก บางเดือนจะฉีดผู้สูงอายุเป็นหลัก หรือบางเดือนเป็นการฉีดเพื่อควบคุมโรคเป็นหลัก ก็ขอให้จัดให้สอดคล้องกันด้วย