รีเซต

ชาวนากาฬสินธุ์ เสี่ยงดวง! สู้ภัยแล้งสูบน้ำก้นคลองทำนาปรัง

ชาวนากาฬสินธุ์ เสี่ยงดวง! สู้ภัยแล้งสูบน้ำก้นคลองทำนาปรัง
TNN ช่อง16
18 ธันวาคม 2563 ( 10:03 )
129


เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพ ของประชาชนใน จ.กาฬสินธุ์ ช่วงฤดูหนาวคาบเกี่ยวฤดูแล้ง พบว่าในกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ในเขต ต.บัวบาน  ต.นาเชือก  ต.ดอนสมบูรณ์  อ.ยางตลาด และ ต.ลำพาน ต.หลุบ อ.เมืองกาฬสินธุ์ เริ่มลงมือทำนาปรังกันแล้ว โดยมีการวางระบบท่อหมุนเวียนน้ำ  ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และทำการจ้างรถไถปรับพื้นที่กันอย่างคึกคัก

นายโสน ภูนาชัย อายุ 60 ปี ชาวนาหมู่ 19 บ้านตูม ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า พื้นที่นาอยู่ในเขตใช้น้ำชลประทานลำปาวหรือเขื่อนลำปาว  ปีใดที่ปริมาณน้ำในเขื่อนลำปาวมาก ก็จะได้รับน้ำที่ทางโครงการชลประทานระบายออกมาอย่างเต็มที่  โดยมีคลองไส้ไก่เชื่อมจากคลองสายใหญ่ สามารถเปิดรับน้ำเข้าพื้นที่นาได้สะดวก  แต่ฤดูกาลทำนาปรังปีนี้  เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนมีน้อยและอยู่ในช่วงปิดการส่งน้ำ เพื่อทำการซ่อมแซมคูคลองตามปฏิทินปฏิบัติ  เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการทำนาปรัง  ซึ่งเป็นอาชีพหลักของตน  จึงได้นำสมาชิกในครัวเรือน ช่วยกันวางระบบท่อ ตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อสูบน้ำจากก้นคลองไส้ไก่เข้าใส่พื้นที่ทำนาปรัง โดยมีการปรับหน้าดินหรือพื้นที่ทำนาให้ราบเสมอกัน เพื่อให้ต้นข้าวได้รับน้ำอย่างทั่วถึง  ทั้งนี้ เป็นการลงทุนที่สูงพอสมควร เพราะต้องซื้อทั้งท่อพีวีซี  น้ำมันสูบน้ำ ค่าจ้างรถไถและปรับเกรดพื้นที่นา

นายโสนกล่าวอีกว่า เนื่องจากการทำนาเป็นอาชีพหลัก  ถึงแม้จะเสี่ยงกับภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง หากมีน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าวไม่เพียงพอ หรือเกิดโรคระบาด และเสี่ยงกับการขาดทุน หากราคาข้าวตกต่ำ ก็จำเป็นต้องทำเพราะยังดีกว่าจะปล่อยพื้นที่นาให้รกร้าง ไม่เกิดมูลค่า  ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดขั้นตอนการทำนาและลดทุนการผลิต ง่ายต่อการดูแลรักษาต้นข้าวให้งอกงาม  จึงทำนาหว่าน ประหยัดรายจ่ายกว่าทำนาดำ ซึ่งจะต้องจ้างแรงงานทั้งถอนกล้าและปักดำ  โดยก่อนหว่านได้คลุกเมล็ดพันธุ์ข้าวกับสารอินทรีย์ชีวภาพ เพื่อให้เมล็ดงอกเร็ว ต้นกล้าแข็งแรง  เพลี้ย แมลงหรือศัตรูข้าวไม่รบกวน ต้นข้าวไม่ล้ม ซึ่งข้าวจะได้ผสมเกสรอย่างเต็มที่ ได้รวงยาว เมล็ดโต น้ำหนักดี ทั้งนี้ คาดหวังจะได้กำไรจากการขายข้าวเปลือกนาปรัง หลังจากที่เพื่อนบ้านและญาติที่เป็นชาวนาหลายคน ขายข้าวนาปีขาดทุน  เพราะราคาตกต่ำมาก  อย่างไรก็ตาม สำหรับตนคิดว่า หากแหล่งรับซื้อผลผลิตข้าวเปลือกให้ราคาอย่างน้อยตันละ  12,000 บาท  ชาวนาก็ยังเสี่ยงกับการขาดทุน เพราะมีรายจ่ายหรือต้นทุนการผลิตหลายอย่าง หลายขั้นตอน ทั้งค่าเมล็ดพันธุ์ ค่ารถไถ ค่าสูบน้ำ ค่าขนส่ง รวมแล้วสูงมาก แต่หากรับซื้อตันละประมาณ 15,000 บาท ชาวนาก็พอจะมีกำไร


เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง