ไทย พร้อมเป็นเจ้าภาพ "BIMSTEC" ก.ย.นี้
นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สรุปภาพรวมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศบิมสเทค (อย่างไม่เป็นทางการ) ครั้งที่ 2 ที่กรุงนิวเดลี อินเดีย ระหว่างวันที่ 11-12 กรกฎาคม 2567 เพื่อเป็นการปูทางให้ประเทศสมาชิกของบิมสเทคเข้ามาหารือกัน แลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างอิสระเสรี เพื่อที่จะวางแนวทางไปสู่การประชุมบิมสเทค ซัมมิท ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือนกันยายนนี้
ช่วงของการประชุม ในฐานะที่ประเทศไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพ ซึ่งดร.สุพรหมณยัม ชัยศังกระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ก็ให้เกียรติประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่ม โดยตนได้เสนอความสำคัญของการร่วมมือกันในกรอบ 3 ประเด็น
1.พัฒนาความมั่นคงทางด้านอาหาร เนื่องจากประเทศไทยและอินเดียและประเทศสมาชิกส่วนใหญ่เป็นประเทศเกษตรกรรม ดังนั้น ทั้ง 7 ประเทศสมาชิก สามารถมีความร่วมมือรักษาความมั่นคงทางด้านอาหารให้เกิดขึ้นในภูมิภาคและช่วยเหลือประชาคมโลกได้ด้วย โดยเฉพาะด้านการประมง รวมถึงการปลูกข้าว ซึ่งความมั่นคงทางอาหารสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันได้
2.ความมั่นคงด้านพลังงาน โดยมองจุดสำคัญที่พลังงานหมุนเวียน ซึ่งหลายประเทศสมาชิกมีศักยภาพ ในการส่งเสริมและพัฒนาความมั่นคงเช่น เมียนมา ถือเป็นประเทศที่มีพลังงานน้ำ โดยในประเทศไทยรัฐบาลพยายามส่งเสริมพลังงานทางเลือก
3.ความมั่นคงของทรัพยากรมนุษย์คือ ความร่วมมือในเรื่องของการมี Health Care ถือว่าประเทศไทยเป็นผู้เล่นหลักในเรื่องนี้
ดังนั้น กรอบความร่วมมือทั้ง 3 เรื่อง จะนำไปสู่การพิจารณาของการประชุมผู้นำบิมสเทคที่ประเทศไทยในเดือนกันยายนนี้
นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดีย ยังจัดให้ประเทศสมาชิกบิมสเทค ร่วมหารือกับ นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ซึ่งนายกรัฐมนตรีอินเดีย ก็ได้กล่าวถึงหลักการ “เชื่อมต่อแบบไร้ร้อยต่อ ซึ่งตนได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรีอินเดียว่า จะนำเอาข้อคิดเห็นของนายกฯ ไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับธีมของการประชุมบิมสเทค ซัมมิท ที่ไทย ซึ่งจะอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการเปิดขอบเขตของประเทศสมาชิกบิมสเทคมากขึ้น ถือเป็นแนวทางเบื้องต้นของการหารือในกรอบของรัฐมนตรีต่างประเทศบิมสเทค เพื่อปูทางไปสู่การให้นายกรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกบิมสเทคในการทำงานร่วมกันในอนาคตต่อไป
สำหรับการพบปะพูดคุยกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ได้พูดคุยกันอย่างกว้างขวาง เพื่อผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ร่วมกันของไทยและอินเดีย ประกอบไปด้วย การพัฒนาศักยภาพด้านการทหารร่วมกัน ทั้งความร่วมมือซ้อมรบระหว่างไทย-อินเดีย การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ที่อยากเห็นการครอบคลุมทั้งระบบ นำมาสู่การวิเคราะห์ และประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการร่วมมือด้านความมั่นคง รวมถึงความร่วมมือด้านยุทโธปกรณ์ ถือเป็นเป้าหมายสำคัญของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพราะไทยมีศักยภาพในการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งในอินเดียเองก็มีศักยภาพด้านนี้เป็นอย่างมาก
ส่วนการท่องเที่ยวก็มองเห็นความสำคัญที่ไทยและอินเดียมีความตกลงฟรีวีซ่า ถือเป็นหัวใจสำคัญในการผลักดันการท่องเที่ยวของประชาชน ที่จะสร้างความเชื่อมต่อระหว่างประชาชนและภาคธุรกิจ รวมถึงการแลกเปลี่ยน Digital Nomad ทั้งอินเดียและไทย ยังมีศักยภาพในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งนโยบายต่างๆ จะถ่ายทอดไปสู่ภาคปฏิบัติหรือเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมก็ต้องอาศัยบทบาทและศักยภาพของนักธุรกิจ ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายก็มองเห็นความสำคัญที่จะเน้นความสำคัญและความร่วมมือภาคธุรกิจถือเป็นนโยบายหลักของนายกรัฐมนตรีเศรษฐาที่ต้องการเห็นศักยภาพของนักธุรกิจ ทั้งสองประเทศนำไปสู่ผลสรุปที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
ขณะด้านการค้าการลงทุน สามารถเพิ่มพื้นที่การค้าระหว่างกันได้ ทั้งนี้ตนได้เชิญชวนนักลงทุนอินเดียเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นในหลายสาขาทั้ง ด้าน EV ด้านเศรษฐกิจ ดิจิทัล
สำหรับด้านการศึกษา โดยอินเดียมีสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพ มีความเห็นพ้องร่วมกันที่จะเกิดความร่วมมือด้านการศึกษา โดยเฉพาะการส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาสามารถทำธุรกิจด้านการศึกษาร่วมกันได้
นอกจากนี้ ยังพูดคุยถึงบทบาทของประเทศไทยที่ต้องการเป็นจุดเชื่อม ทั้งไทยและอินเดียต่างเป็นสมาชิกของกลุ่มต่างๆ และสามารถร่วมมือกันในกรอบของกลุ่มภาคีอื่นได้ โดยเฉพาะ BRICS ซึ่งได้ขอความร่วมมืออินเดียให้ความสนับสนุนประเทศไทย เป็นสมาชิกที่สมบูรณ์ของประเทศไทยในกลุ่มประเทศ BRICS ภายในปีนี้ ซึ่ง ดร.สุพรหมณยัม ชัยศังกระ จะนำไปพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีอินเดียต่อไป