เมื่อเจียงซูทะยานแซงกวางตุ้งคว้าตำแหน่งแชมป์มณฑลมั่งคั่งสุด (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อเจียงซูทะยานแซงกวางตุ้งคว้าตำแหน่งแชมป์มณฑลมั่งคั่งสุด (ตอน 2)
คุยกันต่อเลยว่าเจียงซูจะแซงกวางตุ้งกี่โมง และจะทำได้อย่างไร ...
การพัฒนาโครงข่ายการขนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถไฟความเร็วสูง ทำให้ “เศรษฐกิจหนึ่งชั่วโมงเดินทาง” (One-Hour Economy) ขยายวงกว้าง และทำให้การไปมาหาสู่กันระหว่างเซี่ยงไฮ้กับหัวเมืองเศรษฐกิจในมณฑลเจียงซูเกิดความสะดวกและคล่องตัว อันนำไปสู่ประสิทธิภาพการเดินทางที่สูงขึ้นในพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น การเดินทางระหว่างเซี่ยงไฮ้-ซูโจวใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมง เทียบกับราว 2 ชั่วโมงทางรถยนต์ในปัจจุบัน
ประการสำคัญ ความรุดหน้าดังกล่าวยังทำให้เจียงซูได้รับประโยชน์จากการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรมในพื้นที่ และมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ยืดหยุ่น และหลากหลาย ทั้งภาคการเกษตร การผลิต และเทคโนโลยี รวมทั้งการท่องเที่ยว
ปัจจุบัน มณฑลเจียงซูทำการค้าระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ประเทศในภูมิภาคอาเซียน เอเซียกลาง และยุโรป ผ่านการขนส่งทางทะเลที่มีเรือบรรทุกสินค้าเข้ามาให้บริการมากกว่า 26,000 ลำต่อปี และผ่านเส้นทางรถไฟที่เชื่อมต่อจีน-เอเซียกลางและยุโรป
ข้อมูลที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ มณฑลเจียงซูได้ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างแข็งขันกว่า 360 เมืองในเกือบ 70 ประเทศและภูมิภาค นับเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ทำให้หลายฝ่ายคาดว่ามูลค่าการค้าระหว่างประเทศของเจียงซูจะเติบโตต่อไป และมีมูลค่าแตะหลัก 10 ล้านล้านหยวนในอนาคตอันใกล้
มณฑลเจียงซูยังโดดเด่นในการเป็นพื้นที่รองรับการลงทุนจากต่างประเทศ โดยมีธุรกิจต่างชาติราว 43,000 แห่ง ซึ่งรวมถึงกิจการรายใหญ่กว่า 400 แห่งใน Fortune Global 500 นอกจากนี้ ยังมีกิจการต่างชาติที่จัดตั้งสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคเกือบ 400 แห่งและศูนย์วิจัยและพัฒนาอีกเกือบ 300 แห่งในมณฑล
ด้วยปัจจัยเชิงบวกดังกล่าว เราจึงเห็นเศรษฐกิจของเจียงซูเติบโตต่อเนื่องอย่างมีเสถียรภาพในช่วงหลายปีหลัง โดยในปี 2024 ขนาดเศรษฐกิจของมณฑลก็ทะยานขึ้นแตะ 13.7 ล้านล้านหยวน ขยายตัว 5.8% ของปีก่อน ถือเป็นมณฑลที่อยู่ในกลุ่มนำที่มีความรุดหน้าทางเศรษฐกิจของจีน และทำให้เจียงซูมีจีดีพีต่อหัวถึงราว 160,000 หยวน ซึ่งสูงที่สุดของจีนต่อเนื่องนับแต่ปี 2021
ขณะเดียวกัน เจียงซูมีอยู่ถึง 13 เมืองใหญ่ที่ติดอยู่ในรายชื่อ 100 อันดับแรกเศรษฐกิจใหญ่สุดของจีน ในจำนวนนี้มี 5 เมืองที่มีจีดีพีมากกว่า 1 ล้านล้านหยวน อันได้แก่ ซูโจว หนานจิง อู๋ซี หนานทง และฉางโจว กลายเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในทศวรรษนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งซูโจวได้กลายเป็นเมืองที่มีขนาดเศรษฐกิจถึงราว 2.7 ล้านล้านหยวน ซึ่งนับว่าเป็นเมืองที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับต้นๆ ของจีน ขณะที่จีดีพีของหนานจิงและอู๋ซีก็เติบโตเร็วจนแตะระดับ 1.9 ล้านล้านหยวน และ 1.6 ล้านล้านหยวน ตามลำดับ
ขณะที่อีก 6 เมืองที่มีขนาดเศรษฐกิจระหว่าง 0.5-1 ล้านล้านหยวน แม้กระทั่งเหลียนหยุนกั่งซึ่งเป็นเมืองที่มีขนาดเศรษฐกิจเล็กที่สุดในบรรดา 13 เมืองใหญ่ของมณฑลเจียงซูก็มีจีดีพีเล็กกว่าซูโจวซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดเพียง 17%
ขนาดเศรษฐกิจของมณฑลกวางตุ้งกับเจียงซู ปี 2020-2024
ขนาดเศรษฐกิจ (ล้านล้านหยวน) | กวางตุ้ง | เจียงซู |
ปี 2020 | 11.0 (2.3%) | 10.3 (3.7%) |
ปี 2021 | 12.4 (8.0%) | 11.6 (8.6%) |
ปี 2022 | 13.4 (1.9%) | 12.3 (2.8%) |
ปี 2023 | 13.6 (4.8%) | 12.8 (5.8%) |
ปี 2024 | 14.2 (3.5%) | 13.7 (5.8%) |
แล้วเจียงซูก้าวแซงกวางตุ้งตอนกี่โมง? ...
จากสถิติอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนพบว่า เจียงซูเติบโตในอัตราที่สูงกว่ากวางตุ้งตลอดช่วงปี 2020-2024 กล่าวคือ เศรษฐกิจของเจียงซูเติบโตในอัตราเฉลี่ย 5.3% ขณะที่เศรษฐกิจของกวางตุ้งขยายตัวในอัตราเฉลี่ย 4.1% เราจึงเห็นช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างแชมป์เก่าและผู้ท้าชิงที่ลดแคบลงอย่างต่อเนื่อง
ในไตรมาสแรกของปี 2025 จีดีพีของมณฑลเจียงซูขยายตัวถึง 5.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เศรษฐกิจของมณฑลกวางตุ้งเพิ่มขึ้น 4.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งทำให้ช่องว่างดังกล่าวระหว่างกันลดลงไปอีก
อย่างไรก็ดี การเอาชนะแชมป์เก่าไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะหากกวางตุ้งสามารถรักษาความเร็วทั้งปีในอัตรา 4.1% ของปีก่อนเอาไว้ได้ ก็จะมีจีดีพีราว 14.8 ล้านล้านหยวน ซึ่งนั่นเท่ากับว่า เจียงซูต้องเบ่งเศรษฐกิจให้ขยายตัวในอัตราที่สูงถึงราว 8% จึงจะสามารถทาบชั้นกวางตุ้งได้
ท่ามกลางความท้าทายจากสงครามการค้า 2.0 และอื่นๆ ผมประเมินว่า เจียงซูอาจต้องรอจนถึงสิ้นปี 2025 หรือต้นปี 2026 จึงจะสามารถแซงกวางตุ้งขึ้นครองแชมป์มณฑลที่มั่งคั่งที่สุดของจีนได้ หลังจากที่เคยถูกสูญเสียตำแหน่งให้กวางตุ้งนับแต่ปี 1989
อีกคำถามสำคัญก็คือ แล้วเจียงซูจะแซงกวางตุ้งได้อย่างไร?
ประการแรก ความพร้อมด้านปัจจัยการผลิตในเชิงคุณภาพ ในมุมมองของผม มณฑลเจียงซูมีสภาพอากาศ ทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติที่ดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพลังงาน อาทิ ถ่านหิน และปิโตรเลียมนอกชายฝั่งทะเล
ขณะที่มณฑลกวางตุ้งมีความได้เปรียบด้านประชากรศาสตร์ ทำให้มีแรงงานจำนวนมากที่มีค่าจ้างต่ำ ซึ่งช่วยรักษาบทบาทสําคัญทางเศรษฐกิจให้แก่กวางตุ้งในช่วงที่ผ่านมา แต่เมื่อภาคการผลิตพัฒนาสู่ระบบอัตโนมัติ ความได้เปรียบด้านแรงงานในเชิงปริมาณก็มีแนวโน้มความสำคัญที่ลดลงและขยับไปสู่เชิงคุณภาพ ซึ่งเข้าทางเจียงซู
ด้วยรากฐานที่แข็งแกร่ง ยืดหยุ่น และมีศักยภาพที่หลากหลาย ทำให้เศรษฐกิจของเจียงซูเติบโตในอัตราเฉลี่ยสูงกว่าของกวางตุ้งอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีหลัง และส่งผลให้ช่องว่างทางเศรษฐกิจที่กวางตุ้งเคยทิ้งห่างเจียงซูไว้มีแนวโน้มลดลงมาโดยลำดับ
ประการที่ 2 โมเดลการพัฒนาที่แตกต่างกัน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มณฑลกวางตุ้งยังคงพึ่งพาอุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้นในสัดส่วนที่สูง ขณะที่มณฑลเจียงซูอาศัย “ความกล้า” และดึงเอา “ความได้เปรียบ” และ “ศักยภาพที่มีอยู่” มาใช้ในการขยายการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถเปลี่ยน “ความท้าทาย” เป็น “โอกาส” ทางเศรษฐกิจได้ในที่สุด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับโครงสร้างการผลิตและการพัฒนาระบบนิเวศไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี การลงทุนด้านการศึกษา การพัฒนาผู้เชี่ยวชาญและแรงงานฝีมือคุณภาพสูง รวมทั้งการลงทุนของภาครัฐเพื่อผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเสริมสร้างคลัสเตอร์การผลิตขั้นสูงระดับชาติที่พร้อมสรรพ
สิ่งเหล่านี้ทำให้เจียงซูสามารถดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเข้มข้นที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า และฟื้นฟูอุตสาหกรรมดั้งเดิมสู่ความทันสมัย โดยได้รับอนุมัติเพิ่มเติมใหม่จำนวน 4 แห่ง รวมเป็น 14 แห่งในปี 2024 ซึ่งมากที่สุดในจีน ทำให้เจียงซูมีจุดเด่นในด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมไฮเทค ไม่ว่าจะเป็นด้านอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์โทรคมนาคม เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักร
อ่านต่อตอนหน้าว่าเจียงซูจะแซงกวางตุ้งได้อย่างไร ...