รีเซต

ปีใหม่สุดหงอย! เงินสะพัดติดลบถึง 33.6% ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 15 ปี ประชาชนห่วงปัญหาการเมือง-โควิดระบาด

ปีใหม่สุดหงอย! เงินสะพัดติดลบถึง 33.6% ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 15 ปี ประชาชนห่วงปัญหาการเมือง-โควิดระบาด
ข่าวสด
25 ธันวาคม 2563 ( 16:27 )
62

ปีใหม่สุดหงอยเงินสะพัดติดลบถึง 33.6% ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 15 ปี ประชาชนห่วงปัญหาการเมือง-โควิดระบาดรอบสอง

 

ปีใหม่สุดหงอย - นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวถึงผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่ปี 2564 ว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,223 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 14-23 ธ.ค. 2563 ซึ่งครอบคลุมในช่วงที่เริ่มพบการระบาดโควิด-19 จากจ.สมุทรสาคร ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มองว่า บรรยากาศเทศกาลปีใหม่ 2564 จะคึกคักน้อยกว่าปีที่แล้ว โดยพบว่า พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคช่วงเทศกาลปีใหม่เปลี่ยนแปลงไปโดยส่วนใหญ่ 71.6% ไม่มีการวางแผนออกนอกพื้นที่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดย 28.4% วางแผนออกนอกพื้นที่ เพื่อท่องเที่ยวและกลับบ้าน มีการใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่คนละ 9,876 บาท

 

โดยเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มีผลกับการใช้จ่ายของประชาชน ทำให้มีเงินสะพัดในช่วงเทศกาลปีใหม่ติดลบถึง 33.6% ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 15 ปี คิดเป็นมูลค่าอยู่ที่ 91,476 ล้านบาท ถือเป็นมูลค่าเงินสะพัดที่ต่ำสุดในรอบ 10 ปี

สอดคล้องกับผลการสำรวจที่ 65.5% ระบุว่าภาวะเศรษฐกิจมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายในช่วงปีใหม่ และสิ่งที่ประชาชนเป็นห่วงที่สุดในปี 2564 คือปัญหาการเมือง การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบสอง ค่าครองชีพ คอร์รัปชั่น เศรษฐกิจ เป็นต้น และสิ่งที่รัฐบาลควรแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุดคือ ปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจโดยรวม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัญหาสังคม การเตรียมพร้อมรับมือภัยธรรมชาติ

 

และสิ่งที่ประชาชนอยากให้รัฐบาลดำเนินการในปี 2564 คือ 16.6% ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการปิดชายแดนเพื่อป้องกันการระบาดของโรค ตรวจและแจกวัคซีนฟรี การดูแลกลุ่มผู้สูงอายุ 9.8% การมีเสถียรภาพทางการเมือง ด้วยการสร้างความเชื่อมั่นประชาชน และนักลงทุนไม่เห็นแก่ประโยชน์ตนเอง ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย 9.3% ดูแลค่าครองชีพให้เหมาะสม ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ สนับสนุนและลดค่าใช้จ่ายของประชาชน 8.5% แก้ไขปัญหาทุจริต ด้วยการทำการเมืองให้โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และ 6.5% แก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ เสริมสภาพคล่องให้ประชาชน เป็นต้น

 

ส่วนการประเมินผลการแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ของรัฐบาลในรอบปีที่ผ่านมาเต็ม 10 คะแนน ด้านการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ 7.6 คะแนน ปัญหาสังคม 7.0 คะแนน ปัญหาความขัดแย้ง 7.0 คะแนน การเตรียมพร้อมรับมือภัยธรรมชาติ 6.0 คะแนน ปัญหาเศรษฐกิจ 5.6 คะแนน ปัญหาคอร์รัปชั่น 5.2 คะแนน และการแก้ปัญหาโดยรวมได้ 7.2 คะแนน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง