คลิปไวรัล "ผมชี้ตั้ง" อ.เจษฎ์เตือนเสี่ยงฟ้าผ่า อยู่ที่โล่งแจ้ง ไม่มีที่หลบทำอย่างไร?
อ.เจษฎ์ ไขข้อสงสัยคลิปไวรัลดัง "ผมชี้ตั้ง" เป็นสัญญาณเตือนเสี่ยงฟ้าผ่า ถ้าเจอเหตุการณ์นี้ ถ้าอยู่ที่โล่งแจ้ง ไม่มีที่หลบทำอย่างไร?
จากกรณีผู้มีใข้ทวิตเตอร์ @gnuman1979 ได้โพสต์คลิปพร้อมกับระบุข้อความว่า "Run!!!! Danger danger! (วิ่ง!!! อันตราย อันตราย)" ซึ่งเป็นคลิปเหตุการณ์นักท่องเที่ยวกำลังชมวิวกลางเรือสำราญที่แล่นในมหาสมุทร และเกิดปรากฏการณ์ผมตั้งชี้ขึ้นฟ้า ซึ่งหลายคนชี้เป็นสัญญาณเตือนอันตรายอาจเกิดฟ้าผ่าขึ้นได้
ล่าสุด ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์ข้อความเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ผ่านเฟซบุ๊กเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ โดยระบุว่า "เจอแบบนี้ ให้หนีครับหนี หลบเข้าร่มก่อน อย่ามันแต่เซลฟี้กันเพลิน จะเสี่ยงโดนฟ้าผ่าเอา
โดยศ.ดร.เจษฎา เคยให้ความรู้ว่า "หลักๆ คือ เวลาที่จะเกิดฟ้าผ่า อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของประจุไฟฟ้าบริเวณเหนือพื้นดิน และทำให้เกิดไฟฟ้าสถิตแบบที่เรารู้สึกได้ เช่น ขนลุกชัน ผมตั้งชัน ได้คำแนะนำคือ ให้หาที่หลบที่ปลอดภัย เช่นหลบเข้าในอาคาร เข้าไปในรถยนต์ (แล้วห้ามแตะตัวถังที่เป็นโลหะ)หรือถ้าอยู่กลางที่โล่งแจ้ง ไม่มีที่หลบ ให้นั่งยองๆ ลงต่ำ แต่อย่าไปหลบใต้ต้นไม้หรืออยู่ในกระท่อมกลางนา ฟ้ามักจะผ่าลงมาที่จุดที่โดดเด่นบริเวณ
(ปล. ส่วนเรื่องใส่โลหะ หรือใช้โทรศัพท์มือถือ แล้วจะล่อฟ้า อันนี้ไม่จริงครับ)
ปล. 2 มีคนสงสัยว่า แทนที่จะนั่ง ถ้าใช้เป็นวิธีนอนราบกับพื้นไป จะได้ไหมครับ ? คำตอบคือ ควรจะต้องพยายามสัมผัสพื้นให้น้อยที่สุด และให้เกิดจุดห่างระหว่างอวัยวะที่สัมผัสพื้น 2 จุดให้น้อยที่สุด
คือตามสมมติฐานที่เชื่อกัน เวลาถูกฟ้าผ่าเนี่ย อันตรายที่ได้รับจริงๆ มักจะเป็นกระแสไฟที่วิ่งตามพื้นมาจากจุดที่ฟ้าผ่าลงมา ไหลเข้ามาที่ตัวเรา ทีนี้อันตรายจะเกิดขึ้นมากหรือน้อย จะขึ้นกับ "แรงดันไฟฟ้าช่วงก้าว (step voltage)" ซึ่งเป็นความต่างศักย์ที่ตกคร่อมระหว่างจุด 2 จุดของร่างกาย
ถ้ายิ่งทั้งจุด 2 จุดนี้อยู่ห่างกันมากเท่าไร (เช่น เราก้าวเท้ายาว ยืนบนพื้น โดยที่เท้าทั้งสองแยกห่างจากกัน) โอกาสที่จะเกิดแรงดันไฟฟ้าช่วงก้าว ก็จะมากตามไปด้วย ส่งผลให้กระแสที่ไหลมาตามพื้นเข้าสู่ตัวเรามากขึ้น
ดังนั้น ถ้านั่งยองๆ เท้าชิด แรงดันไฟฟ้าช่วงก้าวก็จะน้อยกว่าเวลานอนยาว (ซึ่งมีจุดสัมผัสพื้นห่างกันตั้งแต่หัวถึงเท้า)"
ที่มา @gnuman1979 / อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์
ภาพจาก @gnuman1979