'ปชป-พปชร.' ส่อแข่งเดือด สนามเลือกซ่อมสงขลา-ชุมพร
ข่าววันนี้ จากกรณีที่องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งพิจารณาเพื่ออ่านคำวินิจฉัย กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยกรณี 5 แกนนำ กปปส. ประกอบด้วย นายชุมพล จุลใส นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ นายอิสสระ สมชัย นายถาวร เสนเนียม และ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ถูกศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำคุก คดีชุมนุมทางการเมือง ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.317/2564 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง นายชุมพล นายอิสสระ และ นายณัฏฐพล 5 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของผู้ถูกร้องทั้ง 5 สิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) และมาตรา 96 (2) หรือไม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาว่า สมาชิกภาพของทั้ง 5 สิ้นสุดลงนับตั้งแต่วันสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ คือวันที่ 7 เมษายน 2564 และให้ถือว่าตำแหน่ง ส.ส.ว่างลง มีผลตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่อ่านคำวินิจฉัย และให้ตรา พ.ร.ก.เลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างภายใน 45 วัน ในส่วนของเลือกตั้งเขต และประธานสภาผู้แทนราษฎร เลื่อนลำดับบัญชีรายชื่อ ส.ส.ที่ว่าง โดยจะต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายใน 7 วัน โดยหลังศาลรัฐธรรมนูญขี้ขาดสถานะ ส.ส. 5 อดีตแกนนำ กปปส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มี นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร เขต 1 นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา เขต 6 นายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 3 คน ส่วน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ และ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ
ส่วนของ จังหวัดชุมพร ที่ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ชุมพร เขต 1 ทดแทนนายชุมพลนั้น ปรากฏว่า มีผู้แสดงเจตจำนงในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ชุมพร อย่างคึกคัก เริ่มจาก “อิสรพงษ์ มากอำไพ” หรือ “ตาร์ท” คนหนุ่มรุ่นใหม่วัย 33 ปี หลานภรรยาของนายชุมพล จุลใส อดีต ส.ส.ชุมพร เขต 1 จบปริญญาระดับโทจากประเทศอังกฤษ เพิ่งลาออกจากเลขานุการของนายนพพร อุสิทธิ์ นายก อบจ.ชุมพร ซึ่งนายนพพรคือพี่เขยนายชุมพล
และเมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา นายอิสรพงษ์เพิ่งผ่านไพรมารีโหวตของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) สาขาชุมพร ให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยนายอิสรพงษ์เปิดเผยเพียงสั้นๆ ว่า แม้เป็นลงเลือกตั้งสนามใหญ่ครั้งแรก แต่มีความตั้งใจเต็มที่ที่จะทำหน้าที่ผู้แทนของชาวชุมพรในเขต 1 มั่นใจว่าฐานเสียงเป็นกลุ่มเดียวกับผู้ให้ความไว้วางใจและศรัทธานายชุมพลและนายนพพร ส่วนจะได้รับเลือกตั้งหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับชาวชุมพรเขต 1 จังหวัดชุมพร
พ.ต.อ.ทศพล โชติคุตร์ หรือ “กำกับหนุ่ย” ฉายาในหมู่คนรู้จักว่า “อัศวินชุมพร” นายตำรวจวัย 48 ปี อดีตผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการตำรวจนครบาล 7 นักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นปี 2544 และรัฐศาสตรมหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง อีกทั้งยังเคยได้รับการประกาศเชิดชูเกียรติให้เป็นข้าราชการตำรวจดีเด่นปี 2561 และปี 2563 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าที่ผู้สมัครจากพรรคกล้า ที่มี นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตคีย์แมนคนสำคัญที่แยกตัวออกจากพรรค ปชป.เป็นหัวหน้าพรรค และเพิ่งมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2564
พรรคต่อไปที่คาดว่าจะส่งผู้สมัครลงชิงเก้าอี้ ส.ส.ชุมพร เขต 1 ก็คือ นายชวลิต อาจหาญ หรือ “ทนายแดง” เนติบัณฑิตไทยวัย 46 ปี อดีต ส.อบต.วิสัยใต้, ส.อบจ.ชุมพร เขต อ.สวี, นายก อบต.วิสัยใต้ อ.สวี และยังเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส.ชุมพร เขต 1 ในสังกัดพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ได้รับคะแนนเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 2 รองจากนายชุมพล จุลใส จากพรรค ปชป.ทั้งที่เพิ่งลงสนามใหญ่เป็นครั้งแรก
อย่างไรก็ตาม นายชวลิตยังคงแบ่งรับแบ่งสู้ในการลงเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ชุมพร เขต 1 โดยระบุว่า ตนพร้อมเต็มที่ที่จะลงสนาม แต่ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบริหารพรรค พปชร.ว่าจะยังให้ตนลงสู้ศึกในครั้งนี้อีกหรือไม่
ก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวว่า นอกจากพรรค ปชป.และพรรค ก.แล้ว ยังมีอีก 3 พรรคการเมืองคือ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่มี นายสุรชัย แดงละอุ่น หรือ “นายกโท้ง” อดีตกำนัน ต.ปากแพรก อ.สวี เจ้าของเหรียญรางวัลกำนันยอดเยี่ยม ปี 2547 และอดีตประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านจังหวัดชุมพรในปีเดียวกัน รวมทั้งนายก อบต.สวี หลายสมัย รวมทั้งสมัยล่าสุด เพิ่งได้รับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ออกมาประกาศลงแข่งขัน แต่สุดท้ายพรรคภูมิใจไทยตัดสินใจไม่ส่งตัวแทนลงแข่งขันด้วยเหตุผลว่าเพื่อรักษามารยาททางการเมือง ทำให้ “นายกโท้ง” ต้องออกมาประกาศถอนตัวในภายหลัง
นอกจากนี้มี พรรคไทยศรีวิไลย์ (ทศล.) ที่มี นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หรือ “เต้ พระราม 7” เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งมีกระแสข่าวว่าพรรคไทยศรีวิไลย์จะส่ง ร.ต.ท.สมชาย แพ่งยงยุทธ ซึ่งโชว์ภาพยกการ์ดชกมวยเป็นภาพหาเสียง พร้อมชูนโยบาย “ถ้าอยู่ตรงข้ามลุงตู่ เราคือพวกเดียวกัน เต้ พระราม 7 ยืนข้างประชาชน ทำดี ใช้หนี้แผ่นดิน” และ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่จะส่งคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นจิตอาสาในชุมพรคนหนึ่งที่มีชื่อเล่นว่า “โอ๊ต” แต่พรรค ทศล.และพรรค ก.ก.ยังไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ณ ขณะนี้
หลังตบเท้าเปิดตัวกันอย่างต่อเนื่อง ชาวชุมพรต่างคาดการณ์ว่า ศึกเลือกตั้งซ่อมที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้คงมีการแข่งขันกันดุเดือดไม่แพ้ศึกเลือกตั้งใหญ่อย่างแน่นอน และที่ต้องติดตามกันอย่างต่อเนื่อง คือพรรค ปชป.ที่ครองที่นั่งเขต 1 มาอย่างยาวนานจะสามารถรักษาแชมป์ไว้ได้หรือไม่
ดังนั้น สายตาของคอการเมืองชุมพรจึงจับจ้องไปที่สองว่าที่ผู้สมัครของพรรค ปชป.คือ นายอิสรพงษ์ มากอำไพ หลานภรรยาของนายชุมพล และว่าที่ผู้สมัครของพรรค ก.คือ พ.ต.อ.ทศพล โชติคุตร์ อดีตนายตำรวจติดตามนายกรณ์ จาติกวณิช ว่าคงเป็นการต่อสู้ที่สมน้ำสมเนื้อกันมากที่สุด ส่วนว่าที่ผู้สมัครจากพรรค ทศล.และพรรค ก.ก.คงเป็นพรรคที่จะเข้ามาร่วมสร้างสีสันให้ศึกเลือกตั้งซ่อมที่กำลังจะเกิดขึ้นเท่านั้น
ส่วนพื้นที่ จ.สงขลา พรรคใหญ่เริ่มทยอยประกาศตัวผู้ท้าชิงอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากพรรคใหญ่เจ้าของพื้นที่เดิม พรรคประชาธิปัตย์ จัดไพรมารีโหวตเลือกตัวแทน ซึ่งมีผู้ได้รับการเสนอชื่อเพียงรายเดียว คือ “รองน้ำหอม” น.ส.สุภาพร กำเนิดผล รองนายก อบจ.สงขลา ซึ่งเป็นภรรยาของนายเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.เขต 5 สงขลา ซึ่งรองน้ำหอมได้เตรียมตัวและลงพื้นที่แนะนำตัวมาก่อนนี้ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ยังอยู่ระหว่างรอให้ผ่านพ้นวาระสำคัญ การเลือกรองหัวหน้าพรรคในเขตภาคใต้ที่จะมีขึ้นในวันที่ 18 ธันวาคมนี้ ที่มีการเสนอชื่อ 2 คู่แข่งสำคัญ ระหว่าง นายเดชอิศม์ ขาวทอง กับ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ จากนั้นจึงจะการพิจารณาและสรุปผลการส่งตัวแทนลงสมัคร ส.ส.เขต 6 สงขลา
ในด้านคู่แข่งพบว่ามีการเปิดตัวกันหลายพรรค ที่มาแรงเป็นแคนดิเดตคนสำคัญ คือ นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ ทายาทบริษัท ศรีตรัง โกลฟส์ จาก พรรคพลังประชารัฐ อยู่ระหว่างรอเปิดตัวเป็นทางการ กับคู่แข่งอีก 3 พรรค นายพงศธร สุวรรณรักษา หรือทนายอาร์ม จาก พรรคกล้า โดยนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค พร้อม พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล รองหัวหน้าพรรค ร่วมกันเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา
ท่ามกลางกระแสข่าวการเฟ้นหาบุคคลลงสมัครจาก พรรคไทยภักดี ของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม และ พรรคไทยสร้างไทย ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
ส่วนนายถาวร เสนเนียม แม้จะพ้นสภาพความเป็น ส.ส. ขณะเดียวกันก็พ้นสภาพการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ แต่ต้องยอมรับว่ายังเป็นบุคคลที่นับถือของคนในพื้นที่ มีคะแนนเสียงพร้อมเทให้คนที่นายถาวรให้การสนับสนุน แต่ภาพที่นายถาวรชูมือ น.ส.สุภาพร และนายอนุกูล ที่บ้านพัก อ.หาดใหญ่ เมื่อวันก่อน ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนว่านายถาวรจะเลือกนับสนุนใครเป็นพิเศษหรือไม่ เพราะฝั่งหนึ่ง น.ส.สุภาพร ก็เป็นภรรยาของนายเดชอิศม์ ซึ่งนายเดชอิศม์ถือว่ามีความสนิทสนมส่วนตัวกับนายถาวรมานาน สายสัมพันธ์จึงแน่นแฟ้นในระดับหนึ่ง
ขณะที่ฝั่งทายาทศรีตรังเอง นายอนันต์ พฤกษานุศักดิ์ บิดาของนายอนุกูลก็ถือเป็นคนสนิทที่มีสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับนายถาวรเช่นกัน ที่สำคัญยังเป็นฐานเสียง เป็นหัวคะแนน เป็นผู้ให้การสนับสนุนนายถาวรมาตลอด 7 สมัยของการดำรงตำแหน่ง ส.ส.
ทำให้การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ นายถาวรอาจไม่สามารถให้การสนับสนุนใครคนใดคนหนึ่งได้ ทำให้คะแนนเสียงในมือของนายถาวรอาจต้องปล่อยให้เลือกคนที่รับที่ชอบกันอย่างอิสระก็เป็นได้ ซึ่งจะส่งผลให้สนามเลือกตั้งเขตนี้มีการแข่งขันสูงระหว่าง 2 พรรคใหญ่มีการวิพากษ์วิจารณ์ วิเคราะห์กันในวงสภากาแฟว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ยังคงเป็นการแข่งขันระหว่างพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์
ส่วนพรรคกล้านั้นเป็นทางเลือกใหม่ สำหรับผู้ที่ยังคงให้การสนับสนุน พ.อ.สุชาติ รวมถึงมุ่งเน้นเลือกทีมเศรษฐกิจ และคนรุ่นใหม่จากพรรคการเมืองใหม่ ตลอดจนกลุ่มผู้ที่เบื่อการเมืองในรูปแบบเดิมๆ