ทีมนักวิจัยนาซาค้นพบดาวหางมืด (Dark Comets) หรือวัตถุระหว่างดาวฤกษ์เพิ่มเติมอีกจำนวน 7 ดวง
ทีมนักวิจัยนาซาค้นพบดาวหางมืด (Dark Comets) หรือวัตถุระหว่างดาวฤกษ์เพิ่มเติมอีกจำนวน 7 ดวง ซึ่งมีลักษณะคล้ายโอมูอามูอา (ʻOumuamua) และดาวหางอีก 6 ดวง ที่ถูกค้นพบในปี 2017 รวมทั้งหมด 14 ดวง ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้แบ่งกลุ่มดาวหางเหล่านี้ถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มที่แตกต่างกัน คือ ดาวหางมืดชั้นนอก (Outer Dark Comets) และดาวหางมืดชั้นใน (Inner Dark Comets)
โดยในงานวิจัยนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นผู้นำในการศึกษา คือ ดาร์ริล เซลิกแมน (Darryl Z. Seligman) และดาวิเด ฟาร์โนคเคีย (Davide Farnocchia) ได้ตั้งข้อสงสัยดาวหางมืด (Dark Comets) หรือวัตถุระหว่างดาวฤกษ์มีอยู่จริงหรือไม่
การศึกษาเริ่มต้นในเดือนมีนาคม 2016 โดยพุ่งเป้าไปยังเส้นทางการโคจรของดาวเคราะห์น้อย 2003 RM ซึ่งได้เคลื่อนที่ออกจากวงโคจรที่ถูกคำนวณเอาไว้เล็กน้อย ความเบี่ยงเบนดังกล่าวไม่สามารถอธิบายได้ด้วยการเร่งความเร็วตามปกติของดาวเคราะห์น้อย เช่น การเร่งความเร็วเพียงเล็กน้อยที่เรียกว่าปรากฏการณ์ยาร์คอฟสกี (Yarkovsky Effect) หรือ ปรากฏการณ์ที่เกิดจากแรงผลักที่เกิดขึ้นบนวัตถุขนาดเล็กในอวกาศซึ่งส่งผลต่อวงโคจรของวัตถุนั้น ๆ
ต่อมาในปี 2017 นาซาได้ค้นพบดาวเคราะห์น้อยโอมูอามูอา 1I/2017 U1 (Oumuamua) โดย โรเบิร์ต เวริก (Robert Weryk) นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวาย โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ Pan-STARRS1 ที่ตั้งอยู่บนภูเขาไฟฮาเลอาคาลา เกาะเมาวี โดยดาวเคราะห์น้อยโอมูอามูอาสร้างความประหลาดใจให้ชุมชนนักวิทยาศาสตร์ในขณะนั้นเป็นอย่างมาก และนับเป็นวัตถุชิ้นแรกที่มีพฤติกรรมคล้ายกับดาวเคราะห์น้อย 2003 RM ที่นักวิทยาศาสตร์ดาวิเด ฟาร์โนคเคีย (Davide Farnocchia) กำลังให้ความสนใจอยู่
ค้นพบดาวหางมืด (Dark Comets)
การค้นพบเกิดขึ้นในปี 2023 นักวิจัยได้ระบุวัตถุในระบบสุริยะ 7 ดวง ที่ถูกค้นพบใหม่นี้มีลักษณะเหมือนดาวเคราะห์น้อยแต่กลับมีพฤติกรรมดาวหาง โดยมีการปล่อยก๊าซออกจากพื้นผิวของดาว ซึ่งเป็นพฤติกรรมของดาวหางที่มักปล่อยก๊าซ น้ำแข็งที่ระเหิดกลายเป็นแก๊สเมื่อโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ทำให้นักวิทยาศาสตร์เรียกดาวหางดังกล่าวว่า ดาวหางมืด (Dark Comets)
“เรามีดาวหางมืด (Dark Comets) จำนวนมากพอที่จะเริ่มถามตัวเองได้ว่ามีอะไรที่สามารถแยกแยะดาวหางเหล่านี้ได้หรือไม่ ... โดยจากการวิเคราะห์ค่าการสะท้อนแสงหรืออัลเบโด และวงโคจร เราพบว่าระบบสุริยะของเรามีดาวหางสีดำสองประเภทที่แตกต่างกัน" ดาร์ริล เซลิกแมน (Darryl Z. Seligman) นักวิจัยหลังปริญญาเอกจากภาควิชาฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตท กล่าวเพิ่มเติม
ดาวหางมืด (Dark Comets) มี 2 ประเภท
นักวิทยาศาสตร์ผู้เขียนผลการศึกษาวิจัยระบุดาวหางกลุ่มที่ 1 เรียกว่า ดาวหางมืดชั้นนอก (Outer Dark Comets) มีลักษณะคล้ายกับดาวหางใกล้ดาวพฤหัสบดี คือ มีวงโคจรที่มีความรี สูงมาก และมีขนาดใหญ่
ส่วนดาวหางกลุ่มที่ 2 ดาวหางมืดชั้นใน (Inner Dark Comets) ซึ่งมีอยู่ในระบบสุริยะชั้นใน ได้แก่ ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก และดาวอังคาร โดยมีวงโคจรเป็นวงเกือบเป็นวงกลม และมีขนาดเล็กกว่าหลายสิบเมตร
การวิจัยของดาร์ริล เซลิกแมน (Darryl Z. Seligman) และดาวิเด ฟาร์โนคเคีย (Davide Farnocchia) ไม่เพียงแต่ขยายความรู้เกี่ยวกับดาวหางมืด (Dark Comets) เท่านั้น แต่ยังตั้งคำถามเพิ่มเติมอีกหลายข้อ เช่น ดาวหางมืดมีต้นกำเนิดมาจากที่ใด อะไรทำให้ดาวหางเคลื่อนที่ด้วยอัตราเร่งผิดปกติ ดาวหางเหล่านี้อาจมีน้ำแข็งอยู่หรือไม่
"ดาวหางมืด (Dark Comets) อาจเป็นแหล่งกำเนิดใหม่ที่มีศักยภาพในการนำพาสารที่จำเป็นต่อการพัฒนาของสิ่งมีชีวิตมายังโลก ยิ่งเราเรียนรู้เกี่ยวกับดาวหางเหล่านี้มากเท่าไร เราก็จะยิ่งเข้าใจบทบาทของดาวหางในการกำเนิดโลกของเรามากขึ้นเท่านั้น" ดาร์ริล เซลิกแมน (Darryl Z. Seligman) กล่าวเพิ่มเติม
ผลการวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences เมื่อวันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา
ที่มาของข้อมูล nasa.gov