ผลวิจัยชี้ เสียงการจราจร ทำนกคิดไม่ออก-จิ้งหรีดหาคู่ยาก
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ว่า จิ้งหรีดและนกไม่ได้เป็นศัตรูกันตามธรรมชาติ แต่สัตว์สองชนิดนี้มีศัตรูอย่างเดียวกัน นั่นคือมลพิษทางเสียงริมถนน
จากงานวิจัยสองชิ้นระบุว่า การจราจรบนท้องถนนทำให้นกอย่างน้อย 1 ชนิด มีความสามารถในการแก้ปัญหาลดลงมาก นอกจากนี้ยังทำให้ความสามารถในกับหาคู่ของจิ้งหรีดลดลงด้วย
งานวิจัยชิ้นแรกเป็นของ นายคริสโตเฟอร์ เทมเปิลตัน นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยแปซิฟิกในโอเรกอน และนักเขียนอาวุโสของงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารโพรซีดดิ้ง ออฟ เดอะ รอยัล โซไซตี้ บี ระบุว่า การได้ยินเสียงรถที่ขับผ่านไปมานั้น มากเพียงพอที่จะยับยั้งประสิทธิภาพในการรับรู้และเข้าใจของนก นอกจากนี้ยังมีหลักฐานอีกเป็นจำนวนมากที่ระบุว่า เสียงของการจราจรสามารถส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อสัตว์ โดยทำลายความสามารถในการสื่อสาร การหลบหลีกผู้ล่า และการหาคู่
ในการทดลอง นายเทมเปิลตันและเพื่อนร่วมงานทำการทดสอบนกซีบราฟินช์ด้วยภารกิจหลายรูปแบบ ทั้งในพื้นที่ที่ไม่มีเสียงรบกวน พื้นที่ที่มีเสียงการจราจรเป็นพื้นหลัง และพื้นที่กึ่งชนบทที่มีการปรากฏตัวของมนุษย์อย่างมีนัยยะสำคัญ ผลที่ได้คือนกที่อยู่ในพื้นที่ที่มีเสียงการจราจร ใช้เวลาในการนึกสถานที่ที่ซ่อนอาหาร และเอาฝากระดาษที่ปิดขนมออก นานว่านกในพื้นที่อื่นๆถึง 2 เท่า สรุปได้ว่า ผลกระทบจากการได้ยินเสียงการจราจรมากพอที่จะลดประสิทธิภาพในการทำภารกิจของนก นอกจากนี้นายเทมเปิลตันยังได้ทดสอบผลกระทบของเสียงรบกวนที่มีต่อเด็กเล็ก ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกัน
ส่วนในงานวิจัยชิ้นที่ 2 เป็นของนายอดัม เบนท์ นักวิจัยด้านสัตววิทยาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ที่เผยแพร่ในวารสารนิเวศวิทยาเชิงพฤติกรรม ระบุว่า จิ้งหรีดทั่วไปได้รับผลกระทบจากเสียงการจราจร ทั้งในด้านการหาคู่ การคัดเลือกทางเพศและกระบวนการวิวัฒนาการ
ในการทดลองนักวิจัยได้ทำการตัดปีกเพื่อไม่ให้จิ้งหรีดตัวผู้ส่งเสียงหาคู่ได้ เพื่อให้สามารถใช้เสียงจิ้งหรีดที่บันทึกไว้ก่อนหน้าทั้งในคุณภาพสูงและต่ำแทนได้ ต่อมาเมื่อจิ้งหรีดตัวผู้ที่ไม่มีเสียงปรากฎตัว ตัวเมียก็ได้ยินเสียงเรียกของตัวผู้ที่ได้บันทึกไว้ก่อนหน้านี้ทั้งในแบบคุณภาพสูงและคุณภาพต่ำ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีเสียงแตกต่างกัน 3 แบบ ได้แก่ มีเสียงที่มีความถี่สม่ำเสมอ (white noise) เสียงการจราจร และไม่มีเสียงอะไรเลย ผลที่ได้คือ จิ้งหรีดตัวเมียใช้เวลาในการเลือกคู่มากกว่าปกติถึง 2 เท่า ทั้งในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงการจราจร และเสียงที่มีความถี่สม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังทำให้อัตราความสำเร็จในการผสมพันธุ์ลดลงเหลือ 70%จากปกติ90%
นายเบนท์ระบุว่า ผลกระทบจากความสำเร็จในการผสมพันธุ์ที่ลดลง อาจส่งผลกระทบต่อการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ได้