ทำความเข้าใจ “สวีเดน” มาก่อนกาล รับรองปาเลสไตน์ เป็นชาติแรกของยุโรป
ข่าวใหญ่โลก เมื่อ 3 ชาติยุโรปตะวันตกอย่าง สเปน นอร์เวย์ และไอร์แลนด์ ร่วมกัน “ให้การรับรอง (Recognition)” สถานะการเป็นรัฐของปาเลสไตน์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ให้เหตุผลว่า “ทำเพื่อสันติภาพ”
กระนั้น บรรดาชาติที่ว่านี้ ตามหลัง “สวีเดน” อยู่นานมาก เพราะเมื่อปี 2014 สวีเดนเป็นชาติโลกตะวันตกแรกสุดที่ให้การรับรองปาเลสไตน์ เป็นนิมิตหมายที่ “ผิดวิสัย” ที่ชาติโลกตะวันตก จะให้การรับรองดินแดนอาหรับเช่นนี้ และยังเป็นการกระทำที่แตกต่างจากจุดยืนของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
คำถามที่ตามมา คือ สวีเดนทำเช่นนี้ได้อะไร? การประกาศตนเองชัดเจนว่ายืนตรงข้ามกับสหภาพยุโรปและมหาอำนาจ อาจจะนำความเสี่ยงด้านความมั่นคง เป็นเรื่องที่ควรทำหรือไม่? หรือเป็นไปได้หรือไม่ที่สวีเดนทำเช่นนี้เพื่อ “สถานภาพ” บางอย่าง?
ไวกิ้งต้องการความสนใจ
ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย หรือจะเรียกย่อ ๆ ว่า อดีต “ไวกิ้ง” แม้จะมีการพัฒนาถึงขีดสุดในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ที่แทบจะมั่นคงที่สุดในโลก มีบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่มากมาย ด้านสวัสดิการสังคมที่จัดให้ประชาชนในทุก ๆ ด้าน จนได้รับการขนานนามว่า “สวรรค์คนยาก” หรือจะเรื่องสังคม ที่การศึกษามีคุณภาพ บุคลากรทรงประสิทธิภาพ และมีอัตราการทำทุจริตน้อย
แต่ต้องไม่ลืมว่า ประเทศเหล่านี้คือ “ประเทศเล็ก (Small State)” มักเป็นที่ครหาว่า ประชากรน้อย พื้นที่น้อย เลยมีเรื่องให้ดูแลน้อย จึงบริหารจัดการได้สะดวกกว่าประเทศขนาดกลางและขนาดใหญ่ ดังนั้น ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จเชิงโครงสร้างสักเพียงไร “การยอมรับ (Recognise)” จากประเทศอื่น ๆ ย่อมเกิดขึ้นได้ยาก
ผู้สังเกตการณ์มองว่า ตรงนี้เลยเป็น “ปมในใจ (Stigma)” ของกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ว่าพวกเขามีดีเพียงปกป้องตนเอง แต่ในระดับประชาคมโลกแล้ว ไม่ค่อยแสดงออกเรื่องความมั่นคง (Security) เสียเท่าไร ด้วยกลัวว่าภัยอาจมาถึงตน และจะไม่สามารถปกป้องประเทศตนเองได้ จึงมักวางตน “เป็นกลาง” หรือ “ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” เป็นหลัก
โดยเฉพาะสวีเดน ที่ต้องการได้รับการยอมรับที่มากกว่าที่เป็นอยู่อย่างเห็นได้ชัดที่สุด สังเกตจากการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังนาโต (NATO) ที่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศต่าง ๆ อย่างสงครามในลิเบียและอัฟกานิสถาน
ทั้งที่จริงแล้ว สวีเดนไม่จำเป็นต้องทำอะไรแบบนี้ให้เสี่ยงสูญเสียประชากรที่มีอยู่น้อยนิดเป็นทุนเดิม และการจ่ายเงินไปกับกิจการทางความมั่นคงทางทหาร (Military Activism) ให้กระทบจีดีพี และให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์
ตรงนี้ สามารถอธิบายได้จากงานศึกษา Fighting for Status: Hierarchy and Conflict in World Politics เขียนโดย โจนาธาน เรนชัน (Jonathan Renshon) ที่เสนอเรื่อง “ความไม่พอใจในสถานภาพ (Status Dissatisfaction)” ว่าเป็นเรื่องปกติของรัฐ เนื่องจากการไม่ได้รับการยอมรับจากโลกการระหว่างประเทศ ทำให้รัฐหนึ่งมีความไม่มั่นคงทางอัตลักษณ์ และเมื่อเกิดความไม่มั่นคงบางอย่าง จึงอดรนทนไม่ได้ที่จะต้องดำเนินนโยบายที่แปลก ๆ เพื่อ “การแสวงหาสถานภาพ (Status-seeking)” ให้มากกว่าสิ่งที่เป็นอยู่นี้ให้จงได้
กลับมาที่สวีเดน งานศึกษา Jumping on the Bandwagon: status seeking as a driver for Sweden’s involvement in NATO-led operations? ตรงตามข้อเสนอของเรนชันมากที่สุด เพราะงานนี้เสนอว่า สวีเดนต้องการ “เกียรติยศ (Prestige)” “ชื่อเสียงปรากฎ (Reputation)” และ “การเป็นอะไรบางอย่าง (Positioned)” ในสังคมโลก จึงดำเนินนโยบายทางการทหารในการเข้าร่วมกับทุกกองกำลังของนาโต (Bandwagoning) ทั้งที่จริง ๆ ไม่ต้องมาทำอะไรแบบนี้ สวีเดนก็สามารถอยู่ต่อไปได้ จะเล่นบทเป็นกลางแบบเดียวกับที่ทำในสงครามโลกทั้งสองครั้งก็ได้ ดังนั้น จึงคิดเป็นอื่นไม่ได้เลย นอกจากที่สวีเดนต้องการสถานภาพด้านความมั่นคงให้เป็นที่ยอมรับ
และแน่นอน สวีเดนไม่ได้ส่งเพียงทหารราบและจากการเกณฑ์พลเรือนธรรมดา ๆ แต่ยังได้ส่งเครื่องบินขับไล่เข้าร่วมประจำการการแทรกแซงน่านฟ้า ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรป้องกันประเทศที่มีน้อยนิด มาร่วมกับนาโต ประหนึ่งการทุบหม้อข้าวออกรบ
ดังจะเห็นได้จาก คำกล่าวของ เฟรดิก ไรน์เฟลด์ท (Fredrik Reinfeldt) อดีตนายกรัฐมนตรีช่วงปี 2006 - 2014 ความว่า “การเข้าร่วมกับนาโตจะทำให้ความไว้วางใจของเราต่อนานาประเทศเพิ่มสูงขึ้น เราจะได้รับสิทธิประโยชน์จากชาติสมาชิกอย่างมากมายจากการเข้าร่วมในครั้งนี้”
การแสวงหาสถานภาพนี้ ได้เป็นแนวทางในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสวีเดน จนเกิดการยอมรับสถานะรัฐของปาเลสไตน์เลยทีเดียว
ทำไมต้องปาเลสไตน์
เมื่อสวีเดนสามารถวางจุดยืนของตนเองได้ว่าต้องการอะไรเพื่อที่จะทำให้สถานภาพที่อยากเป็นของตนนั้นบรรลุผล ดังนั้น ในกระบวนการตัดสินใจกำหนดนโยบายต่างประเทศในยุคต่อ ๆ มา จึงวางอยู่บนฐานที่ว่า สวีเดนต้องการทำอะไรที่ดูจะขัดหลักความเป็นเหตุเป็นผลทั้งสิ้น
หนึ่งในนั้น คือการให้การรับรองสถานะรัฐของปาเลสไตน์ ซึ่งถือกันตามตรงว่า สวีเดนทำเช่นนี้เป็นการแหกกรอบสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ประหนึ่ง “ตบหน้าฉาดใหญ่”
โลกตะวันตกนั้น ส่วนใหญ่แล้วให้การรับรองอิสราเอลเป็นหลัก และเป็นผู้เข้าร่วมสำคัญในการเข้าแทรกแซงกิจการภายในของดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ในการเป็นแบ็คอัพให้อิสราเอล “คานอำนาจ” กับบรรดาประเทศโลกอาหรับ ดังนั้น การกระทำของสวีเดน สหภาพยุโรปและสหรัฐฯจะต้องตั้งแง่อย่างแน่นอน
ในงานศึกษา States Recognition in Foreign Policy: The Case of Sweden's Recognition of Palestine ได้ชี้ชัดว่า สวีเดนมีความชัดเจนในการที่จะรับรองปาเลสไตน์ มาร์ก็อต วอลล์สตร็อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหญิงแกร่ง ณ ตอนนั้น ได้ออกแคมเปญ “Active Foreign Policy” โดยมีการรับรองปาเลสไตน์บรรจุอยู่ในนั้น สิ่งนี้ไม่ได้เป็นการลูบคมมหาอำนาจตะวันตก แต่สวีเดนต้องการ “เป็นอิสระ” ในเรื่องของการต่างประเทศก็ยังดี
ตรงนี้ จึงเกิดคำถามตามมาอีกว่า สหภาพยุโรปและหชสหรัฐฯ “ยอมง่าย ๆ” ไม่มีมาตรการบีบบังคับสวีเดนได้อย่างไร?
ในงานศึกษา Swedish recognition of Palestine: politics, law, and prospects for peace ได้เคลียร์คำตอบตรงนี้ว่า ต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือในส่วนของสหภาพยุโรป คุยง่ายกว่ามาก เพราะแม้จะเป็นองค์กรเหนือรัฐ แต่การตัดสินใจต่าง ๆ ก็ยังต้องมาจากรัฐชาติสมาชิกอยู่วันยังค่ำ มีบางเรื่องจริง ๆ ที่สหภาพยุโรปสามารถชี้นิ้วสั่งการรัฐชาติสมาชิกได้ อาทิ การปรับขึ้น-ลดค่าเงินยูโร หรือการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเล็ก ๆ น้อย ๆ ดังนั้น สวีเดนจะรับรองปาเลสไตน์ อย่างมากที่สุดคือ “ไม่พอใจ” นอกนั้นต้องเคารพการตัดสินใจของรัฐชาติสมาชิก
ส่วนปัญหาของสหรัฐฯ แน่นอนว่าคล้าย ๆ กับสหภาพยุโรป เพราะมหาอำนาจรายนี้ถือหลักการ “ไม่แทรกแซง (Non-intervention)” กับพันธมิตรทางการระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ การที่สหภาพยุโรปเป็นตลาดนำเข้าและส่งออกที่ “ได้ดุล” กับสหรัฐฯ มากที่สุด โดยมีมูลค่ารวมถึง 1.2 พันล้านยูโร และสหภาพยุโรปมีการลงทุนโดยตรงในสหรัฐฯ เป็นจำนวน 10 เท่าเมื่อเทียบกับการลงทุนจากทั้งโลก หมายความว่า หากสหรัฐฯ ผลีผลามทำอะไรกับสวีเดน ย่อมส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปแน่ ๆ
แต่ปัญหาตามมาหลังจากนั้น เพราะในการให้การรับรองปาเลสไตน์นี้ โทเบียส บิลล์สตร็อม (Tobias Billström) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ณ ปัจจุบัน ออกมาเห็นแย้งอย่างรุนแรงว่า การที่สวีเดนทำแบบนี้ เป็นการ “ชิงสุกก่อนห่ามและช่วยไม่ได้” เป็นอย่างยิ่ง นั่นหมายความว่า การให้การรับรองในปี 2014 เป็นเรื่องของการตัดสินใจทางนโยบายของรัฐบาล ณ ตอนนั้น ที่มีอุดมการณ์แบบ “Woke” เน้น Radical โดยที่ไม่ได้สนใจบริบทอะไรมากมาย
แต่เมื่อให้การรับรองไปแล้ว ย่อมไม่สามารถที่จะคืนคำได้
และการเป็นผู้เริ่มต้นของสวีเดน ก็ได้ทำให้อีกทั้ง 3 ชาติในยุโรปตะวันตกให้การรับรองตามมาภายหลัง ซึ่งจริง ๆ แล้ว สวีเดนก็อาจจะไม่ได้ต้องการให้เป็นแบบนี้ก็เป็นได้
Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ Fighting for Status: Hierarchy and Conflict in World Politics
บทความ Jumping on the Bandwagon: status seeking as a driver for Sweden’s involvement in NATO-led operations?
บทความ Swedish recognition of Palestine: politics, law, and prospects for peace
บทความ States Recognition in Foreign Policy: The Case of Sweden's Recognition of Palestine
ภาคนิพนธ์ Statehood and Recognition: the Case of Palestine