กรมวิทยาศาสตร์ฯย้ำ! ชุดตรวจเอทีเค ต่างจากแอนติบอดี้ ยันเจาะเลือดหาเชื้อโควิดไม่ได้
เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการใช้ชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (Antigen test kit : ATK) ว่า ชุดตรวจเทสต์ คิท จะเป็นชุดตรวจอย่างง่าย แต่ไม่ได้มีแค่ตรวจหาแอนติเจนอย่างเดียว แต่ยังมีแอนติบอดี้ เทสต์ คิท (Antibody test kit) เป็นการเจาะเลือดปลายนิ้ว หรือท้องแขน ซึ่งจะเป็นคนละอย่างกัน เนื่องจากตรวจหาแอนติบอดี้จะเป็นการตรวจหาภูมิต้านทาน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เราจะเอามาใช้ เนื่องจากกว่าภูมิฯจะขึ้นต้องใช้เวลานานราว 10 วันถึง 3 สัปดาห์ รวมถึงขณะนี้มีประชากรได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วประมาณ 14 ล้านคน และยังมีผู้ที่ติดเชื้อและภูมิฯเกิดตามธรรมชาติอีก 2-3 แสนคน ดังนั้น หากเอาชุดตรวจแอนติบอดี้มาตรวจก็จะพบภูมิฯในร่างกายก็จะให้ผลเป็นบวก ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่ามีการติดเชื้อหรือไม่
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ขอย้ำว่าชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 ต้องเป็นแอนติเจน เทสต์ คิท เพื่อหาองค์ประกอบของไวรัส ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ ประชาชนก็สามารถติดต่อซื้อได้จากร้านขายยาที่มีเภสัชกรดูแล โดยเรายังไม่อนุญาตให้เอาไปขายในตลาดนัด ร้านสะดวกซื้อ หรือการซื้อออนไลน์ ก็จะถือว่าผิดกฎหมาย เพราะเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ได้รับการควบคุม โดยการขายในร้านยาที่มีเภสัชกรก็เพื่อให้มีคำแนะนำถูกต้อง
“จุดเริ่มต้นหากไม่มีความเสี่ยงอะไรก็ไม่จำเป็นต้องตรวจ แต่หากเป็นผู้ที่มีโอกาสต้องไปสัมผัสผู้คน มีโอกาสติดเชื้อก็สามารถซื้อมาตรวจได้ ทั้งนี้ ประชาชนที่ซื้อมาตรวจเองจะมี 2 ทางคือ 1.ซื้อจากร้านขายยา 2.ร้องขอไปยังคลินิกชุมชนอบอุ่นในโครงการ หรือคลินิกใกล้บ้านที่ได้รับการประสานงานให้ประชาชนสามารถเข้ารับชุดตรวจ ATK ได้ตามเหตุผลที่จะต้องตรวจ” นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.ศุภกิจกล่าวต่อว่า หากนำมาตรวจแล้วให้ผลลบ จะแปลความได้ว่า 1.ไม่ติดเชื้ออะไรเลย 2.ติดเชื้อแต่ปริมาณน้อย หรือตรวจเร็วเกินไป เชื้อไม่มากพอที่จะทำให้ชุดตรวจขึ้นผลบวก ดังนั้น หากผู้ที่ไม่มีความเสี่ยงแต่ตรวจเพื่อความสบายใจ ก็สังเกตอาการ ป้องกันตัวเองตามมาตรการ ส่วนกรณีที่มีความเสี่ยง แต่ตรวจครั้งแรกให้ผลลบ ก็ตรวจซ้ำได้ใน 3-5 วัน หรือตรวจซื้อเมื่อมีอาการป่วย โดยระหว่างรอตรวจซ้ำก็ให้เข้มงวดมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด
ส่วนกรณีให้ผลบวก จะต้องเข้ามาสู่ระบบ สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ขยายไปถึงคลินิกชุมขนอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุขที่มีกว่า 100 แห่งใกล้บ้าน นำชุดตรวจที่ให้ผลบวก เข้ารับคำปรึกษาจากหน่วยบริการดังกล่าว ซึ่งจะมีการตรวจซ้ำในกรณีที่ผลบวกกำกวม หรือชุดตรวจไม่ได้มาตรฐาน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของหน่วยบริการ อย่างไรก็ตาม หากผลบวกแล้ว แต่ไม่มีอาการ แข็งแรงดี ก็จะให้ทำมาตรการแยกกักที่บ้าน (Home Isolation : HI) เข้าระบบและรับอุปกรณ์ดูแลตัวเอง เช่น เครื่องวัดไข้ วัดออกซิเจน มีแพทย์ติดตามอาการเป็นระยะ หรืออาจส่งต่อไปที่ศูนย์พักคอยแยกกักในชุมชน (Community Isolation : CI) แต่ในกรณีนี้จะมีการตรวจด้วยวิธี RT-PCR ซ้ำอีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าติดเชื้อจริง เพราะหากการตรวจด้วย ATK ให้ผลบวกลวง คือ ไม่ได้ติดเชื้อจริง
ดังนั้น การที่นำไปรวมกับคนอื่นที่ติดเชื้อก็จะเป็นการไปรับเชื้อใหม่แทน ขณะเดียวกัน หากกรณีผู้ติดเชื้อแล้วมีอาการ กลุ่มป่วยสีเหลืองหรือแดง จะต้องเข้าสู่การรักษาในโรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลสนาม ดำเนินตามกระบวนการทางการแพทย์ ด้วยการตรวจ RT-PCR ซ้ำอีกครั้ง หากให้ผลลบ ก็แสดงว่าไม่ได้มีการติดเชื้อ แต่อาจจะป่วยด้วยสาเหตุอื่น
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท ที่จะนำมาใช้กับประชาชน ขณะนี้บริษัทผู้นำเข้าชุดตรวจ ATK ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) 26 บริษัท กำลังปรับจากสำหรับการใช้โดยบุคลากรแพทย์เท่านั้น มาเป็นการใช้สำหรับประชาชน เพื่อให้เหมาะสมกับการนำไปใช้ตรวจเอง ด้วยวิธีการเก็บเชื้อจากโพรงจมูก ตรวจจากน้ำลาย ขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลา เข้าใจว่าผู้ประกอบกำลังรีบดำเนินการอยู่ แต่ขออย่าไปซื้อในออนไลน์ บางที่เห็นขายกล่องละเป็นหมื่นบาท แพงเกินไป จึงขอความกรุณาประชาชนใช้เวลารอชุดตรวจที่ถูกต้อง และเราไม่ได้อนุญาตขายออนไลน์ ดังนั้นหากพบเห็นให้แจ้งกับอย.ได้ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ขอเน้นย้ำว่า การตรวจหาเชื้อที่อาจให้ผลลบปลอม หมายถึง มีการติดเชื้อแต่ชุดตรวจให้ผลลบ สาเหตุ 1.เกิดได้จากช่วงแรกของการติดเชื้อไวรัสเพิ่มจำนวนไม่มากพอจึงตรวจไม่พบ 2.เวลาเก็บสาคัดหลั่ง ผู้ตรวจแยงไม้ไม่ถึงโพรงจมูก เพราะอาจกลัวเจ็บ ก็จะไม่ได้สารคัดหลั่งที่มีองค์ประกอบหรือเซลล์ของไวรัสติดออกมาด้วย ฉะนั้น ก็จะตรวจไม่พบ หรืออาจทำขั้นตอนบางอย่างผิด เช่น อ่านผลช้าหรือเร็วเกินไป น้ำยาก็อาจทำปฏิกิริยากับสารคัดหลั่งไม่มากพอ
“ดังนั้นเมื่อเป็นผลลบ อย่าเพิ่งคิดว่าตัวเองไม่ติดเชื้อ แต่เราต้องวางมาตรการป้องกันโรคและตรวจหาเชื้อซ้ำในครั้งต่อไป” นพ.ศุจภิจกล่าว