รีเซต

วันพุธ มาดูภาพดาวพุธจากยาน เบปีโคลอมโบ

วันพุธ มาดูภาพดาวพุธจากยาน เบปีโคลอมโบ
มติชน
6 ตุลาคม 2564 ( 15:14 )
65
วันพุธ มาดูภาพดาวพุธจากยาน เบปีโคลอมโบ

วันที่ 6 ตุลาคม เฟชบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โดย พิสิฏฐ นิธิยานันท์ – เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.ได้เผยแพร่ บทความ และภาพ ดาวพุธ ของจริงจาก  ยานเบปีโคลอมโบ ที่เพิ่งเฉียดผ่านดาวพุธครั้งแรก โดยระบุว่า

 

 

วันนี้วันพุธ มาชมภาพ #ดาวพุธ ของจริงจาก #ยานเบปีโคลอมโบ ที่เพิ่งเฉียดผ่านดาวพุธครั้งแรก
ยานเบปีโคลอมโบ (BepiColombo) ยานสำรวจดาวพุธที่พัฒนาร่วมกันระหว่างองค์การอวกาศยุโรป (ESA) กับองค์การวิจัยและพัฒนาการสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ได้เฉียดใกล้ดาวพุธครั้งแรก ในวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เวลา 6:34 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ด้วยระยะที่ใกล้ที่สุดที่ 200 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวดาวพุธ และเริ่มถ่ายภาพในเวลา 6:44 น.

 

 

ก่อนส่งข้อมูลถ่ายภาพดาวพุธกลับมา นับเป็นภาพถ่ายดาวพุธจากระยะใกล้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ยานเมสเซนเจอร์สิ้นสุดภารกิจลงด้วยการพุ่งชนดาวพุธในปี พ.ศ. 2558

 

 

หลังจากนี้ เบปีโคลอมโบจะโคจรรอบดวงอาทิตย์และเฉียดใกล้ดาวพุธอีก 5 ครั้ง อาศัยความโน้มถ่วงของดาวพุธปรับวีถีโคจรและอัตราเร็วของยานเพื่อให้ไล่ทันดาวพุธ (แต่การเฉียดผ่านดาวพุธทั้ง 5 ครั้งถัดมาไม่มีครั้งใดที่จะใกล้ดาวพุธเท่าครั้งนี้) ก่อนที่ยานลำนี้จะเข้าสู่วงโคจรรอบดาวพุธในปลายปี พ.ศ. 2568

 

 

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการเฉียดใกล้ดาวพุธครั้งนี้ ยานเบปีโคลอมโบไม่สามารถใช้อุปกรณ์บนยานทั้งหมด เนื่องจากยานถูกออกแบบมาให้เป็นยาน 2 ลำประกอบอยู่ด้วยกัน ได้แก่ ยาน MPO (Mercury Planetary Orbiter) ของ ESA กับยาน MMO (Mercury Magnetospheric Orbiter) ของ JAXA โดยยานทั้งสองส่วนที่ยึดติดกันกับโมดูลสำหรับส่งยานโคจรรอบดาวพุธ (Mercury Tranfer Module) ทำให้อุปกรณ์บางส่วน เช่น กล้องถ่ายภาพความละเอียดสูงยังไม่สามารถใช้งานได้ ต้องรอให้ยานเข้าวงโคจรรอบดาวพุธแล้วแยกตัวออกจากกันก่อน จึงจะสามารถทำงานได้เต็มรูปแบบ

 

 

สำหรับอุปกรณ์ที่สามารถใช้เก็บข้อมูลได้ระหว่างที่ยานเฉียดใกล้ดาวพุธ คือ อุปกรณ์ตรวจวัดสภาพแวดล้อมในอวกาศ และกล้องถ่ายภาพเซลฟีขาวดำ ความละเอียด 1,024 x 1,024 พิกเซล ซึ่งแต่เดิมมีจุดประสงค์ใช้ถ่ายภาพเพื่อตรวจสอบการกางปีกแผงเซลล์สุริยะของยานหลังส่งยานขึ้นสู่อวกาศในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561

 


กล้องถ่ายภาพเซลฟีตัวยานแบบขาวดำตัวนี้เคยใช้ถ่ายภาพดาวศุกร์ระหว่างที่ยานเฉียดใกล้ดาวศุกร์เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 และเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 แต่เนื่องจากสภาพบรรยากาศของดาวศุกร์ที่สะท้อนแสงได้ดี ทำให้ภาพดาวศุกร์สว่างจ้าเกินไปจนไม่สามารถเห็นรายละเอียดที่ปรากฏบนบรรยากาศดาวศุกร์ได้

 

 

แต่ภาพถ่ายดาวพุธที่ยานเบปีโคลอมโบถ่ายได้ในครั้งนี้ สามารถเห็นรายละเอียดทางภูมิประเทศต่าง ๆ บนพื้นผิวบริเวณซีกเหนือของดาวพุธ เนื่องจากพื้นผิวดาวพุธมีสีเข้มกว่า และสะท้อนแสงอาทิตย์ได้น้อยกว่าบรรยากาศของดาวศุกร์ ทำให้ภาพของดาวพุธไม่สว่างจ้าเกินไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง