รีเซต

สหรัฐ-สหประชาชาติ จี้บังกลาเทศสอบฆ่าโหดผู้นำโรฮีนจาคาค่ายผู้อพยพ

สหรัฐ-สหประชาชาติ จี้บังกลาเทศสอบฆ่าโหดผู้นำโรฮีนจาคาค่ายผู้อพยพ
มติชน
1 ตุลาคม 2564 ( 15:43 )
56

 

เอพีรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ทางการสหรัฐอเมริกาและองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) รวมถึง องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน พากันเรียกร้องตรงกันต่อทางการบังกลาเทศ ให้ดำเนินการสอบสวนอย่างเต็มรูปแบบต่อการสังหารโหด นาย โมหิบุลเลาะห์ ผู้นำชาวโรฮีนจา ถึงสำนักงานในค่ายผู้ลี้ภัยคูตูปาลอง ในเมืองอูคหิยา เขตคอกซ์บาซาร์ ประเทศบังกลาเทศเมื่อคืนวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา โดยยังไม่มีกลุ่มไหนออกมาอ้างความรับผิดชอบ

 

นายโมหิบุลเลาะห์ วัย 40 ปีเศษ เป็นประธาน สมาคมโรฮีนจาอาระกันเพื่อสันติภาพและสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นการรวมตัวกันขึ้นเพื่อเรียกร้องให้มีการส่งตัวชาวโรฮีนจาในค่ายอพยพกลับไปยังถิ่นที่อยู่เดิมในประเทศเมียนมา

 

เพื่อนร่วมงานในสมาคมฯเปิดเผยว่า นายโมหิบุลเลาะห์ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมและอุกอาจภายในสำนักงานของสมาคมฯ ต่อหน้าต่อตาผู้เห็นเหตุการณ์หลายคน โมฮัมเหม็ด ชาริฟ วัย 60 ปีซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานของ โมหิบุลเลาะห์ เล่าว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก กระทั่งกว่าจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไรคนร้ายก็หลบหนีไปหมดแล้ว

 

“จู่ๆ คนกลุ่มหนึ่งราว 8-10 คนก็เข้ามาในสำนักงาน 3 คนในจำนวนนั้นตรงเข้าล้อมนายโมหิบุลเลาะห์จาก 3 ทาง ส่วนที่เหลือทำหน้าที่ควบคุมคนอื่นๆ ในสำนักงานซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคนสูงอายุทั้งสิ้น จากนั้นคนหนึ่งก็จ่อปืนเข้าไปตรงหว่างคิ้วของนายโมหิบุลเลาห์ อีกคนจ่อตรงหน้าอก คนสุดท้ายเล็งเข้าที่แขน แล้วลั่นกระสุนออกมาพร้อมๆ กัน ก่อนที่จะยิงขึ้นฟ้าเป็นการขู่อีก 2 นัดแล้วหลบหนีไปอย่างลอยนวล” นายชาริฟ ระบุ

 

ในขณะที่นายเซยิด อลาม ผู้เป็นลุงของนายโมหิบุลเลาะห์ ยอมรับว่ายังตกตะลึงกับเหตุการณ์อยู่จนถึงขณะนี้ “ตอนนี้พวกเรา เหล่าโรฮีนจาอยู่ในสภาพเหมือนวัวเหมือนควาย พร้อมที่จะถูกเชือดทิ้งเมื่อไหร่ก็ได้” นายเซยิด กล่าว

 

นายแอนโธนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า สหรัฐอเมริกาเศร้าสลดใจมากกับการฆาตกรรมครั้งนี้ โดยยกย่องโมหิบุลเลาะห์ว่าเป็นคนกล้าหาญ เด็ดเดี่ยวในการเป็นปากเป็นเสียงแทนชาวโรฮีนจาทั้งหมด

 

“เราเรียกร้องให้มีการสืบสวนสอบสวนกรณีนี้อย่างเต็มที่และโปร่งใส ด้วยเป้าหมายนำเอาตัวผู้รับผิดชอบในอาชญากรรมโหดเหี้ยมครั้งนี้มารับโทษให้ได้” นายบลิงเคนระบุ ทั้งนี้ นาย โมหิบุลเลาะห์ เคยทำหน้าที่เป็นตัวแทนชาวโรฮีนจา เดินทางไปร่วมประชุมว่าด้วยเสรีภาพทางศาสนา เมื่อปี 2019 ที่ทำเนียบขาวมาแล้วอีกด้วย

 

ด้านสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ออกแถลงการณ์ประณามการสังหารครั้งนี้ รวมทั้งแสดงอาการช็อกและแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของนายโมหิบุลเลาะห์และชุมชนผู้ลี้ภัยโรฮีนจาทั้งหมด โดยเรียกร้องให้รัฐบาลบังกลาเทศให้ความคุ้มครองต่อผู้อพยพชาวโรฮีนจาให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้

 

ทั้งนี้ ครอบครัวนายโมหิบุลเลาะห์ได้ประกอบพิธีฝังศพขึ้นเมื่อวันที่ 30 กันยายนนี้เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของศาสนาอิสลาม ท่ามกลางชาวโรฮีนจาอพยพหลายหมื่นคนร่วมในพิธี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง