รีเซต

วิเคราะห์เศรษฐกิจไทยติดลบหนัก อุบลฯไม่กระทบมาก แนะออมเงินสด กระจายลงทุน หวั่นการเมืองป่วน

วิเคราะห์เศรษฐกิจไทยติดลบหนัก อุบลฯไม่กระทบมาก แนะออมเงินสด กระจายลงทุน หวั่นการเมืองป่วน
77ข่าวเด็ด
12 กรกฎาคม 2563 ( 22:46 )
60
วิเคราะห์เศรษฐกิจไทยติดลบหนัก อุบลฯไม่กระทบมาก แนะออมเงินสด กระจายลงทุน หวั่นการเมืองป่วน

อุบลราชธานี – นักวิชาการอิสระท้องถิ่นวิเคราะห์ เศรษฐกิจไทยหลัง 4 กุมารลาออก เศรษฐกิจไทยติดลบหนัก จนกระจาย คนรุ่นใหม่กลับบ้านทำเกษตร หวั่นเป็นเหตุการเมืองป่วน

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐอย่างเป็นทางการ ซึ่งจากประเด็นนี้เองทำให้ประชาชนหลายคนสนใจและเริ่มคาดการณ์การเมืองไทยต่างๆนานาว่าจะมีทิศทางและเปลี่ยนแปลงอย่างไร

นายนพพร พันธุ์เพ็ง นักวิชาการอิสระภาคประชาสังคมและประธานมูลนิธิสื่อสร้างสุข ได้วิเคราะห์ว่า เมื่อ 4 กุมารลาออกจากพรรคพลังประชารัฐแล้วอาจยังไม่ส่งผลกระทบมากนักในระยะสั้นเพราะยังคงเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล แต่จะทำให้พรรคพลังประชารัฐนั้นกดดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง เพราะขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการระบาดของเชื้อโควิด19 เศรษฐกิจกำลังถดถอย หากมีการเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีอาจทำให้ความมั่นใจของนักลงทุนในประเทศและต่างชาติคลอนแคลนได้ ซึ่งส่วนตัวมองว่าท้ายสุดแล้วคณะรัฐมนตรีอนาคตอาจมีการปรับเปลี่ยนแน่นอน

นายนพพร พันธุ์เพ็ง ให้เหตุผลที่ 4 กุมารต้องลาออก เพราะพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคการเมืองที่รวบรวมนักการเมืองหลากหลายกลุ่ม มีทั้งนักการเมืองอาชีพและเทคโนแครตซึ่งที่มาและมีเป้าหมายทางการเมืองที่ต่างกัน ซึ่งก่อนหน้านี้เคยสร้างแรงกดดันให้4กุมารลาออกมาก่อน แต่เกิดโควิด-19ระบาดเสียก่อนเรื่องจึงสงบไป หลังคลายล็อคดาวน์และพรบ.งบประมาณผ่านรัฐสภา กลุ่มการเมืองจึงต้องกลับมาออกแรงกดดันอีกครั้ง จนส่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในพรรคจนนำไปสู่การลาออกของ 4 กุมาร เข้าตำรา “เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล ” ผลกระทบที่จะตามมาหลังจากนี้ในเชิงการเมืองอาจมีการโยกย้ายปรับเปลี่ยนและมีการจัดสลับสับเปลี่ยนโควต้ารัฐมนตรีทั้งของพรรคการเมืองและโควต้ากลางของนายกรัฐมนตรีใหม่อีกครั้ง

นายนพพร พันธุ์เพ็ง กล่าวว่าในส่วนตัวมองว่าทีมเศรษฐกิจน่าจะยังคงเป็นทีมเดิม เพราะหากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ในยุคจะหาคนเหมาะสมได้น้อยมาก เพราะต้องเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายในระนาบเดียวกับดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
ทั้งนี้ก็มีอยู่ 3 คนที่มีคุณสมบัติเพียงพอคือ 1)นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล 2)นายศุภชัย พานิชภักดิ์ 3)นายกรณ์ จาติกวณิช
อย่างไรแล้ว ถึงจะเปลี่ยนบุคคลแต่ทิศทางการแก้ไขปัญหาก็ยังคล้ายเดิม เพราะหากเปรียบประเทศเป็นลูกโป่งที่กำลังแฟบการแก้ไขปัญหาคือการปล่อยลมเข้าไป ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจก็เหมือนกันเช่นนี้ทั่วโลก
นั่นคือรัฐบาลต้องรีบอัดฉีดเงินเข้าระบบให้มากที่สุด โดยนายนพพรให้ข้อคิดว่า การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจะต้องคำนึงอยู่5หลักคือ
1.ต้องใช้เงินมากพอในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
2.ต้องกระตุ้นให้ตรงจุดเป้าหมายว่าต้องการช่วยกลุ่มใด
3.ต้องรวดเร็วแต่มีประสิทธิภาพ
4.ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้
5.ต้องเป็นมาตรการชั่วคราวเท่านั้น

ส่วนผลกระทบเชิงเศรษฐกิจมีหลายสถาบันทั้งในและต่างประเทศวิเคราะห์ในทิศทางเดียวกันคืออัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2563 ล้วนติดลบ ยกตัวอย่างธนาคารไทยพาณิชย์ประเมินว่าจากการเปรียบเทียบปี 2562 กับปี 2563 อัตราการเจริญเติบโตของประเทศไทยติดลบหนักสูงสุด 7.3% แต่ส่วนตัวมองว่าประเทศไทยเราอาจจะติดลบมากกว่า 7.3% เพราะจากเดิมปี 2562 ประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตเป็นบวก 3% ซึ่งเมื่อนับการยอดติดลบทั้งหมดตามความจริงประเทศไทยรายได้จะติดลบทั้งหมดรวม 10%

อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 กับวิกฤตโรคระบาดโควิด19 ปี 2563 นั้นแตกต่างกันสิ้นเชิงเพราะวิกฤตปี 2540 ส่งผลกระทบเฉพาะคนรวยและธุรกิจขนาดใหญ่ แต่โควิด19ส่งผลกระทบต่อคนทุกระดับและทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก ซึ่งเป็นรายได้หลักเกือบ 70%ของประเทศไทยลดลง หากยังปล่อยให้ระบบเศรษฐกิจหดตัวต่อไปในระยะยาว อาจส่งผลต่อภาคธุรกิจผู้ประกอบการแบกรับการขาดทุนไม่ไหว ทำให้ต้องเลิกจ้างงานเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ประเทศไทยจะเกิดภาวะว่างงานประชากรจำนวนมากว่า 8 ล้านคนต้องตกงาน

นอกจากนั้นหลังวิกฤตโรคระบาดโควิด19 ประเทศไทยจะมีอัตราคนจนเพิ่มขึ้นและคนชนชั้นกลางจะเปลี่ยนสถานะเป็นสถานะคนยากจน หนี้สินครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นมาก
แต่ทั้งนี้หากไม่มองในทางวิชาการเศรษฐศาสตร์ นายนพพรเชื่อว่าคนไทยในกลุ่มคนยากจนจะอยู่รอดได้โดยมีรายได้ที่ไม่สามารถระบุเป็นรายได้ได้ยกตัวอย่าง การถูกหวย,การพนัน,ค้ายาเสพติด เป็นต้น ซึ่งรายได้ส่วนนี้เป็นเม็ดเงินสะพัดมหาศาลที่ไม่สามารถระบุได้โดยเงินเหล่านี้จะเป็นตัวหล่อเลี้ยงประชาชนและเศรษฐกิจ ภาษาทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “Income in – Kind”

ในขณะเดียวกันถ้ามองเฉพาะภาพรวมของจังหวัดอุบลราชธานีจะเป็นจังหวัดที่ไม่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจมากนัก เพราะรายได้หลักของจังหวัดอุบลราชธานีไม่ได้มาจากภาคท่องเที่ยวและภาคส่งออก แต่การปิดพรมแดนก็ส่งกระทบผู้ประกอบการบางส่วนที่ใช้ด่านพรมแดนทำการค้าระหว่างประเทศกับ สปป.ลาว ซึ่งการขนส่งสินค้าให้กับประเทศเพื่อนบ้านขณะนี้ยังไม่สามารถทำได้

นอกจากนี้พบว่ามีกระแสคนต่างจังหวัดที่อาศัยอยู่เมืองหลวงได้กลับสู่บ้านเกิด หันทำอาชีพเกษตรหรือธุรกิจในท้องถิ่น เกิดปรากฎการณ์โฮมสเตย์,ร้านกาแฟริมนา และเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจากตรงนี้จะเห็นได้ว่าคนรุ่นใหม่ได้นำอาชีพของบรรพบุรุษกลับมาปรับปรุงและบริหารใหม่อีกครั้งเกิดเป็นผลกระทบเชิงบวกแบบ New Normal

ส่วนคำแนะนำสำหรับทุกคนต้องเรียนรู้การออมเงิน New Normal ปรับลักษณะการออมใหม่ให้เป็นออมก่อนแล้วจึงนำที่เหลือเงินไปใช้จ่าย ซึ่งด้านภาคธุรกิจต้องรักษาเงินสดไว้ให้มากที่สุด เปลี่ยนสินทรัพย์ให้เป็นทุนและในภาวะเสี่ยงเช่นนี้ แนวทางการลงทุนต้องทำในลักษณะแบบกระจาย ห้ามลงทุนเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง

นายนพพร พันธุ์เพ็ง นักวิชาการอิสระภาคประชาสังคมได้แสดงกังวลใจว่าหากรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้ เศรษฐกิจยังตกต่ำอย่างเนื่อง ตนเกรงว่าอนาคตปัญหาด้านสังคมและอาชญากรรมจะเกิดตามมา แล้วที่สำคัญในกลุ่มนักการเมืองฝั่งตรงข้ามจะใช้จุดอ่อนนี้เล่นงานเป็นตัวก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับรัฐบาลชุดนี้

ท้ายนี้ นพพร พันธุ์เพ็ง กล่าวทิ้งท้ายว่า วัฏจักรเศรษฐกิจจะมีฟื้นฟู รุ่งเรือง ถดถอย ตกต่ำ เป็นเรื่องปกติสิ่งที่เกิดภายในวันนี้ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ถาวรทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนไปตามสภาวะ เหตุการณ์ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจก็เช่นลูกบอล เมื่อถึงระยะหนึ่งเปรียบเสมือนลูกบอลตกสู่พื้นท้ายสุดลูกบอลจะเด้งขึ้นมาด้วยตัวของมันเองโดยไม่ต้องอาศัยสิ่งใดช่วย แต่มาตรการของรัฐบาลที่เหมาะสมจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และทุกคน ทุกฝ่ายต้องออกแรงช่วยกัน ประเทศไทยจึงรอดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้ไปได้ เหมือนกับที่เคยรอดพ้นจากวิกฤต”ต้มยำกุ้ง”ในอดีต

ชิษณุพงศ์ สุนทรพาณิชย์ เรียบเรียง

นพพร พันธุ์เพ็ง บรรณาธิการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง